อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (IoT) มีส่วนช่วยให้ธุรกิจปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานได้ดีขึ้น แต่ส่วนสำคัญก็ต้องปรับพนักงานเพื่อให้สอดรับกับองค์กรด้วยเช่นกัน 

ทำไมจำเป็นต้องเพิ่มทักษะและความสามารถพิเศษให้กับบุคลากรในประเทศไทย

ด้วยการประเทศไทยกําลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็น “Thailand 4.0” โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยผลการสํารวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2559 ผู้ทํางานด้านเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารหรือ ICT มีจํานวนทั้งสิ้น 374,934 คน แต่พบว่ามีเพียงร้อยละ 45.6 ที่สําเร็จการศึกษาด้าน ICT โดยตรง

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างตระหนักถึงคุณค่าของบุคลากรที่มีคุณภาพ และทำการยกระดับความสามารถให้กับบุคลากรของตน เช่นการเพิ่มเติมทักษะใหม่ (re-skill) และการเพิ่มเติมทักษะด้าน STEM เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในโลกของการทำงานที่ราบรื่นและตอบรับเทรนด์ IoT เพื่อมุ่งสู่แรงงานในยุค Thailand 4.0 เป็นแรงงานที่เป็น Innovation Workforce และ Creative Workforce มีความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กร

แม้ว่าการใช้ระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้เป็นแรงที่รวดเร็วที่ช่วยให้บริษัทต่างๆ พบวิธีทำงานที่เร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับบริษัทได้สะดวกมากขึ้น สำหรับความท้าทายของแผนกทรัพยากรบุคคลคือทำอย่างไรให้พนักงานทุกคนพัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อใช้เครื่องมือและกระบวนการใหม่ๆ เหล่านี้ได้

บทบาทของฝ่ายทรัพยากรบุคคลเมื่อบริษัทกำลังเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล

การนำระบบคลาวด์ โมบาย โซเชียล บิ๊กดาต้า และประสบการณ์ด้านดิจิทัลมารวมไว้ในเทคโนโลยีที่ใช้ในการบริหารจัดการทุนมนุษย์ (Human Capital Management) เป็นสิ่งที่กำลังเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการองค์กรและการมีส่วนร่วมของพนักงานแบบพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว

ผู้ดูแลด้านทรัพยากรมนุษย์ (Chief Human Resources Officers) ในปัจจุบันใช้แนวทางใหม่ๆ เพื่อบริหารบุคลากรให้รองรับการทำงานจากที่ใดก็ได้ที่บุคลากรสามารถเข้าถึงความรู้และข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเพื่อนำมาใช้ในการทำงานของตนให้สำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยกตัวอย่างกรณีของฟูจิซีร็อกครับ โดยองค์กรแห่งนี้กำลังอัพเดทฝ่ายบุคคลเพื่อขับเคลื่อนทั่วทั้งองค์กร เพื่อปรับจากโรงงานผลิตเครื่องพิมพ์ ไปเป็นบริษัทให้บริการโซลูชั่นด้านการพิมพ์ ซึ่งต้องการบุคลากรที่มีทักษะการทำงานแบบใหม่และความมุ่งมั่นตั้งใจนำพาองค์กรไปสู่สิ่งใหม่ 

เปลี่ยนบุคลากรที่มีความสามารถให้เป็นกำลังพลที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างหรือจ้างใหม่

การจะพิจารณาว่ากลยุทธ์ใดจะเหมาะสมสำหรับฝ่ายทรัพยากรบุคคลขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถพิเศษต่างๆ ที่สำคัญที่สุดเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจตามกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ การประเมินความสามารถของบุคลากรจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตัดสินใจได้ว่าพวกเขาต้องการที่จะฟูมฟักพนักงานที่มีอยู่แล้ว หรือควรต้องนำผู้ที่มีความสามารถใหม่ๆ เข้ามา คำตอบที่ดีที่สุดอาจเป็นการใช้ทั้งสองกลยุทธ์ร่วมกัน ดังนั้นบริษัทต่างๆ อาจต้องกำหนดลำดับความสำคัญและกรอบเวลาเพื่อจะได้เริ่มต้นดำเนินการในสิ่งที่ต้องการได้

เห็นได้ชัดว่าการคัดเลือกพนักงานในยุคใหม่ต้องสอดรับกับเทรนด์ด้านเทคโนโลยีที่เป็นส่วนสำคัญ แรงกระแทกนี้จะส่งผลโดยตรงต่อพนักงานที่มีทักษะเดี่ยวๆ หรือพนักงงานที่ยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง แต่องค์กรจำเป็นต้องเปลี่ยน  เราต้องคิดแล้วล่ะครับว่า เราจะเปลี่ยนตัวเอง หรือให้บริษัทเปลี่ยนเรา….