อีริคสัน (ERICSSON) เผยวิสัยทัศน์ IoT ชี้!! โซลูชั่นส์ต้องรองรับความหลากหลายของอุตสาหกรรมได้ เพื่อนำความสามารถที่เพิ่มขึ้นของ 4G และ 5G มาใช้สร้างโอกาสทางธุรกิจ…
ERICSSON Cellular IoT ต้องสามารถรับความต้องการที่หลากหลาย
อีริคสัน ได้เปิดเผยถึงแนวคิดด้านวิวัฒนาการของ Cellular IoT และเปิดตัวโซลูชั่นส์ใหม่ที่จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถรองรับความต้องการในตลาด IoT ที่กว้างขึ้นได้ โดยเฉพาะการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมยานยนต์ ภาคการผลิต และการให้บริการสาธารณูปโภค
วันนี้ วิวัฒนาการของเซลลูลาร์ IoT นั้นมี 4 เซ็กเมนท์ อันประกอบด้วย Massive IoT, Broadband IoT, Critical IoT และ Industrial Automation IoT ในที่นี้ Broadband IoT และ Industrial Automation IoT เป็นสองเซ็กเมนท์ที่เพิ่มขึ้นมาจากเดิม
โดย Broadband IoT หมายถึง การนำความสามารถของโมบายล์บรอดแบนด์มาสู่อุปกรณ์ IoT ด้วยความเร็วการรับส่งข้อมูลที่สูงขึ้น และการตอบสนองที่รวดเร็วยิ่งขึ้นเมื่อเทียบกับ Massive IoT ในขณะที่ Industrial Automation IoT หมายถึง การใช้ IoT เพื่อสนับสนุนการทำระบบอัตโนมัติในภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมต่อแบบเฉพาะทางตามลักษณะการใช้งานที่ต้องการ โดยอีริคสันยังได้พัฒนาเซ็กเมนท์ Massive IoT เดิม ด้วยการเปิดตัวฟังก์ชันที่ได้รับการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น ร่วมกับโซลูชั่นส์ใหม่ภายใต้เซ็กเมนท์ Broadband IoT ตัวอย่างการพัฒนาเซ็กเมนท์ Massive IoT เดิม
ได้แก่ ฟังก์ชัน NB-IoT Extended Cell Range ที่ช่วยขยายพื้นที่ครอบคลุมสัญญาณของเซลล์จากเดิมที่ถูกจำกัดอยู่ที่ 40 กม. เป็น 100 กม. ผ่านการปรับปรุงซอฟต์แวร์เพียงอย่างเดียว โดยมิต้องอาศัยการเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ของอุปกรณ์ NB-IoT เดิม
ซึ่งการพัฒนานี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำอุปกรณ์ IoT ไปใช้ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทั้งในธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจการเกษตร และการตรวจสอบเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ทั้งนี้ อีริคสันได้นำโซลูชั่นส์ NB-IoT Extended Cell Range ดังกล่าว ไปใช้ในเครือข่ายจริงอย่าง Telstra และ DISH เรียบร้อยแล้ว
สำหรับโซลูชั่นส์ต่าง ๆ ภายใต้เซ็กเมนท์ Broadband IoT ที่เปิดตัวในครั้งนี้ ประกอบด้วยฟังก์ชันการตรวจจับและควบคุมโดรน ฟังก์ชัน radio access network (RAN) slicing ฟังก์ชัน Advanced Subscriber Group Handling และฟังก์ชัน Multi-Gigabit LTE ด้วยความเร็วการรับส่งข้อมูลสูงถึง 2 Gbps
และความเร็วในการตอบสนองประมาณ 10 millisecond โซลูชั่นส์เหล่านี้ จะช่วยสร้างการใช้งานในลักษณะใหม่ ๆ จำนวนมาก ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุปกรณ์โดรน เทคโนโลยี AR/VR อุปกรณ์สวมใส่ (wearables) ขั้นสูง กระบวนการผลิต และการให้บริการสาธารณูปโภคที่ “สมาร์ท“ หรือ “ชาญฉลาด“ ยิ่งขึ้นไปอีกขั้น
เฟรดดริก เจดดริงค์ รองประธานบริหารและหัวหน้างานฝ่ายธุรกิจเครือข่ายของอีริคสัน กล่าวว่า เราอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการใช้งานเซลลูลาร์ IoT ภายใต้เซ็กเมนท์ Massive IoT เพื่อนำไปสู่การใช้งานทั่วโลก หน้าที่ของเราคือให้คำแนะนำกับลูกค้าว่าพวกเขาควรทำอย่างไร
เพื่อให้การลงทุนบนเครือข่าย 4G และ 5G เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำเครือข่ายไปใช้รองรับการใช้งาน (use case) ขั้นสูงที่มีความต้องการเฉพาะทางในภาคอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลาย
วิวัฒนาการของเซลลูลาร์ IoT
ตามแนวคิดของอีริคสัน วิวัฒนาการของเซลลูลาร์ IoT เริ่มต้นจากการใช้งานพื้นฐานในเซ็กเมนท์ Massive IoT (เช่น การใช้เพื่อติดตามสินทรัพย์ หรือสมาร์ทมิเตอร์) ไปสู่การใช้งานที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในเซ็กเมนท์ Broadband IoT (เช่น การให้บริการinfotainment ในรถยนต์ เทคโนโลยี AR/VR อุปกรณ์โดรน
และอุปกรณ์เพื่อการสวมใส่ หรือ wearables ที่มีความซับซ้อน) ขึ้นไปสู่ Critical IoT (เช่น การยานพาหนะไร้คนขับ) และ Industrial Automation IoT (เช่น การใช้และควบคุมหุ่นยนต์ในกระบวนการผลิต) ซึ่งวิวัฒนาการที่เป็นลำดับขั้นเช่นนี้ จะทำให้ผู้ให้บริการสามารถเลือกพัฒนาความสามารถของเครือข่ายให้เหมาะสม
กับลักษณะการใช้งานที่ต้องการนำไปใช้ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ด้วยการพัฒนาเครือข่าย LTE ที่มีอยู่เดิม และเตรียมตัวให้พร้อมสู่ 5G เมื่อถึงเวลาอันควร เมื่อประกอบกับการใช้เทคนิคที่มีประสิทธิภาพอย่าง network slicing ผู้ให้บริการจะสามารถใช้เครือข่ายเพียงหนึ่งเดียว ในการให้บริการทั้ง 4 เซ็กเมนท์ได้
จะทำให้เกิดการใช้เครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมอื่นต่อไป จากการคาดการณ์ใน Ericsson Mobility Report จำนวนการเชื่อมต่อของ cellular IoT จะ เพิ่มขึ้นจนถึง 4.1 พันล้าน ภายในปี 2024 ซึ่งหมายถึงอัตราการเพิ่มร้อยละ 27 ต่อปี
แพทริค ฟิลคินส์ นักวิเคราะห์อาวุโส ด้าน IoT และเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ IDC กล่าวว่า อีริคสันได้แสดงวิสัยทัศน์ด้านเซลลูลาร์ IoT ที่มีความชัดเจน ประกอบด้วยเซ็กเมนท์ที่มีนิยามอันเหมาะสม อันทำให้ผู้ให้บริการสามารถนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ
จะทำให้เกิดการปฏิรูปดิจิทัลที่เกิดขึ้นในแทบทุกอุตสาหกรรม นอกจากนี้ แนวคิดดังกล่าว ยังทำให้ผู้ให้บริการสามารถเลือกพัฒนาเครือข่ายของตนอย่างเป็นขั้นตอน ตามลักษณะการใช้งานที่ต้องการได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่