สหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (ITU) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ World Smart Sustainable Cities Organization (WeGO) จัดงานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่อง Smart City และรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
Smart City หรือเมืองอัจฉริยะเป็นแนวโน้มการพัฒนาเมืองในอนาคตที่ได้กลายมาเป็นกลยุทธ์หลักของเมืองชั้นนำหลายแห่ง และเป็นวิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองที่ผนวกเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตลอดจนอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ มาเป็นแนวทางในการบริหารจัดการเมืองในด้านต่างๆ
อาทิ ระบบข้อมูลของหน่วยงานท้องถิ่น โรงเรียน ห้องสมุด ระบบขนส่ง โรงพยาบาล โรงไฟฟ้า การจ่ายน้ำ การบริหารจัดการน้ำเสีย การบังคับใช้กฏหมาย และบริการชุมชนอื่นๆ โดยเทคโนโลยีไอซีทีจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับชุมชนและระบบสาธารณูปโภคของเมือง หรือติดตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมือง รวมไปถึงว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร และแน่นอนว่า ระดับความเป็นเมืองอัจฉริยะจะกลายเป็นตัวชี้วัดขีดความสามารถในการแข่งขันหลักของเมืองต่างๆ ในอนาคต
อัลตร้าบรอดแบนด์ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะ
ในงานได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้นำด้านอุตสาหกรรมในเรื่องต่างๆ อาทิ บริการของรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และบริการดิจิทัลสาธารณะ การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล เมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืน สังคมดิจิทัล นวัตกรรมดิจิทัล และสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันในการก้าวสู่เมืองอัจฉริยะคือ
เครือข่ายอัลตร้าบรอดแบนด์เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของการสร้างเมืองอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีไอซีที ในขณะที่หลายประเทศชั้นนำ อาทิ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ และจีน ได้ยกอัลตร้าบรอดแบนด์ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ
ดังนั้น เมืองที่ตั้งเป้าที่จะก้าวสู่ยุคดิจิทัล การวางยุทธศาสตร์อัลตร้าบรอดแบนด์ระดับเมืองควรจะต้องเป็นก้าวแรกของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งในระหว่างการแชร์ข้อมูล หัวเว่ยได้ยกตัวอย่างกลยุทธ์ “กิกะแบนด์ ซิตี้” ในการสร้างเมืองอัจฉริยะ
กิกะแบนด์ ซิตี้ ก้าวไกลสู่ยุคดิจิทัล
ในเซิ่นเจิ้น สิงคโปร์ ฮ่องกง และเมืองชั้นนำอื่นๆ อีกหลายแห่ง กิกะแบนด์ ซิตี้ ได้ช่วยปรับโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมใหม่ เพิ่มศักยภาพด้านดิจิทัลของเมือง ด้วยการขับเคลื่อนการลงทุน สร้างแรงบันดาลใจให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล
รวมไปถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารเพื่ออนาคต และปูทางสู่นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ อาทิ ระบบแสงไฟถนนอัจฉริยะ กล้องซีซีทีวีความละเอียดสูง ระบบการบริหารการจราจร และโอกาสการศึกษาอิเล็กทรอนิกส์ในโรงเรียนต่างๆ เมืองซูโจวซึ่งมีระบบไฟเบอร์บรอดแบนด์เข้าถึงทุกบ้าน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เติบโตขึ้นร้อยละ 60 ในระหว่างปี 2554-2559 ประชากรมีการใช้จ่ายเงินผ่านระบบอี-เพย์เมนท์ถึงร้อยละ 30 ของการใช้จ่ายทั้งหมด และสามารถลดเวลาที่ต้องใช้ติดต่อกับภาครัฐลงได้ถึงร้อยละ 90
การสร้างกิกะแบนด์ ซิตี้ ผู้ว่าการประจำเมืองจะต้องตั้งเป้าหมายการพัฒนาบรอดแบนด์ และให้ความสำคัญในระดับสูงสุด สองคือต้องมีนโยบายรองรับ เพื่อรับมือกับความท้าทายและอุปสรรคในระหว่างการติดตั้งเครือข่ายไฟเบอร์
ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่ของภาครัฐสามารถที่จะปรับปรุงการผสมผสานระบบสาธารณูปโภคให้ดีขึ้นและหาแนวทางที่จะทำให้กระบวนการได้รับสิทธิ์ต่างๆ นั้นง่ายขึ้น โดยต้องให้โครงการก่อสร้างอาคารใหม่ๆ หรือปรับปรุงอาคารให้มีการเชื่อมต่อระบบไฟเบอร์ กำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนในการชดเชยสำหรับเรื่องต่างๆ และริเริ่มให้มีกองทุนบริการ
รวมถึงต้องสามารถออกกฏหมายกรอบโครงงานด้านไอซีทีที่ครบวงจร สาม จากกรณีตัวอย่างความสำเร็จของเมืองชั้นนำต่างๆ ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและโอเปอเรเตอร์ด้านโทรคมนาคมถือเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ เพราะโอเปอเรเตอร์จะมีบทบาทมากที่สุดในการส่งมอบบรอดแบนด์สำหรับกิกะแบนด์ซิตี้ ในเซิ่นเจิ้น ไชน่าเทเลคอมเป็นพันธมิตรและผู้ก่อสร้างโครงการกิกะแบนด์ซิตี้ ในเกาหลี KT, SKT และ LGU+ ล้วนให้การสนับสนุนโครงการกิกะบิตบรอดแบนด์อย่างเต็มกำลัง