เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจบริการสุขภาพในระยะข้างหน้า แม้ปัจจุบันจะยังไม่สามารถเข้ามารักษาโรคแทนแพทย์ที่เป็นมนุษย์ แต่ก็อีกไม่นานเพราะประชาชนส่วนใหญ่ให้การตอบรับกับการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย และการเข้าถึงบริการที่ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น
รายงานจาก PwC ระบุว่า ประชากรในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีความพร้อมในการใช้ AI และหุ่นยนต์ทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่ส่วนใหญ่ยังยินดีให้หุ่นยนต์ทำการผ่าตัดเล็ก ส่วนการใช้ AI และหุ่นยนต์ในการดูแลสุขภาพในไทยจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เหตุเพราะใช้เงินลงทุนสูง และระบบจัดการฐานข้อมูลยังไม่พร้อม รวมทั้งต้องปรับทัศนคติของแพทย์และสถานพยาบาล
PwC เปิดเผยถึงรายงาน What doctor ? Why AI and robotics will define New Health. ที่ทำการศึกษาสำรวจประชากรมากกว่า 11,000 คน จาก 12 ประเทศทั่วยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่ง (55%) มีความยินดีที่จะใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ขั้นสูง หรือหุ่นยนต์มาช่วยตอบคำถามด้านสุขภาพ ทำการวินิจฉัยโรคหรือแม้กระทั่งช่วยแนะนำการรักษา
ตลาดเกิดใหม่ เปิดกว้างในการรับการรักษาด้วยเทคโนโลยี
รายงานของ PwC ระบุด้วยว่า ประชากรในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ มีความเปิดกว้างต่อการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาดูแลสุขภาพมากกว่าประชากรในตลาดที่พัฒนาแล้ว และมีระบบบริการสุขภาพที่มีความยืดหยุ่นน้อยกว่า (เช่น สหราชอาณาจักร และยุโรปตะวันตก/เหนือ)
โดยคนในกลุ่มประเทศเหล่านี้ยินดีที่จะได้รับการรักษาจากผู้ให้บริการสุขภาพที่ไม่ใช่คน (Non-human healthcare provider) มากกว่า โดยอาจสืบเนื่องมาจากระบบบริการสุขภาพของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา
PwC ยังพบว่า จากการสำรวจกรณีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ปฏิบัติการในห้องผ่าตัด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งและสูงสุดถึง 73% ยินดีที่จะให้หุ่นยนต์ดำเนินการในขั้นตอนการผ่าตัดเล็ก ๆ น้อย ๆ แทนแพทย์ที่เป็นมนุษย์
โดยผู้ตอบแบบสอบถามในไนจีเรีย ตุรกี และแอฟริกาใต้ เป็นประเทศที่มีผู้ตอบแบบสอบถามเต็มใจรับการผ่าตัดเล็กโดยหุ่นยนต์มากที่สุด (73%, 66% และ 62% ตามลำดับ) เปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักรที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่เต็มใจเพียง 36%
อย่างไรก็ดี ในกรณีการผ่าตัดใหญ่ (Major Surgery) เช่น ผ่าตัดเข่าหรือสะโพก ผ่าตัดเนื้องอก หรือผ่าตัดหัวใจ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยังคงวางใจให้แพทย์ที่เป็นมนุษย์ทำการรักษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าแปลกใจ
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีผู้ตอบแบบสอบถามในบางประเทศ ที่เต็มใจเข้ารับการผ่าตัดใหญ่โดยหุ่นยนต์ เช่น ไนจีเจีย 69% เนเธอร์แลนด์ 40% และสหราชอาณาจักร 27%
PwC ยังได้ทำการศึกษาถึงปัจจัยที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับ หรือไม่ยอมรับบริการในการรักษาจาก AI และหุ่นยนต์ดูแลสุขภาพ พบว่า การเข้าถึงบริการดูแลสุขภาพที่ง่ายและรวดเร็วกว่า (36%) และการวินิจฉัยที่รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำ (33%) เป็นแรงจูงใจหลักที่ทำให้พวกเขาสนใจใช้เทคโนโลยีเหล่านี้
ในทางตรงกันข้าม การขาดความไว้วางใจให้หุ่นยนต์ตัดสินใจ (47%) และการขาดสัมผัสแห่งมนุษย์ (41%) ก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนเกิดความลังเลเช่นกัน
แม้ว่าเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่ข้อดีและข้อเสียอย่างละ 2 อันดับที่กล่าวมาข้างต้น เป็นสิ่งที่ถูกอ้างอิงถึงมากที่สุดในเกือบทุกประเทศที่ทำการสำรวจ ยกเว้นซาอุดีอาระเบีย และกาตาร์ ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองว่า การขาดสัมผัสแห่งมนุษย์เป็นข้อเสียข้อใหญ่ที่สุด ของการรักษาด้วยหุ่นยนต์ที่ทำให้พวกเขาไม่สนใจที่จะใช้เทคโนโลยีนี้
ขั้นตอนต่อไปสำหรับรัฐบาล ธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ สถานพยาบาล และผู้เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ของบริการดูแลสุขภาพโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์
รัฐบาล ต้องกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพ กรอบการกำกับดูแล และกฎข้อบังคับที่ครอบคลุมทุกธุรกิจในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ตลอดจนออกมาตรการกระตุ้นที่เหมาะสมในการสนับสนุนแนวทางการรักษาด้วยวิธีการใหม่ ๆ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องเข้าใจหลักการทำงานของ AI และหุ่นยนต์ ว่าสามารถเอื้อประโยชน์และทำงานร่วมกับพวกเขาได้ ทั้งในบริบททางการแพทย์และระบบนิเวศของการดูแลสุขภาพทั้งหมด อีกทั้งยังต้องเปิดใจยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงด้วย
ผู้ป่วย ต้องศึกษาและทำความคุ้นเคยกับการใช้ AI และหุ่นยนต์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้จากการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เพื่อนำไปใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเอง
ภาคเอกชนที่พัฒนา AI และหุ่นยนต์ ต้องสร้างโซลูชันที่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความต้องการและทรัพยากรที่ระบบดูแลสุขภาพกำลังเผชิญอยู่ ในสาระสำคัญ เอกชนสามารถใช้โอกาสที่มีในการเข้ามาพลิกโฉมธุรกิจบริการดูแลสุขภาพให้ดีขึ้น ผ่านการนำเสนอโซลูชันในการดูแลสุขภาพผ่านการใช้ AI และหุ่นยนต์ที่มีประสิทธิภาพ
ผู้ที่ทำการตัดสินใจของสถาบันดูแลสุขภาพ ต้องมีการพัฒนาหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence based) มีการประเมินผลสำเร็จ และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีใหม่ ๆ อีกทั้งต้องลำดับความสำคัญของภารกิจ และมุ่งเน้นไปที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก