ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้ถูกนำมาใช้เป็นตัวกำหนดธุรกิจว่าจะต้องเริ่มการพัฒนาหรือควรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ดังนั้นองค์กรในวันนี้จึงต้องการผู้นำด้านไอซีทีที่มีวิธีการใหม่ ๆ ให้สามารถใช้ไอซีทีเพื่อเพิ่มความได้เปรียบกับการแข่งขัน
ในโลกยุคปัจจุบันนั้น การจัดการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหน่วยงานตลอดจนองค์กรนั้น ไอซีทีถือว่าเป็นสิ่งสำคัญทั้งต่อสาธารณะและต่อองค์กรเอง ซึ่งทำอย่างไรไอซีทีจึงจะทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์รวมถึงสามารถให้บริการลูกค้าที่ดีได้
อย่างไรก็ดี องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำไอซีทีมาใช้ขับเคลื่อนทิศทางขององค์กร แต่กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง หรือ CIO นั้นต้องมีบทบาทสำคัญและพบเจอกับปัญหาใดบ้าง
ทาง ELEADER ได้มีโอกาสสอบถามความเห็นจากท่าน รศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และนายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานชมรมส่งเสริมธรรมาภิบาล และความรับผิดชอบต่อเทคโนโลยีดิจิทัลไทย (NaDGA) ในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของวงการไอซีทีของไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ท่านได้สะท้อนภาพของไอซีทีไว้อย่างน่าสนใจมาก
ซีไอโอ วันนี้ควรโฟกัสหรือเน้น “ผลกระทบ” ไม่ใช่มองเป็นเรื่องการขาย การลงทุน
รศ.ดร.ครรชิต มาลัยวงศ์ ราชบัณฑิต สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ และนายกสภามหาวิทยาลัยศรีปทุม และประธานชมรมส่งเสริมธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อเทคโนโลยีดิจิทัลไทย (NaDGA) กล่าวว่า ในอดีตนั้นหน่วยงานรวม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนต่าง ๆ มักมองเรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องของคอมพิวเตอร์ที่มีราคาแพง ซึ่งเป็นภาระด้านการเงินที่ทำให้องค์กรหรือหน่วยงานมีค่าใช้จ่ายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ดังนั้นผู้บริหารองค์กรและหน่วยงาน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้ให้ความสนใจในการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีมากนัก แต่เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลหรือไอซีทีแล้วเช่นนี้ก็จะเห็นได้ว่ามีประเทศอย่าง สิงคโปร์ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าสามารถใช้ไอซีทีในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศได้
นอกจากนั้นไอซีทียังช่วยให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชนได้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการปฏิบัติงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้หน่วยงานต่าง ๆ จึงเริ่มหันมาสนใจไอซีทีมากขึ้น และเริ่มพิจารณาหาทางใช้ไอซีทีในด้านที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันขององค์กรให้เพิ่มมากขึ้น
แม้ว่าจะมีแนวโน้มความต้องการไอซีทีเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่ตามมาส่วนมากก็คือ ณ เวลานี้ คนที่จะมาทำหน้าที่เป็น CIO นั้นค่อนข้างมีน้อยเพราะเป็นเรื่องใหม่ ที่ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมของเรื่ององค์ความรู้ด้านไอซีที อีกทั้ง บุคลากรขององค์กรเองก็ยังขาดความพร้อมที่จะก้าวไปสู่การใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในบางองค์กรที่ถึงแม้จะมีการแต่งตั้งตำแหน่ง CIO นี้ขึ้นมา แต่ก็ทำได้เพียงแค่ดูแลระบบไอทีภายในองค์กรเพียงเท่านั้น เพราะองค์กรเองไม่กล้าที่จะก้าวออกมาจากกรอบแนวคิดเดิม CIO จึงเป็นตำแหน่งที่ครอบเอาไว้ด้วยการทำงานตามนโยบายขององค์กร เพราะมีความกังวลว่าการลงทุนเทคโนโลยีที่มีราคาแพง จะเป็นการลงทุนที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แม้แต่ในภาครัฐเองก็เป็นในลักษณะของการแต่งตั้งตำแหน่งขึ้นมาในลักษณะเช่นเดียวกัน
โดยสรุปแล้วในภาพรวมผลงานของ CIO ในยุคก่อนหน้านี้จึงไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันมากเท่าที่ควรจะเป็น หากจะมี CIO ที่มีบทบาทต่อองค์กรอย่างเห็นได้ชัดก็จะเห็นแต่ในองค์กรขนาดใหญ่ที่งบประมาณในการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ในขณะที่องค์กรขนาดกลางหากจะมีการลงทุนก็เป็นลักษณะการเช่าใช้ซึ่งก็มีสัดส่วนน้อยที่จะลงทุนเอง แน่นอนว่าสิ่งที่ตามคือความไม่คล่องตัวในการดำเนินงาน ขณะที่ในองค์กรขนาดเล็กคงไม่ต้องพูดถึง
ซีไอโอ ต้องพร้อมบูรณาการองค์กรแบบรอบด้าน
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันนโยบายของภาครัฐที่ต้องการยกระดับให้ประเทศก้าวสู่การแข่งขัน ด้วยเทคโนโลยี ดิจิทัลและสามารถให้บริการประชาชนได้มากขึ้น ทำให้ภาครัฐเริ่มมีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับการพัฒนาออกมาในรูปแบบของแอพพลิเคชันต่าง ๆ มากขึ้น แต่ก็ยังถือว่าไม่ดีมากเพียงพอ
เพราะวันนี้ยังไม่เห็นการบูรณาการแบบรอบด้าน ทั้งยังมีข้อมูลหลายส่วนที่เป็นข้อมูลที่สามารถนำมาวิเคราะห์ ไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงาน และพัฒนาให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลหรือไอซีที ส่วนหนึ่งมาจากความกลัวว่าข้อมูลของตนจะรั่วไหล
แต่วันนี้ความคิดเช่นนี้ต้องเปลี่ยนไป CIO หรือผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงขององค์กร ในฐานะผู้รับผิดชอบในการพัฒนาทั้งความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งทั้งภายในและภายนอก ทั้งนี้เพื่อทำให้ธุรกิจและองค์กรดำเนินไปได้ ต้องมองในภาพรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ว่าจะสามารถเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจหรือบริการได้อย่างไร
หรือจะสามารถช่วยให้พาร์ตเนอร์หรือหุ้นส่วนทางธุรกิจสะดวกขึ้นได้อย่างไร CIO ต้องเข้าใจเทคโนโลยีอย่างถ่องแท้ และที่สำคัญต้องทำความเข้าใจให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงลูกค้าด้วย อีกทั้ง CIO ยังต้องเข้าใจรูปแบบและวิธีการดำเนินธุรกิจของตน
ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้หมายความว่า CIO จะต้องเป็นนักการตลาดที่เก่ง หากแต่ต้องเป็นผู้บริหารที่มีความชำนาญในการบริหารจัดการ การกำหนดกลยุทธ์ และการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา และมีกรอบแนวคิด (Framework) ด้านไอซีทีที่ดี นั่นก็หมายถึงว่า CIO รู้ว่าอะไรควรกำหนดในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ รู้ว่าเรื่องใดที่ต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงาน มีขั้นตอนในการตรวจสอบที่ปฏิบัติงาน
ซึ่งจะเป็นการทำให้เกิดความมั่นใจว่าทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอ หากปรุงแต่งส่วนผสมให้เหมาะสมก็จะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กร รวมถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การแลกเปลี่ยนและต่อยอดองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน ทั้งนี้จะเป็นการรับประกันความสำเร็จในการขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง
หากพิจารณาโดยรวมแล้วองค์กรไม่สามารถก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว CIO สามารถใช้วิธีการจัดซื้อบริการด้านไอซีทีจากบริษัทภายนอก หรือ Outsourcing ที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ และให้เน้นในส่วนของดูแล และพัฒนาภารกิจหลักของหน่วยงานให้ก้าวหน้า
แต่ต้องยังคงให้ความสำคัญต่อเรื่องวางแผนยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรภายในองค์กรด้วย เพราะท้ายที่สุดเมื่อถึงจุดที่ต้องยกระดับองค์กร หากบุคลากรยังไม่มีความพร้อมก็อาจจะส่งผลต่อการเจริญก้าวหน้าได้
การเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนทางด้านเทคโนโลยีนี้ หมายรวมถึงในทุกอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับทาง ELEADER ที่กำลังเปลี่ยนรูปแบบของการสื่อสารจากเดิมไปสู่การสื่อสารแบบดิจิทัลที่ทันสมัย และตรงจุดหรือความต้องการมากขึ้น โดยให้ความสำคัญต่อข้อมูลข่าวสาร ต้องรู้ให้ได้ว่าใครคือผู้ที่จะให้ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือได้ ใครคือผู้เชี่ยวชาญ เพราะนั่นหมายถึงความเป็นผู้นำดิจิทัลหรือผู้นำอิเล็กทรอนิกส์อันสมชื่อ