ยุทธศาสตร์ประชารัฐนับเป็นแนวทางปฏิรูปประเทศที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลนำมาใช้ในการดำเนินยุทธศาสตร์ชาติในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ในยุคที่รัฐต้องดึงเอาพลังอำนาจจากทุกทรัพยากรความมั่นคงที่รัฐมีอยู่ มาใช้ให้เกิดศักยภาพสูงสุด
ยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” คือการรวมเอาพลังทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะอยู่ในภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ มาใช้โดยมองบนพื้นฐานว่า “คนไทยทุกคนก็คือประชาชนของชาติ” ซึ่งถือเป็นพลังอำนาจที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา ดังนั้น ประชาชน 4.0 จะเป็นแรงสำคัญในการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูป และการพัฒนาประเทศในทุกมิติและทุกด้านอย่างยั่งยืน
ซึ่งรัฐก็ได้เลือกระบุชัดเจนว่า ดิจิทัลจะเป็นเครื่องมือในการเพิ่มศักยภาพของทุกทรัพยากรของรัฐ เพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจของชาติทุกด้านให้เติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่เว้นแม้กระทั่งภาคความมั่นคงอย่างวงการทหาร
เมื่อเดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการฝึกอำนวยการยุทธ์ในระดับยุทธศาสตร์และยุทธการของ วิทยาลัยการทัพบก ซึ่งจะมีมิติของดิจิทัลเพิ่มขึ้นมาเป็นข้อพิจารณาเพิ่มมาอย่างชัดเจนกว่าหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา มีการตั้งกองบัญชาการรบร่วมที่กำหนด Role Play ที่มีหน่วยงานรัฐระดับกระทรวง
อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงดิจิทัล สภาความมั่นคงแห่งชาติ และศูนย์ระดมสรรพกำลังที่พร้อมระดมทุกศักยภาพทรัพยากรมาใช้เมื่อยามสงคราม
และแน่นอนกระทรวงดิจิทัลในยุคนี้ถือเป็นกระทรวงสำคัญกระทรวงที่มีหน้าที่ในการเตรียมโครงสร้างด้าน ICT และดิจิทัล เพื่อรองรับการทำงานอย่างบูรณาการข้อมูลของทุกกระทรวงและทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนอีกทั้งยังมีหน้าที่สำคัญในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
นั่นหมายความว่าเมื่อเกิดภาวะสงครามสิ่งที่ตามมานอกเหนือจากการเอาชนะทางการฑูต การกดดันทางเศรษฐกิจ ก็คือสงครามในรูปแบบการใช้อาวุธและกองกำลังทางทหาร ซึ่งในอีกมิติที่เพิ่มขี้นมาก็คือสงครามไซเบอร์ เพราะฉะนั้น กระทรวงดิจิทัลจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง
ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data ในแต่ละทรัพยากรความมั่นคงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการบูรณาการเมื่อเกิดภาวะคับขัน การ Transform ข้อมูลเป็นระบบดิจิทัลจะช่วยให้การทำงานเป็นไปอย่างรวดเร็วแม่นยำ และประสานสอดคล้องกันอย่างลงตัว
ตัวอย่างจากการฝึกครั้งนี้ ศูนย์ระดมสรรพกำลังได้นำระบบฐานข้อมูลที่สามารถค้นหาในทุกระดับและทุกทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นระบบโลจิสติกส์ ระบบสาธารณสุข ข้อมูลประชาชน ซึ่งเมื่อเกิดภาวะสงครามประชาชนเหล่านี้บางส่วนจะแปรสภาพกลายเป็นกำลังพลสำรองของประเทศ เพื่อช่วยเหลือในราชการสงครามต่อไป
ดังนั้น ในการฝึกครั้งนี้จึงมีมิติของดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้องมาก ยกตัวอย่างเช่น สถานการณ์การฝึกแผนป้องกันประเทศนี้ ให้ท่านผู้อ่านที่เป็นประชาชนที่อาจไม่เคยรับรู้ว่าหน่วยงานความมั่นคงได้มีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ
เช่น มีการเตรียมการในการป้องกัน การทำสงคราม ในรูปแบบ Network Centric Warfare การป้องกันการทำสงครามไซเบอร์ การป้องกันและต่อต้านการปฏิบัติการข่าวสาร โดยการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติการ นี่คือตัวอย่างที่อยากให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงคำว่า “ประชาชนแห่งรัฐ”
สำหรับหัวใจสำคัญของยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” คือการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เนื่องจากการแก้ปัญหา การปฏิรูป และการพัฒนาประเทศในทุก ๆ ด้านจะสำเร็จหรือเห็นผลเป็นรูปธรรมไม่ได้เลย หากขาดซึ่งความร่วมมือร่วมใจและการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชน เจ้าหน้าที่รัฐ และรัฐบาล
จากเป้าหมายในอนาคตของยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” จึงทำให้ภาครัฐได้พยายามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของประเทศในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาโครงสร้างคมนาคมขนส่งเพื่อรองรับชีวิตประชาชนในมหานครและภาคการผลิต
ซึ่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคมปีที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แถลงความร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรต่าง ๆ พร้อมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ในการใช้มาตรฐาน QR Code ที่เป็นมาตรฐานกลางสำหรับการชำระเงิน
ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ 5 บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลกได้เข้ามามีส่วนร่วม และร้านค้าก็สามารถใช้ QR Code ในการรับชำระเงินได้ทั่วไป
ทั้งจากผู้ให้บริการชำระเงินในประเทศและรองรับรายการชำระเงินระหว่างประเทศด้วย ที่ผ่านมาหลายท่านอาจเคยเห็นนักท่องเที่ยวจีนที่นำเอา QR Code จากประเทศจีนเข้ามาใช้ชำระเงินในไทย ซึ่งหลายร้านในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวคงเคยเห็นมาบ้างแล้ว
แต่มีความแตกต่างกันตรงที่บริษัทผู้ให้บริการชำระเงินจากจีนจะมี QR Code ของตนเอง แต่สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ของไทยจะใช้ QR Code ร่วมกันได้ “ทั้งหมด” ซึ่งหมายถึงจะสามารถรองรับทุกช่องทางการชำระเงินด้วย ทั้งการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัญชี e-Wallet หรือบัญชีเงินฝากธนาคาร
ดังนั้น QR Code จึงถือเป็นเครื่องมือในการชำระเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย-ผู้โอนและผู้รับโอน โดยสามารถใช้ Mobile Application ของธนาคารพาณิชย์ผู้ให้ทางการเงินอื่น ๆ หรือผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรบนโทรศัพท์มือถือ ในการอ่าน QR Code ของร้านค้าเพื่อซื้อของหรือชำระเงินได้อย่างง่ายดาย สะดวก รวดเร็ว
แต่หลายท่านคงอาจมีความกังวลเรื่องระบบการรักษาความปลอดภัยของระบบ ซึ่งได้มีการเตรียมการรองรับโดยที่ทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมจะต้องมีการใส่ “รหัสผ่าน” ก่อนเข้าใช้ Application และจะมีการส่งข้อความให้ท่านสามารถตรวจสอบจำนวนเงินและชื่อผู้รับก่อน ร้านค้าก็จะมีต้นทุนการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่ำลงมาก โดยเฉพาะร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็กจะสามารถพิมพ์ QR Code ติดไว้หน้าร้านหรือหน้าแผง เพื่อให้ลูกค้าสแกนได้ทันทีและสามารถรองรับการชำระเงินผ่านช่องทางที่หลากหลายได้
นอกจากนี้ การสแกน QR Code ผ่าน Mobile Application ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับลูกค้า เพราะไม่ต้องให้บัตรหรือข้อมูลบนบัตรแก่ร้านค้า ไม่ต้องกังวลเรื่องการเอาข้อมูลไปปลอมบัตรอีกต่อไป ที่สำคัญระบบนี้พัฒนาอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของธนาคารและผู้ให้บริการในปัจจุบัน เช่น การโอนเงินพร้อมเพย์ หรือการให้บริการบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล
หากมองในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งหรือระบบโลจิสติกส์ ก็ใช่ว่าจะมีแต่ภาคเอกชนอย่างเดียวที่หันมาใช้ระบบดิจิทัล ICT หรือแม้กระทั่งเรื่องของ IoT มาเพื่อสนับสนุนหรือเพิ่มมูลค่าการดำเนินงานทางธุรกิจฝ่ายเดียว ภาครัฐในฐานะผู้ดูแลโครงสร้างขนาดใหญ่ของประเทศก็ได้นำระบบดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มารองรับมิตินี้เช่นกัน
ได้แก่ การดำเนินการของ “ระบบตั๋วร่วม” e-Ticket หรือ “บัตรแมงมุม” ซึ่งในอนาคตรัฐมีแผนที่จะพัฒนาให้สามารถใช้ร่วมกันได้ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือโดยสาร แอร์พอร์ตเรลลิงก์ รวมถึงการใช้จ่ายค่าสินค้าและบริการทั่วไป
ซึ่งระบบตั๋วร่วมนี้ในเบื้องต้นจะเริ่มใช้ได้สำหรับการเดินทางด้วยรถเมล์ ขสมก. 800 คันแรก ที่ได้รับการติดตั้งเครื่องอ่านตั๋วร่วมภายในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ และจะติดตั้งอีก 2,600 คันภายในต้นปี 61 จากนั้นจะใช้กับรถไฟฟ้า 4 สาย ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ Airport Rail Link, รถไฟฟ้าสายสีม่วง, สีเขียว และสีน้ำเงิน แล้ววางแผนเชื่อมต่อให้สามารถใช้บริการได้ครอบคลุม “ทุกระบบขนส่ง” ได้แก่ รถไฟฟ้าสายใหม่ ๆ ระบบทางพิเศษ ทางหลวงพิเศษ และเรือโดยสาร เป็นต้น
นอกจากนั้น เมื่อทุกอย่างเป็นระบบดิจิทัลรัฐวางแผนถึงระดับการสร้าง Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด ที่ประชาชนนอกจากสามารถใช้งานระบบตั๋วร่วมในระบบขนส่งแล้ว ยังจะสามารถใช้ในการชำระค่าสินค้า รองรับระบบการจ่ายเงินสวัสดิการสังคม และช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ National e-Payment
สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งเป็นต้นทุนที่มีค่าสูงทั้งในด้านภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญา และบุคคลากรด้านการเกษตรที่มีคุณภาพทุกระดับ ที่สำคัญภาคเกษตรกรรมได้รับพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงวางรากฐานการเกษตรแนวใหม่ให้เกษตรกร และภาคเกษตรได้พัฒนาศักยภาพ
เห็นได้จากโครงการตามพระราชดำริต่าง ๆ ที่เราได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ รัฐก็ได้สนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กลไกประชารัฐ โดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการที่จะพัฒนามาตรฐานการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก ดิน เมล็ดพันธุ์ น้ำ ปุ๋ย การจัดการศัตรูพืช ให้มีความปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งมีการผลักดันงานวิจัยและเทคโนโลยีไปสู่ภาคเกษตร การสร้าง Smart Farm โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสริมประสิทธิภาพของโรงเรือนปลูกอัจฉริยะ ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เอื้อต่อการเจริญเติบโตของผักผลไม้ โดยไม่ต้องใช้สารเคมีในการเร่งโตหรือกำจัดศัตรูพืช
การรับรองมาตรฐาน Thai GAP ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรจะได้รับ QR Code ประจำตัว เพื่อที่ผู้บริโภคจะสามารถสแกน Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาของผลผลิตวิธีการปลูก และกระบวนการต่าง ๆ ก่อนมาถึงมือผู้บริโภค ซึ่งก็ถือเป็นการยกระดับการผลิตในภาคเกษตรให้ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 รัฐ ได้ใช้โครงสร้างพื้นฐาน ICT ระดับหมู่บ้านของรัฐ
ในการเชื่อมโยงการทำงานและเผยแพร่องค์ความรู้ไปสู่เกษตรกร เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร ยกระดับให้เป็น Smart Farmer ต่อยอดไปสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร หรือ SMEs เกษตร ที่ใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานที่ลดต้นทุน เพิ่มปริมาณ และคุณภาพผลผลิต สร้างอำนาจในการต่อรองและแข่งขันได้ในตลาดโลก ตามนโยบาย “THAILAND 4.0 ของรัฐ”
เริ่มต้นแค่ 3 ประเด็นหลักที่แสดงให้เห็นว่า รัฐได้นำเรื่องของดิจิทัลมาช่วยและบูรณาการโอกาสในการเข้าถึง หรือได้รับสิทธิและสวัสดิการของรัฐอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นจะส่งผลดีต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ของประชาชนทุกคนทั้งในทางตรงและทางอ้อม
ซึ่งประชาชนทุกคนในฐานะ ประชาชนแห่งรัฐ สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ได้ง่าย ๆ โดยเริ่มได้ที่ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการติดตามทำความเข้าใจในนโยบาย และแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ การเข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็น หรือให้ข้อเสนอแนะที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ ผ่านเวทีหรือช่องทางที่ถูกต้องเหมาะสม
ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานต่าง ๆ ได้เปิดไว้จำนวนมาก การเคารพและปฏิบัติตนตามกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อยของชุมชนและสังคมส่วนรวม การมีจิตสาธารณะในการช่วยเหลือและเอื้อเฟื้อต่อผู้อื่นที่ด้อยโอกาสต่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ ซึ่งทุกวันนี้ประเทศของเราขาดเรื่องนี้มาก
นับว่าเป็นบุญของคนไทยที่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีสายพระเนตรอันยาวไกลในมิติทางรัฐศาสตร์ ด้านการมีส่วนร่วมในการปกครองของรัฐและประชาชนที่ทรงรับสั่งให้ช่วยกันส่งเสริมงานจิตอาสา และรัฐก็ได้นำแนวกระแสรับสั่งให้กระทรวงมหาดไทยไปจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาขึ้นมาในการดูแลพื้นที่ ดูแลความมั่นคง และในกิจการต่าง ๆ หรือทำกิจการสาธารณะ
เพราะบางอย่างถ้ารอข้าราชการทำฝ่ายเดียวไม่ทัน เพราะต้องผ่านกลไกและขั้นตอนต่าง ๆ แต่ถ้าช่วยกันคนละไม้คนละมือโดยจิตอาสาก็จะเกิดขึ้นได้เร็ว ภาระต่าง ๆ การใช้จ่ายงบประมาณก็จะลดลงจะได้นำงบประมาณไปทำอย่างอื่น เป็นยุทธศาสตร์ที่ต้องการทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมอย่างแท้จริง
เรากำลังจะก้าวเข้าสู่โค้งสุดท้ายของปี 2017 เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว แต่โลกดิจิทัลและเทคโนโลยีผ่านไปเร็วกว่าเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ๆ โมเดลทางธุรกิจใหม่ รวมถึงภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว
นี่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รัฐและประชาชน จะต้องร่วมมือร่วมใจให้นโยบาย “ประชารัฐ” เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและเดินหน้าประเทศไปอย่างมั่นคง อะไรที่ดีก็สนับสนุน อะไรที่สมควรปรับแก้ก็ต้องอาศัยความจริงใจในการร่วมแก้ไขปัญหา ฉบับหน้าเราจะมาพูดถึงการนำยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ในมิติของการศึกษา การสาธารณสุข และการอุตสาหกรรม ว่าเทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล จะมีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง