วันนี้ ธนาคาร บริษัทประกัน รวมทั้งบริษัทจัดการการลงทุน กำลังนำเทคนิค Gamification หรือกลไกแบบเกม เข้ามาใช้สร้างบรรยากาศ เข้ามาใช้สร้างบรรยากาศในธุรกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงาน…
highlight
- ธุรกิจธนาคาร, บริษัทประกัน รวมทั้งบริษัทจัดการการลงทุน เตรียมที่จะนำเทคนิคเกมมิฟิเคชั่น (Gamification) หรือกลไกแบบเกม เข้ามาใช้สร้างบรรยากาศในธุรกิจหลายรูปแบบ เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ช่วยการรับพนักงานใหม่ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น
- ธุรกิจสามารถใช้เทคนิคเกมมิฟิเคชั่นใน 3 กระบวนการงานขององค์กร ได้แก่ การสรรหาบุคลากร, การฝึกอบรม และการบริหารผลการปฏิบัติงาน
เทคนิค Gamification กำลังเปลี่ยนธุรกิจการเงิน และประกัน
ย้อนกลับไปช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา “เกมโปเกมอนโก“ (Pokémon GO) ถือว่าเป็นเกมที่ได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้คนหลายล้านคลั่งไคล้ จนต้องพากันออกมาเล่นบนท้องถนน สวนหย่อม และที่สาธารณะในกรุงเทพฯ และที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อตามจับเจ้าตัวมอนสเตอร์ของเกมนี้กันอย่างเพลิดเพลิน
และทำให้เกิดประสบการณ์ที่สนุกสนาน ร่วมถึงช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ เพราะเหตุนี้จึงทำให้ นินเทนโด (Nintendo) ประสบผลสำเร็จอย่างมาก เพราะทำให้ทุกคนลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสายกันมากขึ้น และทำตัวให้แอ็คทีฟอยู่เสมอ ซึ่งช่วยสร้างสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอีกด้วย
จากปรากฏการณ์นี้เองทำให้ธุรกิจธนาคาร, บริษัทประกัน รวมทั้งบริษัทจัดการการลงทุน เตรียมที่จะนำเทคนิคเกมมิฟิเคชั่น (Gamification) หรือกลไกแบบเกม เข้ามาใช้สร้างบรรยากาศในธุรกิจหลายรูปแบบ เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน ช่วยการรับพนักงานใหม่ และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น
แม้ว่าแนวคิดที่ว่าองค์ประกอบของเกมจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อที่ทำงานได้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะทีมงานขายต่าง ๆ ได้นำลีดเดอร์บอร์ดหรือตารางเทียบคะแนน รวมทั้งกลไกอื่นในแบบเกม มาใช้กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันฉันมิตรภาพและเพิ่มยอดรายได้ แต่เรื่องที่ถือว่าใหม่ก็คือ มีพนักงานจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่คุ้นเคย
และสนุกกับการเล่นเกมบนมือถือ แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป และการที่คอนเซ็ปต์ของเกม และศัพท์เฉพาะต่าง ๆ ก็ได้รับความนิยมในหมู่พนักงานรุ่นใหม่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ บริษัทฯ ที่ต้องการดึงความสนใจ สร้างการมีส่วนร่วม ให้ เกิดแรงกระตุ้น และมัดใจพนักงานรุ่นใหม่ที่คุ้นชินกับโลกดิจิทัล จะให้ความสำคัญกับเกมอย่างจริงจัง
และทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้จากเกม ซึ่งองค์กรเองก็จะสามารถทราบว่าอะไรคือสิ่งที่ดึงให้พนักงานเข้าไปมีส่วนร่วม หรือติดพัน และนำหลักการเหล่านั้นมาปรับใช้ให้เกิดผลที่จับต้องได้ภายใต้สภาพแวดล้อมของธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีอุปสรร คและประเด็นต่าง ๆ ในการพิจารณาว่าควรจะนำเกมมิฟิเคชั่นมาใช้หรือไม่
หรือจะนำมาใช้กับกระบวนการทำงานภายในขององค์กรอย่างไร แนวทางนี้ไม่ใช่ยาสารพัดนึกสำหรับทุก ๆ สถานการณ์ จึงควรเจาะจงวัตถุประสงค์ ผลที่ต้องการได้รับ และเมตริกการประเมินผลความสำเร็จให้ชัดเจน ขณะเดียวกันก็ควรเข้าใจด้วยว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะถูกจูงใจได้จากเทคนิคของเกมแบบเดียวกัน
การมีส่วนร่วม+ความเข้าใจ+การยอมรับ+แรงจูงใจ+การปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรม = แนวทางการประเมินผล
แม้ว่าจะการนำรูปแบบของเกมมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก แต่เรื่องที่น่าท้าทายคือ การรักษาระดับกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นนี้ให้คงอยู่ต่อเนื่องในระยะยาว และสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นแก่องค์กร การประเมินตัวกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มขึ้น เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็ง
จึงควรพิจารณาที่ความร่วมมือ การมีส่วนร่วม ความเข้าใจ การยอมรับ แรงจูงใจ และการปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมของพนักงาน อันจะเป็นแนวการประเมินผลกระทบของเกมมิฟิเคชั่นแบบองค์รวม ซึ่งองค์กรธุรกิจสามารถนำรูปแบบของเกมมาประยุกต์ใช้ปลูกฝังพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ช่วยเสริมสร้างวัฒนธรรมที่มีความหมายต่อองค์กร
ในด้านการประสานร่วมมือและการแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดผลิตภาพ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม การพัฒนาวิชาชีพ ความพอใจในงาน ที่สำคัญที่สุดคือ อัตราการลาออกจากงานลดลง และความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ มีหลายหลากวิธีที่บริษัทต่าง ๆ จะนำรูปแบบของเกมมาประยุกต์ใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ เช่น แทนที่จะให้พนักงานทำแบบสำรวจทางออนไลน์ บริษัทน่าจะทำแอปฯ ที่พ่วงเกมมาด้วย ทำให้กิจกรรมสนุก และดึงดูดใจให้มีส่วนร่วม หรือแทนที่จะให้พนักงานดูวิดีโอยาวเหยียดเพื่อเรียนรู้ระเบียบใหม่ ๆ เกี่ยวกับการกำกับดูแล
บริษัทก็อาจสร้างเกมออนไลน์ช่วยประเมินความรู้ของพนักงานและชี้แนะในเรื่องที่พวกเขาต้องพัฒนา พร้อมไปกับการสร้างแรงจูงใจโดยยกย่องชมเชย และให้รางวัลแก่ผู้ที่ทำคะแนนได้สูงกว่า ซึ่งการนำรูปแบบเกมมาใช้จะมีประโยชน์เป็นพิเศษตอนที่องค์กรต้องการให้พนักงานใส่ใจอยู่กับเมตริกประเมินผลงาน ซึ่งมีความสำคัญในช่วงหนึ่ง ๆ
ตัวอย่างเช่น ในช่วงแคมเปญลดราคาวันหยุด หรือในช่วงก่อนครบกำหนดการตรวจสอบระบบงาน การทำให้คนทำงานจดจ่ออยู่กับเรื่องสำคัญได้ จะช่วยให้แต่ละคนบรรลุเป้าหมายส่วนตน ขณะที่บริษัทก็สามารถผลักดันให้เกิดพฤติกรรมและผลลัพธ์ที่ถูกต้องได้ทันท่วงที
3 กระบวนการที่จะได้รับประโยชน์จากกลไกแบบเกม
การสรรหาบุคลากร บริษัทให้บริการทางการเงินที่กำลังหาผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมมารองรับบริการสินเชื่อใหม่บนมือถือ อาจจะโพสต์เกมด้านโค้ดดิงเอาไว้ในแอปฯ ด้านการธนาคาร เมื่อผู้ใช้งานล็อกอินเข้ามาเช็คยอดบัญชี คนที่ได้คะแนนสูงเป็นพิเศษจะได้รับคำเชิญให้ส่งประวัติส่วนตัวมาสมัครงานด้านเทคโนโลยีกับบริษัท
นอกจากนี้ “แฮกกาธอน“ (Hackathons) ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักเขียนโปรแกรม และนักออกแบบกราฟิกมาทำงานร่วมกันในโครงการต่าง ๆ ก็อาจเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมในการค้นหาทาเลนต์หรือคนที่มีความสามารถโดดเด่น ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเหมาะกับสิ่งแวดล้อมแบบโลกของเกม
ในช่วงท้ายของงานแฮกกาธอน ได้จัดเวลาไว้ให้สปอนเซอร์สัมภาษณ์งานหรือพิจารณารับทีมที่นำเสนอแนวคิดโครงการได้ถูกใจ เข้าทำงานได้ ในเวลาเดียวกัน บริษัทก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับทักษะที่แท้จริงของทีมเหล่านั้นมากขึ้น และเห็นได้ว่าจะนำมาใช้ในการทำงานอย่างไร
การฝึกอบรม เมื่อมีการคุกคามความปลอดภัยทางไซเบอร์ และประเด็นปัญหาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลมากขึ้น บริษัทประกันจึงต้องมั่นใจได้ว่า ศูนย์บริการข้อมูลลูกค้าที่คนทำงานล้วนเป็นพนักงานในวัยหนุ่มสาวผู้ซึ่งต้องรับมือกับประเด็นนี้ ตระหนักดีถึงนโยบายและแนวทางต่าง ๆ ด้านความปลอดภัยของข้อมูล
และปฏิบัติตามเรื่องดังกล่าวอย่างเคร่งครัด บริษัทสามารถนำเทคนิคต่าง ๆ มาใช้ เช่น การเล่นเกมในหน่วยงาน เกมออนไลน์ และการเล่นเกมจำลองด้วยตนเอง เพื่อดึงความสนใจให้อยู่กับโปรแกรม “ความปลอดภัยด้านข้อมูล“ ไปตลอดจนจบโปรแกรม
โดยหนึ่งในเกมเหล่านั้น อาจเป็นเกมตอบปัญหาออนไลน์ในแนวปฏิบัติภารกิจ ที่มีระดับความยากหลายระดับ ให้ผู้เล่นเล่นได้ทั้งทางคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และอุปกรณ์เคลื่อนที่
การบริหารผลการปฏิบัติงาน เทคนิคเกมมิฟิเคชั่น อาจนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับทั้งกระบวนการการบริหารผลการปฏิบัติงาน เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นเครื่องมือที่แสดงให้เห็นความสำเร็จของงานและพฤติกรรมได้ดีขึ้น และชัดเจนขึ้น แต่ยังช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในแง่ที่พนักงานสามารถชื่นชมเพื่อนร่วมงานได้อย่างเปิดเผยขึ้น
เกิดปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้นในองค์กร ผู้จัดการฝ่ายต่าง ๆ ก็สามารถให้รางวัลหรือเหรียญชมเชยในแต่ละครั้งที่พนักงานสามารถปฏิบัติภารกิจได้ลุล่วง หรือบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ เป็นการค่อย ๆ สร้างเส้นทางสู่ความสำเร็จ และช่วยเสริมสร้างกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน และการประเมินผลงานในช่วงสิ้นปี
การนำรูปแบบเกมมาใช้ในด้านทรัพยากรมนุษย์ได้พัฒนาขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังคงเป็นช่วงเริ่มต้น เกมและการนำรูปแบบเกมมาประยุกต์ใช้ได้เข้ามาเปลี่ยนประสบการณ์ของคนทำงานในแวดวงทรัพยากรมนุษย์ และพนักงาน ที่ได้สัมผัสกับกระบวนการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในแนวทางใหม่ ๆ
ซึ่งแน่นอนว่าจะมีการพัฒนาและเติบโตต่อเนื่องไปอีกในหลายปีข้างหน้า พร้อมกับมีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้แพร่หลายมากขึ้น เช่น ความเป็นจริงเสมือน (VR) และความเป็นจริงเสริม (AG) และรวมถึงใช้อนาลิติกส์มากขึ้น เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากกระบวนเกมมิฟิเคชั่นที่เป็นประโยชน์ต่อการคัดสรรค์หรือพัฒนาทรัพยากรบุคคลนั่นเอง
ส่วนขยาย
* บทความเรื่องนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ในมุมมองที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพประกอบบางส่วนจาก www.pexels.com
**** ขอขอบคุณข้อมูลจาก นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานบริการทางการเงิน
บริษัท เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย และ ชารอน ชู กรรมการผู้จัดการ
เอคเซนเชอร์ และหัวหน้าสายงานการบริหารทาเลนต์และองค์กร,
Greater China
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่