5G ไทย กำลังจะตามหลังเมียนมา เพราะเราปีปัญหาในเรื่องของคลื่นความถี่ แต่ลองมาดู 5G กับความคิดเมียนมากันดูว่าทำไมเขาถึงจะไปก่อนเรา
5G กับความคิดแบบเมียนมา
ประเทศเมียนมานั้น ปัจจุบันรัฐบาลเป็นคนถือคลื่นความถี่ไว้ และนำมาใช้งานในรูปแบบของการจัดสรรคลื่นความถี่ โดยรัฐบาลเมียนมาต้องการให้กิจการโทรคมนาคมมีการแข่งขันอย่างเสรี มีผู้ให้บริการมากกว่าหนึ่งราย
โดยยกเลิกการผูกขาดของหน่วยงานรัฐ คือ Myanma Posts and Telecommunications (MPT) ที่ให้บริการโครงข่ายพื้นฐานที่เข้าถึงผู้ใช้งาน 4 ล้านคน จากประชากร 61 ล้านคน เจ้าของบริการโครงข่ายอินเทอร์เน็ตและบริการระหว่างประเทศ
ความท้าทายของเมียนมาหลังจากเปิดประเทศ คือการผลักดันให้โครงการข่ายโทรคมนาคมมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงประชากรจำนวน 70-80% ของประเทศ เพื่อให้ประชาชนของเมียนมาได้รับโอกาสในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นส่วนนำองค์ความรู้ได้อย่างเท่าเทียมและในราคาค่าบริการที่เป็นธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดกับคนทั้งประเทศ
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมียนมาจึงต้องแก้ไขกฎหมายให้บริษัทจากต่างประเทศ สามารถถือครองหุ้นในบริษัทได้ 100% ในนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นในประเทศเมียนมา และเปิดให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมมายื่นขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคม
ภายใต้คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การพิจารณาของรัฐบาล (วิธีการเปรียบเทียบคุณสมบัติและข้อเสนอ : Comparative Evaluation Method) เพื่อพิจารณาจัดสรรความถี่ให้กับผู้ให้บริการ ภายใต้เงื่อนไขของรัฐบาลที่ต้องการให้มีการขยายเครือข่ายโทรคมนาคมให้ครอบคลุมจำนวนประชากรทั่วประเทศ
รัฐบาลเมียนมากำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ขอใบอนุญาตออกเป็น 3 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก เชิญชวนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศเมียนมา ยื่นความประสงค์ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม
ขั้นตอนที่สอง พิจารณาคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในประเทศ ว่ามีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ และทำความเข้าใจกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในรายละเอียดต่าง ๆ ที่ทางรัฐบาลเมียนมาต้องการ
ขั้นตอนที่สาม คัดเลือกผู้ประกอบการที่เข้าข่ายที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม
ประเด็นที่น่าสนใจ คือรัฐบาลเมียนมาแยกผู้พัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน ผู้ให้บริการเครือข่าย และผู้ให้บริการ Content ออกจากกันอย่างชัดเจน โดยผู้ได้รับใบอนุญาตการพัฒนาโครข่ายพื้นฐานจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมตามที่รัฐบาลกำหนด และสามารถเปิดให้ผู้ใช้งานเครือข่ายมาเช่าใช้งานได้
ปัจจุบันเมียนมามีผู้พัฒนาโครงข่ายพื้นฐาน 3 ราย คือรัฐวิสาหกิจเดิมที่ใช้บริการโทรคมนาคม คือ MPT และผู้ที่ได้รับใบอนุญาตให้พัฒนาโครงข่ายอีก 2 ราย คือ Telenor และ Ooredoo และรัฐบาลเมียนมา กำลังพิจารณาให้ใบอนุญาตกับผู้ประกอบการอีก 1 ราย เพื่อสร้างความสมดุลให้กับผู้ให้บริการ
การคัดเลือกผู้ได้รับใบอนุญาต 4 รายของเมียนมา ทำให้ผู้ให้บริการมีขีดความสามารถในการพัฒนาโครงข่ายได้อย่างเต็มที่ มีต้นทุนใบอนุญาตที่ต่ำกว่าการประมูล จึงสามารถนำเงินไปพัฒนาโครงข่ายได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานในการขยายโครงข่ายที่ครอบคลุมของทางภาครัฐ
และประการสุดท้ายที่ได้มาจากการให้ใบอนุญาตกิจการโทรคมนาคมของเมียนมา คือผู้ให้บริการสามารถให้บริการได้อย่างครอบคลุม ภายใต้เครือข่ายที่มีประสิทธิภาพในอัตราค่าบริการที่ถูก คือ 8 สตางค์ ต่อ 1 SMS และ 8 สตางค์ ต่อข้อมูลอินเทอร์เน็ต 1 เมกะไบต์
ภายใต้ทางเลือกที่แตกต่างกันของแนวทางการบริการกิจการโทรคมนาคมของไทย และเมียนมานั้น คงไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า แนวทางไหนที่ดีกว่ากัน แต่ภายใต้แนวนโยบายดังกล่าว ประกอบการช่วงเปลี่ยนผ่านของคณะกรรมการ กสทช. ที่จะหมดวาระลงในปีนี้นั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า รัฐบาลเมียนมา จะออกใบอนุญาต 5G ได้เร็วกกว่าการเปิดประมูลของรัฐบาลไทย ซึ่งนั่นจะเป็นอีกครั้งของความท้าทาย ที่ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมให้ทันกับประเทศเพื่อนบ้าน
สุดท้ายแล้ว รัฐบาลไทยอาจจะต้องพิจารณาว่า ทางเลือกในการเปิดประมูลใบอนุญาต 5G ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือไม่ และมีผู้ประกอบการกี่รายที่มีความพร้อมในการจ่ายค่าใบอนุญาตมูลค่า 2 แสนล้านบาท ในเมื่อใบอนุญาตก่อน ๆ ที่ประมูลมายังไม่สามารถถอนทุนคืนได้