เผยองค์กรยุคใหม่ใช้แนวคิด อไจล์ (Agile) ทางเลือกใหม่ในโลกการทำงานที่อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง หวังยกระดับกระบวนการทำงานได้เร็วขึ้น…

highlight

  • องค์กรธุรกิจยุคใหม่ ต่างเร่งเครื่อง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ตอบสนองต่อปัญหาให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีแนวคิดแบบ อไจล์ (Agile) เป็นแกน แต่ก่อนที่ที่องค์กรจะนำแนวคิดแบบ อไจล์ ไปใช้งาน มีสิ่งที่ต้องคำนึงว่า อไจล์ ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกองค์กร หากจะใช้ควร เริ่มจากเล็ก ๆ ทดลองให้แน่ใจก่อน รวมไปถึงต้อง สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงาน แบบใหม่นี้ 

Agile” ทางเลือกใหม่ในโลกการทำงาน

ในโลกการทำงานปัจจุบัน องค์กรต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ รวมถึงความต้องการของผู้บริโภค เป็นสาเหตุทำให้องค์กรที่ปรับตัวไม่ทันก็จะกลายเป็นผู้ตามหลังในที่สุด ดังนั้นองค์กรที่จะอยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลใบนี้

จึงไม่ได้วัดกันที่เรื่องความสามารถเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของความเร็ว หรือที่เราเรียกว่าเป็นยุคของ ปลาเร็วกินปลาช้า” ดังนั้นหลาย ๆ องค์กรจึงพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำงาน ตอบสนองต่อปัญหาให้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ

โดยจะเห็นว่าหลาย ๆ องค์กรเริ่มนำแนวคิดการทำงานแบบ อไจล์ (Agile) เข้ามาปรับใช้ในองค์กร เนื่องจากเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น โดยลดการทำงานที่เป็นขั้นตอน และงานด้านเอกสารลง และมุ่งเน้นเรื่องการสื่อสารกันในทีมให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เร็วขึ้น พร้อมนำมาทดสอบ และเก็บผลตอบรับต่าง ๆ

เพื่อกลับไปแก้ไขปรับปรุง ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็ว และตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้นนั่นเอง โดยในงาน Human Reset Series Episode 2: Becoming Agile Organization ที่ทาง Motive Talent ร่วมกับจ๊อบไทย (JobThai) จัดล่าสุด โดยมี พีท เจียมศรีพงษ์ General Manager จาก ThoughtWorks 

และ พณัญญา เจริญสวัสดิ์พงศ์ Head of Business Development, AI and Robotic Venture จาก PTTEP ผู้เชี่ยวชาญที่ได้นำแนวคิดแบบ อไจล์ เข้ามาประยุกต์ใช้กับการทำงานในองค์กร มาร่วมถ่ายทอดได้ เปิดเผยว่า ก่อนที่ที่องค์กรจะนำแนวคิดแบบ อไจล์ ไปใช้งาน มีสิ่งที่ต้องคำนึง ดังต่อไปนี้ 

Agile

อไจล์ ไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกองค์กร

อไจล์ เป็นแนวคิดในการทำงานที่กระตุ้นให้ทุกคนสื่อสารกันอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งกล้าที่จะทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ แม้จะยังไม่แน่ใจในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แต่ต้องกล้าเสี่ยงที่จะลอง และเรียนรู้จากผลที่เกิดขึ้น พร้อมปรับปรุงตนเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ซึ่งแนวคิดการทำงานแบบ อไจล์ นั้นอาจจะฟังดูดี และกระตุ้นให้คนทำงานสร้างสรรค์นวัตกรรมออกมาได้ แต่หาก HR จะลองนำไปประยุกต์ใช้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณาบริบทรอบข้างประกอบด้วย เพราะ อไจล์ ไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กร และไม่ได้เหมาะกับทุก Project เสมอไป

เริ่มจากเล็ก ๆ ทดลองให้แน่ใจก่อน ค่อยขยายผล

แนวคิดแบบ อไจล์ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว หากองค์กรพิจารณาแล้วอยากจะทดลองนำแนวคิดแบบ อไจล์ ไปใช้กับงาน HR ควรทดลองกับทีมหรือ Project เล็ก ๆ ก่อน ช่วยกันปรับความคิดของทีมงานให้สอดคล้องกับ อไจล์ ซึ่งการทำงานครั้งแรกย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นวิธีการทำงานที่ทีมไม่คุ้นเคย

ดังนั้นต้องพยายามพูดคุยกันในทีมบ่อย ๆ เพื่อหาปัญหาให้เจอ และแก้ไขปรับปรุงเรื่อย ๆ ถ้ามีแนวโน้มที่ดีขึ้น ค่อยขยายผลทดลองกับทีมหรือ Project ที่ใหญ่ขึ้นต่อไป แต่ถ้าหากไม่มีการทดลองใช้แล้วประกาศเป็นนโยบายให้ทุกทีมในองค์กรทำเลย อาจจะทำให้เกิดการต่อต้าน และไม่เปิดรับแนวคิดในการทำงานรูปแบบนี้

สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการทำงานแบบ อไจล์

หัวใจสำคัญของแนวคิดการทำงานแบบ อไจล์ คือ “คน” การสื่อสารระหว่างกัน และการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่ง HR จำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมในองค์กรหรือในทีมให้เอื้อต่อการใช้แนวคิดการทำงานแบบ อไจล์ ให้มีประสิทธิภาพ โดยต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ที่คำนึง ดังต่อไปนี้

  • ให้การเคารพในความเป็นปัจเจกบุคคลของกัน และกัน ไม่ว่าความแตกต่างนั้นจะเป็นเรื่องเพศ อายุ วัยวุฒิ และทักษะความสามารถต่าง ๆ ความหลากหลายของคนในทีมนี้จะสามารถทำให้เราทำงานที่มีคุณค่าตอบโจทย์คนในวงกว้างได้
  • เชื่อมั่นว่าแต่ละคนจะทำงานของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้สำเร็จ บริหารจัดการงานต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง มีแรงจูงใจที่อยากจะพัฒนาตนเองให้เก่งขึ้นอยู่เสมอ
  • กระตุ้นให้เกิดการสื่อสารในทีม เพื่อให้ทีมมองเห็นเป้าหมายตรงกันว่าเราจะทำงานในทิศทางไหน ทุกคนเข้าใจกระบวนการการทำงานซึ่งกันและกัน ใครติดปัญหาหรืออยากแก้ไขปรับปรุงอะไร จะได้มีการร่วมมือแก้ไขกันได้อย่างรวดเร็ว
  • ไม่จำกัดเฉพาะแค่เรื่องที่เป็นปัญหาเท่านั้น ถ้ามีเรื่องที่ชอบ พอใจ หรืออยากจะชื่นชมทีมก็สามารถทำได้ เพื่อเป็นการช่วยให้ทีมมีกำลังใจในการทำงานต่อไป นอกจากนี้ยังสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทีมจะเปิดใจที่จะนำเสนอความคิดเห็น หรือแนวคิดใหม่ ๆ ในการทำงานได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
  • กระตุ้นให้คนในทีมปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เมื่อได้รับความคิดเห็นไม่ว่าจะจากทีม หรือพนักงานคนอื่นที่เกี่ยวข้องก็ต้องรีบกลับมาปรับปรุง แก้ไขทันที เปิดใจให้กว้าง พร้อมเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตนเองและทีมเสมอ นอกจากนี้ต้องไม่รอแค่ความคิดเห็นจากคนภายนอกเท่านั้น แต่ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอด้วย

Agile

สุดท้ายนี้จากแนวคิดทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า ผลกระทบจากเทคโนโลยีได้ และต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงง่ายและไวตามกระแสของโซเชียลมีเดีย ทำให้แนวคิดการทำงานแบบ อไจล์ (Agile) กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับองค์กรที่ต้องทำงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถม

แม้ว่าสุดท้ายแนวคิดดังกล่าวจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ในทุกบริบท แต่สิ่งที่ทุกคนในองค์กรสามารถเรียนรู้และปรับใช้ได้คือ ความยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ ตลอดจนเรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นไม่ว่าทีมหรือองค์กรจะใช้วิธีการทำงานในรูปแบบไหน คนทำงานก็พร้อมที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพได้อยู่เสมอ และองค์กรก็จะสามารถเดินไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ 
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการและผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่