Blockchain เทคโนโลยีสำหรับ FinTech ในอนาคต เปิดมุมมองดิจิทัล เวนเจอร์ส ผู้ศึกษาและพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์เกี่ยวกับ Blockchain
Blockchain เทคโนโลยีสำหรับ FinTech ในอนาคต
ปัจจุบันธนาคารและสถาบันการเงินชั้นนำทั่วโลกกำลังตื่นตัวในเทคโนโลยี Blockchain ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะเป็นนวัตกรรมที่ช่วยยกระดับการทำธุรกรรมทางการเงินในหลายรูปแบบที่ผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ ทั้งในแง่ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และการลดค่าใช้จ่าย
เช่นเดียวกับองค์กรภาครัฐของไทยที่มีส่วนในการกำกับทิศทางในภาคการเงินการธนาคารก็กำลังมุ่งศึกษาการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมนี้เพื่อสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกดังกล่าว อีกทั้งเพื่อผลักดันให้ประเทศพร้อมเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
ทั้งนี้ ดิจิทัล เวนเจอร์สจึงได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัท Ripple ผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยี Blockchain โดยมีวัตถุประสงค์ในด้านการลงทุน การศึกษา เพื่อทดลองระบบการโอนเงินข้ามประเทศผ่าน Blockchain ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในการนำเทคโนโลยีนี้มาเชื่อมโยงกับโครงข่ายการทำ Cross Border Payment หรือระบบการโอนเงินข้ามประเทศแบบเรียลไทม์ให้เกิดขึ้นจริง
สุวิชชา สุดใจ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายผลิตภัณฑ์ดิจิทัล บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด อธิบายเกี่ยวกับ Blockchain ว่าหากพูดถึง Blockchain หลายคนจะนึกถึงบริการสกุลเงินดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Bitcoin ซึ่งจริง ๆ แล้ว Bitcoin เป็นเพียงหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการดำเนินการเท่านั้น
โดย Blockchain เทคโนโลยีสำหรับ FinTech คือระบบการทำงานบนฐานข้อมูลออนไลน์ประเภทหนึ่งที่ช่วยให้การทำธุรกรรมเป็นไปได้รวดเร็วขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งยังโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ จากเดิมที่ปัจจุบัน ข้อมูลต่าง ๆ จะถูกเก็บไว้ที่ใดที่หนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ในขณะที่ Blockchain ใช้ระบบการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบที่อนุญาตให้สมาชิกในระบบทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้
Blockchain มีส่วนคล้ายคลึงกับอินเทอร์เน็ตในแง่ของการเก็บข้อมูล เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นระบบที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ โดย Blockchain สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ Private Blockchain และ Public Blockchain
ซึ่งหากเปรียบเทียบว่า Public Blockchain คืออินเทอร์เน็ต ในแง่ของการอนุญาตให้ทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูลในระบบได้อย่างเท่าเทียมกัน Private Blockchain ก็จะเปรียบเสมือนอินทราเน็ต (Intranet) ที่จำกัดสิทธิ์ให้เฉพาะบุคคลหรือบางหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตจากทางระบบในการเข้าถึงข้อมูลนี้ได้
ทั้งนี้เทคโนโลยี Blockchain ไม่ใช่ก้าวถัดไปของอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียลมีเดีย แต่เป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบยิ่งกว่าอินเทอร์เน็ต 2 เท่า เพราะได้เข้าไปทลายกำแพงในด้านขั้นตอนและกระบวนการ ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และทำให้ผู้ใช้งานไม่ถูกจำกัดในกฎระเบียบหรือค่าธรรมเนียมของผู้ให้บริการมากเกินไป
วันนี้เราไม่สามารถบอกได้ว่าจริง ๆ แล้ว Blockchain คืออะไร แต่รู้ไว้ว่าคือเทคโนโลยีโปรโตคอลชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเชื่อมโยงกันด้วยโครงสร้างจากหลาย ๆ แห่ง หลาย ๆ คนจะนึกถึง Cloud Computing แต่จริง ๆ แล้ว Blockchain เป็นมากกว่า Cloud เพราะทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ และนำไปทำประโยชน์ได้หลายรูปแบบ
ในปัจจุบัน Blockchain ได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ในการโอนเงินข้ามประเทศ เพราะ Blockchain จะช่วยลดทอนขั้นตอนในการโอนเงิน ช่วยเอื้อประโยชน์สำหรับภาคธุรกิจในด้านการลดต้นทุน ในขณะที่ลูกค้าเองก็จะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่สะดวกและรวดเร็วขึ้น
อาจจะบอกได้ว่า Blockchain จะก้าวขึ้นมาเป็นเทคโนโลยีอันทรงอิทธิผลแห่งอนาคตในอีกไม่ช้า ซึ่งในขณะนี้มีธนาคารชั้นนำทั่วโลกกว่า 50 แห่งที่ได้เข้าร่วมในระบบ Blockchain เพื่อพัฒนาการโอนเงินข้ามประเทศนี้แล้ว อาทิ Standard Chartered, Royal Bank of Canada (RBC), Westpac, National Australia Bank (NAB), Mizuho Financial Group (MHFG)
อย่างไรก็ดี Blockchain อาจต้องอาศัยเวลาในการสร้างการรับรู้และเข้าใจถึงบทบาทและประโยชน์ เช่นเดียวกับอินเทอร์เน็ตที่กว่าจะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันและมีอิทธิพลต่อชีวิตผู้คนในวงกว้างก็ต้องอาศัยเวลากว่า 20 ปี