สำหรับองค์กรที่มีงบประมาณในการลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูล Data Center ของตนและได้ลงทุนไปแล้ว และคิดว่าเพียงพอต่อความต้องการในวันนี้ก็คงมองภาพไม่ออกว่าทำไมจึงต้องเช่าใช้บริการของผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูล
แต่หากวันนี้องค์กรจำเป็นต้องขยายตัวทางธุรกิจ และต้องการขยายศูนย์ข้อมูลเพื่อรองรับข้อมูลมหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ติดตรงที่ว่า หากขยาย Server แล้ว โหลดที่จ่ายให้ Server อาจไม่เพียงพอ เพราะการออกแบบในตอนแรกไม่ได้ออกแบบไว้เพื่อรองรับการขยายตัว
หรืออาจติดปัญหาตรงพื้นที่ไม่พอวางตู้แร็ค หรือพื้นที่ในการวางเครื่องสำรองไฟ เครื่องปรับอากาศมีไม่เพียงพอ หรืออีกหลาย ๆ ปัญหาที่จะเป็นอุปสรรคในการขยายศูนย์ข้อมูล (Data Center) ซึ่งปัญหาเหล่านี้องค์กรที่มีศูนย์ข้อมูลของตนเองต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง แต่องค์กรต่าง ๆ จะรู้ได้อย่างไรว่าศูนย์ข้อมูลที่มีอยู่ยังมีจุดอ่อนหรือปัญหาตรงจุดไหน
หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดคือการประเมินศูนย์ข้อมูลในอดีต การตรวจสอบ และแก้ไขปัญหาในจุดที่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็น ห้องสู่แร็ค (Room to Rack) หรือการต่อช่องเย็น (Cold Aisle) ก่อน ซึ่งจะช่วยให้สามารถวางแผนการใช้งบประมาณได้
แต่อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น เรื่องของการลงทุนใช้ศูนย์ข้อมูลสำหรับธุรกิจในวันนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงไม่ใช่เพียงการเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัว แต่ยังรวมไปถึงการลงทุนในงบประมาณที่เหมาะสม ทั้งในเรื่องระบบรักษาความปลอดภัย การเชื่อมโยง และสำรองข้อมูลที่สำคัญของธุรกิจ
ยังไม่นับรวมไปถึงโซลูชันสำหรับบริหารการใช้งานส่วนต่าง ๆ ของศูนย์ข้อมูล ฯลฯ อีกมาก ซึ่งหากมองจากแนวโน้มทั้งหมดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องยากสำหรับธุรกิจที่จะสามารถลงทุนเพื่อสร้างความต่อเนื่องให้แก่การดำเนินธุรกิจในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาผู้ให้บริการศูนย์ข้อมูลหลาย ๆ ราย มีการพัฒนาศูนย์ข้อมูลให้มีมาตรฐานมากขึ้น โดยได้เพิ่มการการลงทุนในเรื่องระบบปรับอากาศแบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น (Precision Air) และระบบป้องกันไฟกระชากหรือไฟตก (Backup Power) กันมากขึ้น
ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ใช้บริการของศูนย์ข้อมูลประหยัดเงินมากขึ้น โดย Precision Air จะทำหน้าที่ปกป้องอุปกรณ์ในศูนย์ข้อมูลด้วยการควบคุมอุณหภูมิ (Comfort Cooling) ขณะที่ในส่วนของด้านการรักษาระบบพลังงาน ก็สามารถทำได้ด้วยโซลูชันระบบสำรองไฟฟ้าอัตโนมัติแบบ Double Conversion ซึ่งเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าและพื้นที่เก็บข้อมูล
ทำให้มั่นใจว่าธุรกิจของผู้ใช้บริการจะสามารถดำเนินไปได้ตลอด (Business Continuity) และเรายังเห็นการเพิ่มความหนาแน่นของระบบ (High Density) ที่จะสามารถก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุนในการที่จะสร้างผลผลิตโดยไม่ต้องมีการพัฒนาพื้นที่ใหม่ ๆ มากนัก จากการที่ต้นทุนของการลงทุนใช้สถาปัตยกรรมใหม่ที่มีความหนาแน่นสูงมีมูลค่าน้อยกว่าต้นทุนของอาคารสถานที่
และนี่คือแนวทางทั้งหมดเพื่อรองรับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มมากขึ้นของผู้ใช้บริการที่ต้องการระบบโซลูชันศูนย์ข้อมูลที่หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแบบแยกส่วนหรือแบบรวมศูนย์ และยังต้องรวดเร็ว ยืดหยุ่น มีประสิทธิภาพสูง และสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรควบคู่ไปกับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ติดตามบทความอื่น ๆ ได้ที่ >> Theeleader.com