2560 ปีแห่งความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสถาบันการเงินไทย เมื่อดิจิทัลกำลังก่อให้เกิดผลกระทบในทุกด้านกับสถาบันการเงิน โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของคู่แข่งหน้าใหม่ที่มาพร้อมเทคโนโลยี และขีดความสามารถในการทำธุรกิจ
บนเส้นทางการก้าวสู่ดิจิทัลของสถาบันการเงินเต็มไปด้วยขวากหนาม ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินต้องเผชิญกับความท้าทายจากปลาเล็กอย่าง FinTech ที่อาจหาญท้าทายกับปลาใหญ่ ด้วยขีดความสามารถดิจิทัล ทำให้สถาบันการเงินต้องปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงดิจิทัลอย่างจ้าละหวั่น
มาในปี 2560 นี้ สถานการณ์ทุกอย่างดูจะสุกงอมมากขึ้น ผลจากดิจิทัลกำลังผลักดันให้สถาบันการเงินต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เป้าหมายในการลดต้นทุนในครั้งนี้ ถูกเพ่งเล็งไปที่จำนวนคนและจำนวนสาขาของสถาบันการเงิน
วันนี้สถาบันการเงินต้องยอมรับว่ากว่า 100 ปีที่ผ่านมานั้น ธุรกิจสถาบันการเงินของไทยแม้จะมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการเงินของประเทศ แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างเปราะบาง ปราศจากคู่แข่ง ทำให้สถาบันการเงินเป็นเสมือนเสือนอนกินในสายตานักธุรกิจและผู้บริโภค
ที่ผ่านมา สถาบันการเงินจึงมีการเพิ่มจำนวนคนและจำนวนสาขาเป็นจำนวนมาก เพื่อให้สามารถบริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง โดยไม่ได้สนใจกับไขมันส่วนเกิน (FAT) ที่เกิดขึ้นจากการขาดการบริหารจัดการประสิทธิภาพในธุรกิจ ซึ่งสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยที่อยู่ประมาณ 5% ขณะที่ในประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ไม่เกิน 2% เท่านั้น
การเข้ามาของดิจิทัลจึงเป็นเสมือนไฟช็อตให้สถาบันการเงินตระหนักถึงภัยที่เข้ามาใกล้ตัวและรีบปรับเปลี่ยนให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง
ความเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ปี 2559 เป็นปีแรกที่ธนาคารมีการปิดสาขามากกว่าเปิดสาขา และบางธนาคารที่เป็นของต่างประเทศ เช่น ธนาคาร ซีไอเอ็มบี จำกัด (มหาชน) นั้นมีการปิดสาขาถึง 31 สาขา คิดเป็น 25% ของจำนวนสาขาทั้งหมด ขณะที่ธนาคารอื่น ๆ ก็ปรับตัวตัวทยอยลดสาขาลงอย่างชัดเจน
อีกแนวทางหนึ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2560 คือ Unmanned Banking หรือ ธนาคารที่ไม่ต้องมีพนักงาน ซึ่งเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ และกำลังจะถูกนำมาใช้กับสาขาบางแห่งภายในช่วงกลางปี 2560 นี้
ยุคของ การเงินดิจิทัล คือการลดรายจ่ายให้มากที่สุด
โดยหัวใจของ Unmanned Banking นั้นเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีระหว่าง Financial Terminal ระบบยืนยันตัวตน และเครือข่ายความเร็วสูงเข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าแบบเห็นหน้าได้ ซึ่งบริการดังกล่าวสามารถประยุกต์ใช้กับระบบงาน Teller ของธนาคารและทดแทนพนักงานได้มากกว่า 90%
ขณะที่กลางปี 2560 เช่นเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนจะอนุมัติผู้ให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Peer-to-Peer Lending หรือ P2P Lending เพื่อให้บริการทางการเงินในรูปแบบเงินกู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขเงินกู้นอกระบบให้ได้ ซึ่ง P2P Lending นอกจากจะกระทบกับเงินกู้นอกระบบแล้ว อีกส่วนยังมีผลกระทบกับสถาบันการเงินเช่นกัน
อีกหนึ่งภัยคุกคามทางการเงินที่น่าจับตามอง คือ การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ด้านไอทีของจีน ที่ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจสู่ธุรกิจการเงินและธนาคาร การเข้ามาของยักษ์ใหญ่ดังกล่าวมาพร้อมกับโนวฮาวในการปล่อยกู้แบบอัจฉริยะทั้งการเข้าถึงฐานข้อมูลการเงินที่ธนาคารไม่เคยเข้าถึง หรือการปล่อยเงินกู้ให้กับผู้กู้ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่วินาที เทียบกับสถาบันการเงินไทยที่ใช้เวลามากกว่า 1 เดือนในการพิจารณา
เหล่านี้เป็นแต้มต่อและเป็นความเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดของสถาบันการเงินไทย ทั้งนี้ยังไม่รับ Crowdfunding ที่เป็นผลกระทบกับภาคการเงิน
เวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สถาบันการเงินปรับเปลี่ยนตัวเอง ทั้งลดความใหญ่ ความอุ้ยอ้าย ใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพและความคล่องตัวให้กับธุรกิจ ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเพิ่มผลกำไร… แต่ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดในวันนี้มีเป้าหมายเพื่อความอยู่รอดทั้งสิ้น