Digital Marketing and Security  เมื่อสื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทและมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ หันมาใช้สื่อดิจิทัลในการสร้างแบรนด์ แต่เราก็ควรคำนึงถึงความปลอดภัยด้วยเช่นกัน 

Digital Marketing and Security

อย่างที่กล่าวไป การปรับตัวของตลาดอย่างรวดเร็วเป็นแรงผลักดันให้ธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวและรับเอาเครื่องมือใหม่ ๆ เข้ามาใช้งานกันเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือทางธุรกิจที่ถือว่ากำลังมาแรงและเป็นแนวโน้มที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องปรับตัวตามไปใช้งานกันคงหนีไม่พ้น Digital Marketing ซึ่งนอกจากนักการตลาดรุ่นใหม่จะต้องศึกษาและหาทางนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังต้องทราบถึงข้อควรระวังต่าง ๆ ที่ตามมาด้วยเช่นเดียวกัน

Digital Marketing นั้นเป็นภาพกว้าง ๆ ของการทำการตลาดผ่านเครื่องมือระบบไอที ซึ่งในยุคนี้หมายถึงโลกออนไลน์ที่ไร้พรมแดน โดยอาศัยจังหวะที่ทุกคนสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ พร้อมกับเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลถึงกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ให้นักการตลาดมีเครื่องมือที่ช่วยให้การสื่อสารหรือจัดกิจกรรมต่าง ๆ สามารถทำได้กว้างขวางและตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

แน่นอนว่าการนำ Digital Marketing มาใช้ย่อมก่อให้เกิดประโยชน์ในแง่ของการทำตลาดที่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน มันก่อให้เกิดการเปลี่ยนหลายอย่าง ตั้งแต่รูปแบบและเครื่องมือที่ใช้เกือบทั้งหมดมาอยู่บนโลกดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้มีสิ่งที่ผู้ดูแลระบบด้านไอทีที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมดจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยความเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะตามมา

ในเรื่องของการทำ Digital Marketing นั้นจะมีส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือด้าน “ข้อมูล” และ “ระบบ” ซึ่งทั้งสองส่วนจะเกี่ยวข้องกับระบบความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะเรื่องของข้อมูลซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ

ข้อมูลถือว่าเป็นแหล่งขุมทรัพย์ของการทำ Digital Marketing เพราะมันเป็นตัวที่บ่งบอกและช่วยจำแนกกลุ่มเป้าหมายในตลาดได้อย่างดี ซึ่งนั่นทำให้เราสามารถทำตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุดมากขึ้น ข้อมูลจึงต้องมีความถูกต้อง แม่นยำ และมีปริมาณที่กว้างมากพอจะนำมาประมวลผลได้

โดยข้อมูลเหล่านั้นส่วนมากก็คงหนีไม่พ้นข้อมูลส่วนตัวบุคคลของกลุ่มเป้าหมายหรือลูกค้าของเรานั่นเอง และนี่คือจุดที่สร้างความท้าทายให้กับผู้ที่ดูแลระบบจะต้องหาทางจัดการกับข้อมูลเหล่านี้ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ไม่อย่างนั้นอาจจะเสียความเชื่อมั่นจากกลุ่มลูกค้าได้

Digital Marketing and Security

3 ประเด็นสำคัญที่ช่วยจัดการข้อมูลให้เกิดความปลอดภัย

การกำหนดนโยบายข้อมูลและบังคับใช้แบบ Real-Time

เครื่องมือของ Digital Marketing นั้นมีความสะดวก และรวดเร็วในการทำงานมาก เพราะต้องตอบสนองการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของตลาดอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นภายในองค์กรไม่ว่าจะมีเครื่องมือเป็นของตัวเอง หรือมีการใช้เครื่องมือจากภายนอก จำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดนโยบายการเข้าถึงหรือนำข้อมูลออกมาใช้แบบ Real-Time เพื่อให้มั่นใจได้ว่านักการตลาดสามารถเข้าถึงข้อมูลและหยิบเอาข้อมูลมาใช้งานได้อย่างถูกต้อง ทั้งตามกฎหมายและกฎขององค์กร

โดยเรื่องนี้อาจจะมีความแตกต่างกันไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศหรือนโยบายเฉพาะภายในองค์กร อย่างในกลุ่มประเทศ EU ซึ่งมีข้อกำหนดมากมายเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลของผู้ใช้และการนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ เพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของข้อมูล การบริหารจัดการที่รวดเร็วทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้อย่างมั่นใจว่าสามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้โดยไม่ผิดนโยบายใด ๆ ที่วางเอาไว้

การควบคุมข้อมูล

เนื่องจากข้อมูลที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้นมีมากมาย การจัดระเบียบ คัดแยก และจัดเก็บข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นระบบ จะช่วยให้นักการตลาดสามารถนำข้อมูลมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการลดความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ เช่นการรั่วไหลของข้อมูล รวมถึงการควบคุมการแบ่งปันข้อมูลร่วมกับพาร์ตเนอร์อื่น ๆ ที่องค์กรมีร่วมมือกันไว้ ทั้งหมดนี้จะต้องทราบรายละเอียดของข้อมูลทั้งหมดเพื่อจะบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง

ความปลอดภัยของข้อมูล

เป็นเรื่องที่สำคัญมาก และจัดว่าเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลมากที่สุด เนื่องจากถ้าไม่สามารถควบคุมเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลจะสร้างความเสียหายอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นของลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล สำหรับสิ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลได้ต้องประกอบกันระหว่างนโยบายและการควบคุมข้อมูลที่พูดถึงไปแล้ว พร้อมกับระบบไอทีที่มีความปลอดภัยสูง

ช่องโหว่ รูรั่วที่เปลี่ยนแปลงไป ไอทีต้องปรับตัว

นอกจากเรื่องข้อมูลแล้ว สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอีกจุดหนึ่งคือระบบ ซึ่งในสมัยก่อนเมื่อพูดถึง Digital Marketing and Security เราจะนึกถึงการวางระบบความปลอดภัยบนเซิร์ฟเวอร์หรือเน็ตเวิร์ก ซึ่งหมายถึงการแพตช์ช่องโหว่ต่าง ๆ ของซอฟต์แวร์ การติดตั้งไฟร์วอลล์ การป้องกันการบุกรุกต่าง ๆ ที่เจาะเข้ามาทางระบบเครือข่าย รวมถึงเซอร์วิสต่าง ๆ ที่รันอยู่บนเซิร์ฟเวอร์

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องพื้นฐานที่แม้ว่ามีความสำคัญอยู่ แต่ก็ล้าสมัย เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นออนไลน์ รูปแบบการโจมตีก็เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการป้องกันจึงต้องเปลี่ยนแปลงตามด้วยเช่นกัน

รูปแบบการเจาะระบบของแฮกเกอร์ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื่องจากการเจาะเข้าสู่หลังบ้านผ่านอินฟราสตรักเจอร์ที่มีความซับซ้อนและระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาเป็นเรื่องที่สามารถทำได้อย่างยากลำบากจนมีน้อยคนนักที่สนใจจะทำ เป้าหมายจึงตกไปอยู่ที่หน้าบ้านหรือตัวเว็บไซต์ที่มีความปลอดภัยน้อยกว่าแทน เราจึงเห็นรูปแบบของการแฮกหน้าเว็บ ฝังมัลแวร์ หรือดักจับข้อมูลที่มากขึ้น เพราะนอกจากจะตรวจจับได้ยากแล้ว ยังเป็นการโจมตีต่อ “ข้อมูล” ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดสร้างผลกำไรได้อย่างมากมายในตลาดมืดอีกด้วย

กลไกทั่วไปของแฮกเกอร์นั้นจะคล้าย ๆ กัน คือการสำรวจระบบผ่านเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีเพื่อเก็บข้อมูลของเป้าหมายให้ได้มากที่สุด แล้วหาช่องโหว่เพื่อเข้าไปในระบบและฝังตัวเพื่อทำตามจุดประสงค์ ซึ่งอาจจะเป็นการฝังมัลแวร์ การดักจับข้อมูล หรือจุดประสงค์อื่น ๆ

ดังนั้นนอกจากจะทำความเข้าใจระบบโครงสร้างทั้งหมดที่ใช้แล้ว ซอฟต์แวร์หรือเครื่องมือประกอบอื่น ๆ ที่อยู่บนเว็บซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนก็ต้องให้ความสำคัญด้วย การเปลี่ยนแปลงเวอร์ชัน การนำเอาปลั๊กอินหรือส่วนเสริมใดมาใช้ควรจะต้องได้รับการทดสอบให้มั่นใจ หรือถ้าไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้จริง ๆ ควรจะต้องมีการตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอและตอบโต้การแฮกได้อย่างรวดเร็วพอ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น

CMS ถือว่าเป็นหนึ่งในช่องโหว่ที่ควรจะต้องคำนึงถึง หากคุณกำลังคิดเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ทุกวันนี้หลายองค์กรต้องการความง่าย สะดวก รวดเร็วในการปรับแต่ง เราจะเห็น WordPress ซึ่งเป็น CMS ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้กลุ่มนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ด้วยความง่ายของตัว WordPress เอง ทำให้ระบบความปลอดภัยไม่ได้สูงอย่างที่หลายคนคิด

ดังนั้นถ้าจะว่าไปแล้ว เว็บไซต์ที่ใช้งาน WordPress รวมถึง CMS ที่ออกแบบมาให้ง่ายต่อการใช้งานถือว่าตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างรุนแรง ทั้งไอทีและนักการตลาดเองควรจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเว็บไซต์เหล่านี้ และพยายามควบคุมความเสี่ยงที่มีต่อข้อมูลให้ได้มากที่สุด

อีกประเด็นที่พูดถึงกันมากคือ SSL Certificate หรือที่เราค้นกันในชื่อ HTTPS หรือ Secured Web เป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ถูกนำมาใช้ในโลกออนไลน์ รวมถึงการทำ Digital Marketing อย่างไม่ต้องสงสัย พูดง่าย ๆ คือมันเป็นการเข้ารหัสข้อมูลที่ถูกส่งจากผู้ใช้ไปยังเว็บ เพื่อป้องกันการดักจับระหว่างทาง

แต่สิ่งที่น่ากังวลคือ SSL Certificate นั้นมีหลายเกรด และไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยทุกตัว บางตัวสามารถป้องกันได้จริง แต่บางตัวก็มีไว้แค่ให้บราวเซอร์โชว์ว่าการเชื่อมต่อปลอดภัยเท่านั้นเอง ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้ได้ว่าข้อมูลของพวกเขาจะปลอดภัย แต่ก็เป็นแค่การฉาบหน้า เพราะข้อมูลที่ถูกส่งอาจจะไม่ได้เข้ารหัสเลย และนั่นคือความเสี่ยงที่นักการตลาดจะต้องรับผิดชอบหากเลือกเครื่องมือที่ผิด

นี่เป็นเพียงแค่ไม่กี่กรณีที่เราจะได้เจอกันบ่อย ๆ กับปัญหาด้านความปลอดภัยของการทำการตลาดบนโลกออนไลน์ ปัญหาอื่น ๆ ยังมีอีกมากมาย ซึ่งส่วนที่สำคัญคือทั้งนักการตลาดและฝ่ายไอทีที่ทำหน้าที่สนับสนุน รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีและเครื่องมือที่ใช้ รวมถึงการติดตามข่าวสารเรื่องภัยคุกคาม หรือรูปแบบการโจมตีใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาอีกด้วย

ติดตามเรื่องอื่น ๆ ได้ ที่นี่