Fintech  เป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ซึ่งปีที่ผ่านมา กระแสฟินเทคมีบทบาทต่อเศรษฐกิจในบ้านเราเป็นอย่างมาก แต่ในภาพรวม ประเทศไทยยังมีอุปสรรคใหญ่ที่ยังก้ามข้ามไปไม่ได้

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีผลกระทบกับรูปแบบ ประเภท และกระบวนการของการให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิม การพัฒนาทางการเงินแบบดิจิทัล หรือ Fintech การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของอุปกรณ์แบบพกพาและเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงลักษณะขององค์กรและโมเดลทางธุรกิจ

Fintech

เนื่องจากผู้บริโภคแสวงหาประสบการณ์แบบพกพาทางอิเล็กทรอนิกส์และที่มีความเสมือนจริง อุตสาหกรรมธนาคารถูกท้าทายด้วยแนวคิด เมื่อไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ (Anytime, Anywhere) ซึ่งเป็นการให้คำมั่นว่าจะให้บริการลูกค้าในทุกเวลาและทุกที่ที่พวกเขาต้องการ

นอกจากนี้ ผู้แข่งขันรายใหม่ในอุตสาหกรรมกำลังแยกการธนาคารแบบดั้งเดิมซึ่งกำลังส่งผลกระทบกับสินทรัพย์ หนี้สิน และธุรกิจตัวกลาง

การนำเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า คลาวด์ คอมพิวติ้ง ระบบการสื่อสารไร้สายความเร็วสูง มาประยุกต์ใช้ในระบบการเงินการธนาคาร ส่งผลให้ธนาคารแบบดั้งเดิมมีการปรับตัวจากการใช้เทคโนโลยีเพื่อรองรับแนวคิดธนาคารแบบเสริมความมั่นคงแข็งแกร่งไปเป็นธนาคารแบบรองรับอนาคต

เราเรียกการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจด้านการเงินการธนาคารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคจากแบบเดิมไปสู่สิ่งใหม่นี้ว่าฟินเทคที่มาจากการผสมคำว่า Finance กับ Technology เข้าด้วยกันนั่นเอง

เปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมการเงินด้วยฟินเทค

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสฟินเทคมีบทบาทต่อสังคมและเศรษฐกิจยุคดิจิทัลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากข้อมูลวิจัยจาก Accenture พบว่ามีการลงทุนจำนวนสูงถึง 10.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2559) ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าเงินลงทุนกับฟินเทคในยุโรปและสหรัฐอเมริการวมกันเสียอีก

 

ทั้งหน่วยงานระดับประเทศและบริษัทเอกชนได้ให้ความสำคัญกับกระแสของฟินเทคที่จะมาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย เห็นได้จากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการจัดตั้งฟินเทคของตัวเอง ขึ้นเพื่อศูนย์กลางในการอำนวยความสะดวกในการสร้างระบบนิเวศของฟินเทคที่โปร่งใส และเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและแลกเปลี่ยนความคิดเพื่อสามารถเปลี่ยนอุตสาหกรรมการเงินของจีนผ่านฟินเทค

ในขณะที่สิงคโปร์ก็มีการจัดตั้ง Singapore FinTech Consortium ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนา การปฏิสัมพันธ์ และการเร่งความเร็วของระบบนิเวศของฟินเทคในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเน้นการทำงานร่วมกันในตลาดทั้งหน่วยงานราชการ, สถาบันการเงิน, บริษัทเอกชน นักลงทุน

แม้แต่ธนาคารกลางของสิงคโปร์ยังมีการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า “Regulatory Sandbox” และพัฒนาข้อกำหนดสำหรับการใช้งานและการทดลองเทคโนโลยีใหม่ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินสำหรับบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจด้านฟินเทค รวมไปถึงธนาคารกลางของฮ่องกงเองก็ได้จัดตั้ง FinTech Facilitation Office (FFO) เพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาระบบนิเวศของฟินเทคในฮ่องกง

ตั้งไข่ฟินเทคประเทศไทย

ในปี 2559 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้มีการจัดตั้งสมาคมฟินเทคแห่งประเทศไทยขึ้นเพื่อสนับสนุนความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคของไทย โดยมีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. เป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์ทดสอบและพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ เพื่อเป็นตัวเร่งสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทค และเป็นศูนย์บ่มเพาะหลักสำหรับผู้ประกอบการ

2. เป็นหน่วยงานหลักในการสร้างระบบนิเวศฟินเทคในประเทศไทย อันประกอบด้วยฟินเทคสตาร์ทอัพ สถาบันการเงิน หน่วยงานกำกับดูแล ศูนย์บ่มเพาะ นักลงทุน และคู่ค้าทางธุรกิจอื่น ๆ และ 3. จัดทำแผนพัฒนาฟินเทคแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นแผนงานหลักในการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดนั้น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังอยู่ในระหว่างการหารือร่วมกัน 3 หน่วยงาน คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ ก.ล.ต. เพื่อตั้งศูนย์ประสานงานกับธุรกิจฟินเทค โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

ในภาคเอกชนนั้นก็ได้ให้ความสำคัญกับฟินเทคเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการเป็นผู้ลงทุน (Venture Capital) ให้กับ เหล่าฟินเทค สตาร์ทอัพ หรือลงทุน-ร่วมทุนเพื่อจัดตั้งฟินเทคเพื่อปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมของลูกค้ายุคดิจิทัล ดังที่เห็นได้จากข่าวความเคลื่อนไหวของธนาคารและบริษัทเอกชนรายใหญ่ในระยะนี้ และ ก.ล.ต. เพื่อตั้งศูนย์ประสานงานกับธุรกิจฟินเทค โดยคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า

รวมไปถึงการมีการมีบริษัท Startup ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับธุรกิจการเงินการธนาคารและประกันภัย ไม่ว่าจะเป็น PeerPower กับสโลแกนที่ว่าแบงก์ไม่มีความหมาย, aBorrow กับบริการจับคู่เงินกู้ผ่านเว็บ, Smart Contract กับแนวคิดเรื่องธุรกรรมไร้เอกสาร, PetInsure ที่เน้นประกันภัยสัตว์เลี้ยง รวมถึง FundRadars กับแนวทางธุรกิจข้อมูลซื้อขายกองทุน

ตั้งเข็มทิศ เดินไปในทางเดียวกัน

แม้เราจะเห็นความเคลื่อนไหวจากกลุ่มอุตสาหกรรมการเงิน การธนาคาร และการประกันภัย ทั้งฝั่งของรัฐบาลและเอกชนที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในการเริ่มต้นปรับตัวเข้าสู่ยุคของฟินเทค แต่อุปสรรคสำคัญที่อาจขัดขวางไม่ให้ฟินเทคประเทศไทยเดินหน้าไปอย่างราบรื่นก็คือการขาดการวางแผนในการขับเคลื่อนระบบนิเวศอย่างชัดเจนเป็นระบบ และยังขาดความร่วมมือเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

ฟินเทคของไทยจะมีศักยภาพและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็ต่อเมื่อเกิดความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยจะต้องมีการวางแผนและมองภาพรวมให้ครบทุกด้าน ซึ่งหัวใจสำคัญคือต้องมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อสร้างระบบนิเวศของฟินเทคไทยให้เข้มแข็งและนำพาผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายไปในทิศทางเดียวกัน

อาทิ หน่วยงานที่กำกับดูแลและควบคุมกฎระเบียบ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องปรับกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นกับผู้ประกอบการกลุ่มฟินเทค ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความรวดเร็วในการเกิดบริการใหม่ ๆ หรือความได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน หรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องช่วยกันสร้างความรู้ความเข้าใจ รณรงค์ให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสร้างความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

อ่านเรื่องอื่นๆ เกียวกับ ฟินเทค