การรับประกันคุณภาพหรือ Quality of Service (QoS) ของเครือข่าย IP นับวันยิ่งมีความสำคัญกับองค์กรมากขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่ Video Stream ที่ใช้ในองค์กร แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) อีกด้วย
คิวโอเอส (QoS) คือ การจัดการบริหารแบนด์วิดธ์หรือช่องทางของระบบเครือข่าย หากเราลองนึกสภาพการจราจรบนถนนที่มีทางแยก ซึ่งแน่นอนว่าผู้ใช้รถแต่ละคนต้องการที่จะไปก่อนต่างก็แย่งกันใช้เส้นทาง ทำให้กลายเป็นปัญหาการจราจรที่ไม่มีระเบียบ แต่หากมีการกำหนดสัญญาณไฟจราจร เพื่อเป็นการบริหารเส้นทางที่มีอยู่อย่างจำกัด ก็จะทำให้มีการจัดระเบียบการจราจรที่ดีขึ้น
หน้าที่ของระบบบริหารแบนด์วิดธ์แนี้ก็จะมีลักษณะที่คล้าย ๆ กันดังที่ได้เปรียบเทียบกับการจราจร โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับการจัดสรรเส้นทางแบนด์วิดธ์ในระบบเครือข่ายที่มีอยู่อย่างจำกัด
หลักการทำงานของ QoS
คิวโอเอสจะเข้ามาทำหน้าบริหารจัดการแพ็กเก็ตข้อมูลที่สูญหายไป หรือเกิดการหน่วงช้า และถูกสัญญาณรบกวนจนบิตข้อมูลผิดพลาด อันมีสาเหตุมาจากเครือข่าย IP ที่ใช้รับส่งข้อมูล โจทย์ใหญ่ของนักเทคนิคอยู่ที่แบนด์วิดธ์ขององค์กรที่มีอยู่จำกัดที่ค่าหนึ่งและยากที่จะขยายความกว้างได้อีก
ดังนั้นจึงต้องหาว่ามีแอพพลิเคชันใดที่จะได้รับประโยชน์จากการจัดการคิวโอเอสเมื่อผู้ดูแลระบบเครือข่ายสามารถเลือกแอพพลิเคชันที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษได้แล้ว ขั้นต่อไปก็คือการวิเคราะห์ทราฟฟิคข้อมูลที่ใช้โดยแอพพลิเคชันเหล่านั้น ซึ่งมีวิธีการหลายแบบ ตัวอย่างเช่น CoS (Class of Service) อันเป็นการระบุค่าข้อมูล Streaming ในระดับ Layer 2 และ DSCP (Differential Code Point) อันเป็นการระบุใน Layer 3 เมื่อกำหนดค่าได้แล้ว ขั้นต่อไปก็เป็นการจัดกลุ่มให้กับข้อมูล Streaming ออกตามกลุ่ม ๆ ตามที่ต้องการ
การนำไปใช้งาน
คิวโอเอสนั้นนอกจากจะใช้ในเรื่องของการจัดการคุณภาพของเสียงและวิดีโอแล้ว มันยังเอาใช้ในงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะยุค IoT ที่กำลังจะเข้ามาอย่างที่ได้เรียนไปข้างต้น ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มโรงงานผลิต ซึ่งเครื่องจักรหลาย ๆ อย่างจะเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับระบบเครือข่ายมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะสามารถส่งผ่านข้อมูลสถานะการทำงานหรือปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเรียลไทม์ ซึ่งหากมีการล่าช้าในการส่งข้อมูลอาจจะทำให้เกิดความเสียหายเป็นเงินมหาศาลก็เป็นได้ แต่ถ้าหากเรานำเอาคิวโอเอสมาใช้ในการบริหารเครือข่ายในส่วนของโรงงานผลิต เพื่อเอาไว้ดูข้อมูลที่ถูกสตรีมและส่งมาเรื่อย ๆ ก็จะช่วยให้เรามองเห็นและตรวจสอบข้อมูลได้ดีกว่าเดิม
อีกกรณีหนึ่งก็คือเอาไปใช้ในการสตรีมข้อมูลของพวกเซนเซอร์อัจฉริยะทั้งหลายในโปรเจ็กต์ใหญ่ ๆ ของ IoT เช่น Smart Building หรือแม้กระทั่ง Smart City ก็ตามแต่ ข้อมูลที่ส่งมาวิเคราะห์นั้นอาจจะประกอบด้วย อุณหภูมิ ความชื้น ตำแหน่งที่ตั้ง ช่วงวินาทีที่สำคัญ (ช่วงวินาทีที่สำคัญอาจจะชี้วัดสิ่งสำคัญได้หลายอย่าง) ซึ่งจำเป็นต้องมีการส่งผ่านข้อมูลที่รวดเร็วและเป็นอันดับต้น ๆ ในการทำงาน
แต่หากเป็นองค์กรใหญ่ ๆ ควรใช้ระบบจัดการเครือข่าย หรือ Network Infrastructure Management System ที่มีความสามารถมากกว่า ซึ่งการใช้ ระบบคิวโอเอสจะมีการใช้งานร่วมกับฟัง์ชันการทำงานอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น Web Filter สำหรับกรองการใช้งานเว็บไซต์ Port Filter สำหรับการกรองช่องทางการใช้งานของแอพพลิเคชันต่าง ๆ
ซึ่งหากเป็นการตั้งค่าระบบคิวโอเอสทั่วไปของอุปกรณ์แต่ละยี่ห้อจะมีให้กำหนด ช่วงไอพีของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่จะมีการจำกัด คิวโอเอสและจะมีให้ตั้งค่าความเร็วสำหรับ Download และ Upload ข้อมูล นอกจากคุณสมบัติอื่น ๆ ก็จะขึ้นอยู่กับยี่ห้อของแต่ละอุปกรณ์ก็จะมีระบบตั้งค่าแตกต่างกันออกไป
ปัจจุบันระบบคิวโอเอสนอกจากจะเป็น Software แล้ว ก็จะมี Hardware ที่จะทำหน้าที่ในการบริหารเครือข่ายโดยตรง ซึ่งจะมีราคาค่อนข้างสูงและจำเป็นต้องใช้เจ้าหน้าที่ไอทีที่มีความชำนาญสูงในการตั้งค่า ดังนั้นส่วนใหญ่แล้วจะนิยมใช้งานในองค์กรที่มีขนาดใหญ่
แต่ถึงอย่างไร ระบบคิวโอเอสจะใช้งานได้เฉพาะระบบเครือข่ายภายในองค์กรเท่านั้น ไม่สามารถครอบคลุมถึงการใช้งานบนมือถือส่วนตัวของพนักงานได้ แต่ในปีนี้กำลังจะมีกฎหมายสำหรับผู้ประกอบการที่จะสามารถไล่พนักงานออกโดยไม่ได้รับสิทธิตอบแทนใด ๆ เลยในโทษฐานที่ใช้เวลาทำงานทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม