ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมกำลังมุ่งสู่หน้า Industrial Internet of Things (IIoT) โดยจะมีการพัฒนาศักยภาพของตัวเองในหลาย ๆ ด้านเพื่อสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ ดังนั้นหลายองค์กรจึงมีการเพิ่มการลงทุนในเรื่องของบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาและนำโซลูชัน IIoT มาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่
จากการที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ Thailand 4.0 ที่ทุกภาคส่วนมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตมาใช้เป็นกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ สำหรับภาคอุตสาหกรรม ก็นับเป็นการพลิกโฉมวงการมาสู่ Industry 4.0 หรือ อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีสำคัญอย่าง Industrial Internet of Things (IIoT) ที่จะเปลี่ยนโรงงานธรรมดาให้มีความเป็นอัจฉริยะ และช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บริษัท อินทรี ดิจิตอล จำกัด บริษัทในกลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง หรือ อินทรีกรุ๊ป หนึ่งในบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสหกรรมปูนซีเมนต์ ได้เห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยี IIoT มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานภายในโรงงาน
โดยได้ร่วมมือ ซิสโก้ ผู้นำด้านระบบเน็ตเวิร์กประสิทธิภาพสูง และ ฟูจิตสึ ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระบบบริหารจัดการภายในโรงงาน เพื่อนำเทคโนโลยีต่างมาสร้างเป็นโครงข่าย Digital Connected Plant ที่จะเชื่อมโยงข้อมูลของส่วนต่าง ๆ เข้าด้วยกัน
อิฑยา ศิริวสุกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทรี ดิจิตอล จำกัด ก้าวแรกของปูนอินทรีคือการนำ Digital Technology มาใช้ แล้วจึงค่อยทำ Business Model Transformation เป็นก้าวถัดไป โดยมุ่งเน้นว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่นำมาใช้นี้จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจเป็นหลัก ทำให้การผลิตมีความเสถียร แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
โดยแบ่งออกเป็น 11 ส่วนของธุรกิจที่จะทำการ Transform ด้วยการเริ่มต้นจากการปรับปรุงโรงงานผลิตทั้งหมดด้วยการทำ Pervasive Network เชื่อมต่อระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร และคนกับเครื่องจักร
โดยคีย์เวิร์ดสำคัญของ Industry 4.0 คือคำว่า Connected คือการใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในการส่งผ่านข้อมูลจากภาคส่วนการผลิตมาวิเคราะห์แล้วทำให้การผลิตมีต้นทุนที่คุ้มค่าที่สุด การบำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์ก่อนที่มันจะมีปัญหา เพื่อทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในแง่ของ Operation ได้ และการทำให้พนักงานมีความปลอดภัยจากการทำงาน ซึ่งทั้งสามส่วนนี้คือหัวใจสำคัญของการนำ IIoT มาใช้ภายในบริษัท
อิฑยาให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า โครงการ Digital Connected Plant ในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงของ Pervasive Network ซึ่งทำให้วิศวกรภายในโรงงานทำงานได้อย่างคล่องแคล่วและรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่อีกไม่นาน ระบบทั้งหมดจะถูกสร้างให้เสร็จภายในปีนี้ และจะถูกนำมาใช้บริหารจัดการระบบทั้งหมดตั้งแต่ฝ่ายการผลิต การควบคุมการผลิต การคาดเดาความเสื่อมของอุปกรณ์ ขั้นตอนการซ่อมบำรุง รวมทั้งติดตามวิศวกรที่ทำงานอยู่ในภาวะความเสี่ยงให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นสิ่งที่ดี แต่สกิลของพนักงานก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ใช้งานที่จะต้องพร้อมใช้งานเทคโนโลยีเหล่านั้นให้ได้ และในมุมของปูนอินทรีก็คือบุคลากรหน้างานทั้งหมดที่จะต้องใช้งานเทคโนโลยีเหล่านี้เป็น
โดยบริษัทจะใช้วิธีการทำให้วิศวกรมีส่วนร่วมในโครงการตั้งแต่แรก เพื่อให้วิศวกรเข้าใจว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะนำมาใช้นั้นมีอะไรบ้าง รวมถึงมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเข้าใจว่าเทคโนโลยีเหล่านั้นถูกนำมาใช้เพื่ออะไร และการทำงานของตนจะดีขึ้นอย่างไรได้บ้างจากการมาของเทคโนโลยีเหล่านี้ และกระบวนการในการทำ Change Management ก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันเพื่อให้เกิดประประสิทธิภาพสูงสุด
ความสามารถของ Digital Connected Plant
- มี Pervasive Network เชื่อมต่อ Sensor ผู้ใช้งาน และทุกระบบ Application ต่าง ๆ เข้าด้วยกันอย่างทั่วถึงและปลอดภัย
- เชื่อมโยงข้อมูลและเหตุการณ์ต่าง ๆ เข้ากับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการนำ Tablet หรือแว่น AR/VR มาใช้งานเพื่อตรวจสอบสภาพเครื่องจักรและกระบวนการต่าง ๆ ได้แบบ Real-Time และสั่งงานกับระบบอื่น ๆ เช่น การสั่งซ่อมบำรุง ได้ทันที
- เครื่องจักรก็ถูกปรับปรุงให้มีความชาญฉลาดมากขึ้นด้วยการนำ Machine Learning มาใช้งานเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาก Sensor ในเครื่องจักรและทำนายอนาคตล่วงหน้า สามารถรับรู้ได้ว่าระบบใดในเครื่องจักรมีปัญหาล่วงหน้า และแก้ไขได้เฉพาะส่วนของเครื่องจักร ลดต้นทุนในการดูแลรักษาระยะยาวโดยไม่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นการทำ Predictive Maintenance นั่นเอง
- มีข้อมูลเพื่อทำงานร่วมกับเหล่า Contractor ในโรงงานให้ได้มากที่สุด มีประสิทธิภาพได้ดีที่สุด และมีความปลอดภัยในการทำงานสูงสุด โดยเฉพาะในขั้นตอนของการซ่อมแซมเครื่องจักรต่าง ๆ ภายในโรงงาน
- สุดท้ายข้อมูลทุกอย่างจะถูกส่งไปที่ห้อง Warroom ควบคุมทุกอย่างได้จากระบบศูนย์กลาง ทำให้ปูนอินทรีสามารถรับรู้สถานะของทุก ๆ โรงงานที่กระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แบบ Real-Time ทั้งในแง่ของ IT และ OT