จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ภัยคุกคามเพิ่มขึ้นมากขึ้น และเพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้เท่าทัน ล่าสุดทาง เคพีเอ็มจี ประเทศไทย จัดการแข่งขัน KPMG Cyber Security Challenge 2017 โดยมีนิสิต นักศึกษาจำนวน 12 ทีม จากมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ร่วมประลองความท้าทาย เพื่อทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์
โดยการแข่งขันในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ และให้ความรู้กับเยาวชนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบัน ซึ่งในการแข่งขัน นิสิต นักศึกษาแต่ละทีมจะได้ใช้ทักษะและความสามารถในด้านการตรวจสอบพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ (Digital Forensics)
การตรวจสอบช่องโหว่ของเว็บและโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile and Web Application Exploitation) ช่องโหว่ของระบบเครื่องข่ายและระบบปฏิบัติการ (Network and System Exploitation) การวิเคราะห์การทำงานของมัลแวร์ (Malware Analysis) การทำวิศวกรรมย้อนกลับ (Reverse Engineering) การเข้ารหัส (Cryptography)
และการรักษาความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) เพื่อวิเคราะห์และแก้ปัญหาโจทย์ต่างๆ ในเวลาเดียวกัน และหลังจากการแข่งขันที่เข้มข้นในการทดสอบทักษะด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ตลอดทั้งวัน ทีม CPCUCTF จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้ารางวัลชนะเลิศ และทีม 555+ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คว้ารองชนะเลิศ
KPMG Cyber Security Challenge 2017
ศรีสุชา ลิ่มทอง กรรมการบริหาร ฝ่ายที่ปรึกษาการจัดการธุรกิจ เคพีเอ็มจี ประเทศไทย กล่าวว่า เคพีเอ็มจี เรามีความมุ่งมั่นในการสร้างความตระหนักในเรื่องภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ โดยเฉพาะในประเทศไทย แม้ภาครัฐมียุทธศาสตร์หนุนกฎหมายรักษาความปลอดภัยโลกไซเบอร์ และเตรียมจัดตั้งกรรมการระดับชาติด้านความมั่นคงไซเบอร์
แต่การรับรู้เรื่องความปลอดภัยในโลกออนไลน์ในระดับประเทศและในภาคธุรกิจควรมีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน อาชญากรรมไซเบอร์ไม่ใช่ภัยไกลตัวอีกต่อไป และการแข่งขัน “เคพีเอ็มจี ไซเบอร์ ซิเคี้ยวริตี้ ชาแรนจ์ 2017″ ในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มของเราในการช่วยสร้างและสนับสนุนความสามารถของเยาวชนรุ่นใหม่ที่จะกลายเป็นกำลังแรงงานในอนาคต
เพื่อจัดการกับภัยคุกคามเหล่านี้ และไม่ใช่เพียงแค่ในอาเซียน อาชญากรรมไซเบอร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ในเวลาเพียงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การโจมตีทางระบบความปลอดภัยไซเบอร์ อาทิ WannaCry Ransomware ที่จู่โจมระบบคอมพิวเตอร์ไปกว่า 200,000 ระบบ ใน 150 ประเทศ
และในเดือนที่ผ่านมา เพียง 1 เดือน มีการรายงานการโจมตีทางไซเบอร์เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ การออกมายอมรับของ Yahoo เกี่ยวกับบัญชีผู้ใช้กว่า 3 พันล้านบัญชีอาจถูกขโมยจากการแฮกระบบครั้งใหญ่เมื่อปี 2013 ซึ่งไม่ใช่แค่ 1 พันล้านบัญชี ตามที่ Yahoo เปิดเผยไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และล่าสุด Bad Rabbit Ransomware ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจคอมพิวเตอร์ในภูมิภาคยุโรป
อาชญากรรมไซเบอร์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมายาวนาน ช่องโหว่จากความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์อยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากการรายงาน Harvey Nash/KPMG CIO Survey 2017 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 1 ใน 3 ของผู้บริหารด้านไอที (32%)
ระบุว่า องค์กรของพวกเขาถูกโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ในช่วง 24 เดือนที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 45% จากปี 2013 และเพียง 1 ใน 5 ของผู้บริหารด้านไอที (21%) กล่าวว่า องค์กรของพวกเขามีการเตรียมความพร้อมรับมือกับการโจมตีไซเบอร์ในระดับที่ดี ซึ่งความเชื่อมั่นดังกล่าวลดลงจาก 29% ในปี 2014
ด้าน สุธรรม ธิติอนันต์ปกรณ์ หนึ่งในตัวแทนทีม CPCUCTF จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบัน มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นใหม่มากมาย ที่ไม่จำกัดเพียงแค่คอมพิวเตอร์อีกต่อไป ของใช้ภายในบ้านกลายเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้านอัจฉริยะด้วยนวัตกรรมไอโอที เทคโนโลยีช่วยให้ชีวิตของเราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ง่ายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ขณะเดียวกัน เทคโนโลยียังสามารถเพิ่มอัตราความเสี่ยงในการถูกโจมตีทางไซเบอร์ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้เต็มไปด้วยประสบการณ์มากมายที่หาไม่ได้จากในห้องเรียน ทั้งยังช่วยให้พวกเราตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในโลกไซเบอร์อีกด้วย
“เรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขัดเกลาเยาวชนที่เปี่ยมความสามารถในการเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ และเรารู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้เห็นศักยภาพที่ยอดเยี่ยมของนิสิต นักศึกษาในปัจจุบัน และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เห็นเยาวชนเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างทางดิจิทัลของประเทศเรา”
ทีม CPCUCTF และทีม 555+ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท และ 30,000 บาทตามลำดับ และจะได้รับการสนับสนุนจากเคพีเอ็มจี ประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน เคพีเอ็มจี ไซเบอร์ ซิเคี้ยวริตี้ ชาแรนจ์ 2017 ที่จะขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ส่วนขยาย * บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ได้มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่