เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การยุบกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และตั้งกระทรวงใหม่ที่ชื่อว่า “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งเป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลพร้อมจะก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
ในอีกด้านหนึ่งนั้น กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ก็มีการขยับขับเคลื่อนในหลายด้าน โดยเฉพาะการร่วมกับหน่วยงานอิสระ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในการผลักดันนโยบายดิจิทัลหลายอย่าง ทั้ง “พร้อมเพย์” หรือการร่วมหารือถึงแนวทางการกำกับดูแล FinTech และการร่วมกันดูแลผู้ใช้งาน Mobile Payment คสทช จึงเตรียมจัดประมูลคลื่ย คลื่น 40 MHz สำหรับ IoT เพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าจับตามองในด้านไอซีทีขณะนี้ยังมีอีกหลายประเด็นที่มีความสำคัญ ทั้ง Internet of Thing (IoT) ประเด็นความปลอดภัยของระบบไอซีที หรือ Cyber Security การเข้ามาของ Blockchain และอีกหลายประเด็น รวมถึงการจัดสรรคลื่นความถี่ที่น่าจะต้องมีการเปิดประมูลเพิ่มเติมใน 1-2 ปีข้างหน้า
เป็นโอกาสดีที่นิตยสาร ELEADER ได้สัมภาษณ์ พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ถึงทิศทางของโทรคมนาคมในปี 2560 วิสัยทัศน์ แผนงาน และความท้าทายของกทค.
ทิศทางโทรคมนาคม 2560
ภาพรวมโทรคมนาคมในช่วงปลายปีนี้และปี 2560 นั้นจะได้รับผลดีจากการขับเคลื่อนของเทคโนโลยี 3G และ 4G โดยจะเห็นความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยมี 4G เป็นโครงสร้างพื้นฐาน
เทคโนโลยีที่ฉับไวจะช่วยให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคเชื่อมต่อกันโดยตรงผ่านเทคโนโลยี ขณะที่ธุรกิจที่เป็นตัวกลางจะมีบทบาทลดลง ซึ่งเป็นผลจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ธุรกิจที่เป็นตัวกลางเช่นธนาคารพาณิชย์จะต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะปัจจุบันมีผู้ท้าทายรายใหม่อย่าง FinTech ที่ได้ข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีมา Disrupt ธุรกิจธนาคาร
ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกะทันหันที่เรียกว่า Disruption ทำให้ธุรกิจที่ลงทุนสูงมากและธุรกิจขนาดใหญ่อาจจะมีปัญหาได้เพราะมีต้นทุนสูงมาก ขณะที่ธุรกิจใหม่ที่ขนาดเล็กแต่มีพลังอำนาจการใช้โซเชียลมีเดีย ใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เช่น คลาวด์ หรือ Mobile ในการทำงาน ช่วยให้เกิดการลดขั้นตอน ลดต้นทุนธุรกิจ ก็จะเกิดการท้าทายระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และธุรกิจเกิดใหม่ เกิดเป็นการช่วงชิงตลาด และการให้บริการที่แปลกใหม่
ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) กำลังมีบทบาทสำคัญ และจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะ IoT จะมีส่วนผลักดันให้เกิดบริการใหม่ ๆ มากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทางธุรกิจของหลายธุรกิจ เช่น ธุรกิจขนส่ง ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย และธุรกิจที่ใช้เซนเซอร์เข้ามาควบคุมจัดการไอโอทีจะก่อให้เกิดการ Disrupt ในหลายเรื่อง
อีกแนวโน้มที่จะมีบทบาทมากขึ้นในปี 2560 คือ เทคโนโลยีของ Encryption และ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็วและจะมีบทบาทมากขึ้นในปี 2560 นี้
จุดเริ่มต้น Cyber Security แห่งชาติ
ในยุคของ IoT เรากำลังพูดถึงอุปกรณ์สื่อสารที่จะเพิ่มขึ้นถึง 10,000 ล้านชิ้นทั่วโลก ซึ่งการกำกับดูแลอุปกรณ์จำนวนมากขนาดนั้น จะก่อให้เกิดปัญหาในการกำกับดูแลอย่างมาก และเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะต้องมีการจัดตั้งหน่วยงานที่ดูแลงานเฉพาะด้าน Cyber Security ขึ้น
ดร. เศรษฐพงค์ให้มุมมองว่า การเกิดขึ้นของ IoT มีผลอย่างมากต่อความมั่นคงทาง Cyber Security เนื่องจากมีวิธีการใหม่ในการจารกรรมผ่านไซเบอร์ เช่น การควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ทำการควบคุมอุปกรณ์เหล่านั้นให้ส่งข้อมูลไปยังจุดเดียวกัน ทำให้เซิร์ฟเวอร์ล่ม หรือระบบไอทีไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการโจมตีที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน และโดยเทคนิคแล้วเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ง่ายสำหรับคนที่มีความชำนาญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Cyber Security จึงต้องตื่นตัวอย่างมาก
“หน่วยงานหนึ่งที่ควรจะมีบทบาทคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Cyber Security ระดับชาติ ซึ่งตอนนี้กฎหมายกำลังเขียนอยู่ กสทช. เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการร่าง แต่เป็นส่วนที่ดูแลในส่วนกิจการโทรคมนาคมและโอเปอเรเตอร์ ไม่สามารถดูแลไปถึงเรื่องอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ คือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการติดตาม ตรวจค้น ผู้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์และแฮกเกอร์ ตรงนี้ต้องมีเจ้าหน้าที่เฉพาะ
ประเทศไทยต้องการความถี่อีก 40 MHz
ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ กลายเป็นความท้าทายในการกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมอย่างมาก โดยเฉพาะการจัดการคลื่นความถี่ให้พอเพียงกับความต้องการ และการดูแลอุปกรณ์ IoT ซึ่งเป็นภารกิจใหญ่ของกทค.
ดร. เศรษฐพงค์กล่าวว่า เนื่องจากกสทช. ต้องดูแลเรื่องของทราฟฟิกที่ประเทศทั้งหมด ขณะที่ไทยกำลังเข้าสู่ Thailand 4.0 Content และการบริการจะวิ่งอยู่บนแบนด์วิธด์ของเครือข่ายโทรคมนาคมทั้งหมด กสทช. จึงต้องวางแผนว่าในทางเทคนิคจะมีความพอเพียงในการรองรับการสื่อสารอยู่หรือไม่ ทั้งสำหรับทราฟฟิกมหาศาลที่วิ่งอยู่ในประเทศ และที่เชื่อมต่อระหว่างประเทศด้วย
เรามองดูแล้วพบว่าอีก 2 ปีไม่น่าพอ และประกอบกับคนไทยไม่เหมือนประเทศอื่น เราใช้ดิจิทัลคอนเทนต์มากติดอันดับโลก ในเกือบทุกแอพพลิเคชัน ทั้ง Line Facebook YouTube ฯลฯ บางแอพพลิเคชันเป็นอันดับ 1 ของโลก ทั้งที่ประเทศไทยมีประชากรเพียง 60 ล้านคน ภายใต้การใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการเกิดขึ้นของคอนเทนต์ใหม่ ๆ เราคาดการณ์ว่าอีก 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะต้องการคลื่นความถี่ไว้ใช้อีก 15-20 MHz ในภาพใหญ่อันนี้เฉพาะการใช้งาน Mobile เพียงอย่างเดียว ไม่รวมไฟเบอร์
แต่ถ้าจะให้มั่นใจว่าพอเพียงกับการใช้งานอย่างแน่นอน อาจจะต้องมีการจัดสรรคลื่นถึง คลื่น 40 MHz สำหรับ IoT ซึ่งตามแผนงานก็คือการจัดการประมูลความถี่ในช่วง 1800 MHz ที่หมดสัญญาจาก Dtac และจัดประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ที่กำลังรวมรวบคืนจากการใช้งานของโทรทัศน์ระบบอะนาล็อก ซึ่งเราเรียว่า Digital Dividend Spectrum การบริหารจัดการคลื่นความถี่ทั้ง 2 ย่านทำให้กสทช. ไม่ห่วงว่าจะมีคลื่นไม่เพียงพอ เพียงแต่เราต้องมีการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวในปี 2561 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า
อีกแผนงานหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ การเกิดขึ้นของไอโอทีทำให้ กสทช. ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการตรวจสอบมาตรฐานของอุปกรณ์ เพราะเครื่องที่ใช้ไอโอทีจะนำเข้ามาในประเทศปีละเป็นล้านชิ้น ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานอย่างดีเพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝัน เช่น อุปกรณ์ไม่ได้มาตรฐาน อุปกรณ์ระเบิด หรือเกิดไฟไหม้อุปกรณ์ อุบัติเหตุเหล่านี้แม้จะเกิดขึ้นเพียง 1 ในล้านชิ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานของอุปกรณ์ให้ชัดเจน และกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน
นอกเหนือจากมาตรฐานด้าน IoT แล้ว อีกประการหนึ่งที่กสทช. ต้องมีส่วนดูแลคือ การกำหนดมาตรฐานด้านความปลอดภัยหรือ Cyber Security ควบคู่กับกาตรวจสอบมาตรฐานอุปกรณ์ ซึ่งในประเด็นความปลอดภัยไซเบอร์นั้น กสทช. เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการกำกับดูแลเท่านั้น แต่ก็ต้องกำกับดูแลให้ดีที่สุด
ผลักดันโอเปอเรเตอร์รายเล็ก
นอกเหนือไปจากการจัดเตรียมประมูลคลื่นอีก 40 MHz แล้ว การสร้างสภาพแวดล้อมในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ ดร. เศรษฐพงค์ให้ข้อมูลว่า ภายใต้โครงสร้างปัจจุบัน ประเทศไทยน่าจะมีโอเปอเรเตอร์ 3 รายหรือเพิ่มอีกก็ไม่น่าจะเกิน 4 ราย จึงไม่แปลกที่การประมูลใน 2 ครั้งที่ผ่านมาจะมีผู้แข่งขันรายเดิม ๆ เข้ามาประมูล ซึ่งโมเดลของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เหมาะสมในระดับโลกนั้นจะมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่ที่ประมาณ 4 ราย
กสทช. ต้องการเพิ่มผู้ประกอบการรายใหม่ ผ่านแนวทาง MVNO (Mobile Virtual Network Operator) หรือการสร้างโอเปอเรเตอร์รายเล็กให้เกิดขึ้น เช่นเดียวกันโมเดลของประเทศเกาหลีใต้ที่มี MVNO รายเล็กหลายราย ที่ช่วยสร้างตลาดในประเทศ และมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ประกอบการรายใหญ่
“เราเองก็พบความสำเร็จ เช่น มีโอเปอเรเตอร์รายหนึ่งที่ชื่อเพนกวิน เจาะกลุ่มรากหญ้า ปัจจุบันขอเลขหมายไปแล้วเกือบ 1 ล้านเลขหมาย เขาเน้นการแข่งขันเรื่องราคาและคุณภาพ อันนี้เป็นความสำเร็จเล็ก ๆ อันหนึ่ง อันนี้เป็นความสำเร็จของเราที่นอกจากการประมูลคลื่นแล้วยังผลักดันรายเล็กเข้าสู่ตลาดได้ตามเป้าหมาย ซึ่งตามเป้าหมายของกสทช. ต้องการให้มี MVNO สัก 3 ราย
กสทช. ปี 2560
สำหรับแผนงานหลัก ๆ ในปี 2560 นั้น ดร. เศรษฐพงค์กล่าวว่า การกำกับดูแลผู้ประกอบการจะเป็นแนวทางหลักในปี 2560 ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนอาจจะสัมผัสไม่ได้นัก แต่ที่จะเห็นคือ การกำกับดูแลอุปกรณ์ IoT ที่คาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านชิ้นทั่วโลกในปี 2560 ในไทยเองน่าจะมีอุปกรณ์ IoT เข้ามาเป็นล้านชิ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเริ่มนำเข้ามาแล้วตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งอุปกรณ์ IoT ทุกชิ้นนั้นจะต้องผ่านการตรวจมาตรฐานจากกสทช.
อุปกรณ์ที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์สุขภาพ วัดความดัน การเต้นของหัวใจ เก็บข้อมูลวันต่อวันและวิเคราะห์สุขภาพให้ผู้ใช้งาน ต่างประเทศมีแล้ว และไทยกำลังจะมี ข้อมูลจะเก็บเข้าฐานข้อมูลของหน่วยบริการสุขภาพหรือโรงพยาบาล ข้อมูลเหล่านี้จะบอกว่า หัวใจเต้นเร็วไป น้ำหนักมากไปนะ จะต้องทำอะไร
อุปกรณ์ IoT เหล่านี้จะใช้งาน Sim Card เฉพาะสำหรับ IoT ที่มีเลขหมาย 13-15 หลักซึ่งเป็นมาตรฐานที่อุปกรณ์พูดคุยกันกับอุปกรณ์ จากนี้โลกจะเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ทำให้บริการรักษาความปลอดภัยดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ภัยรูปแบบใหม่ ๆ เช่น ไซเบอร์ก็จะเพิ่มมากขึ้น เพราะอาจจะถูกแฮกให้ทำอะไรก็ได้
ในอนาคต คนอาจกลัวว่าจะฉลาดเหมือนหุ่นยนต์ บางประเทศออกพ.ร.บ. หุ่นยนต์ เช่น รถที่ขับเคลื่อนเองไปตามเซนเซอร์อาจจะชนกัน แล้วใครจะรับผิดชอบ เพราะหุ่ยนต์ชนกัน ไม่ใช่คน ใครจะรับผิดชอบ เรื่องนี้คนไทยไม่พูดถึง แต่ต่างประเทศพูดถึงแล้ว
นวัตกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2560 และเป็นความท้าทายของกสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องมีการตื่นตัวและวางกฎระเบียบในการกำกับดูแลให้เหมาะสม ไม่ตึงและไม่หย่อนจนเกินไป เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าอย่างราบรื่น และมีการใช้นวัตกรรมได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย