Eleader May 2015

อธิบดีกรมการขนส่งทางออก “ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” 1 ปี กับความท้าทายที่ต้องวางรากฐานให้องค์กรเปลี่ยนผ่านสู่มิติของการใช้ไอซีทีเป็นเครื่องมือในการดำเนินภารกิจทุกด้านให้ทรงประสิทธิภาพในฐานะ regulator

ช่วงระยะเวลา 1 ปี นับจากตุลาคมปีที่ผ่านมา  ก่อนที่จะเกษียณอายุราชการ ของการเป็นแม่ทัพนำพากรมการขนส่งทางบก ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคข้อมูลมหาศาลเชื่อมโยงกันได้ในพริบตา และขานรับนโยบาย Network Centric Base ของกระทรวงคมนาคม ที่มีการทำงานแบบ Network Centric Operation ทำให้ “ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” อธิบดีกรมการขนส่งทางบก มุ่งเน้นความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอซีที มาเป็นเครื่องมือช่วยผลักดันให้องค์กรเกิด Radical Change เพื่อวางฐานรากที่แข็งแกร่งต่อการขับเคลื่อนภารกิจหลัก 3 ด้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ธีระพงษ์ รอดประเสริฐ” อธิบดี กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก มีภารกิจสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.ควบคุมกำกับดูแล ด้านการประกอบการขนส่งประจำทาง และไม่ประจำทาง ทั่วประเทศ 2.งานด้านความปลอดภัย และ 3.งานด้านบริการ ซึ่งทุกภารกิจนี้ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ภารกิจ “ควบคุม-กำกับ-ดูแล”
Information คือหัวใจขับเคลื่อนงาน
ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบก ได้รับการยอมรับว่าเป็นหน่วยงานที่ให้บริการชั้นเลิศต่อประชาชน โดยงานบริการได้แก่ จดทะเบียนรถ ต่อทะเบียนรถ งานด้านใบขับขี่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการนำไอซีทีเข้ามาใช้ทั้งสิ้น ตลอดจนงานด้าน Drive Thru งานด้านใบขับขี่แบบ IC Card งานด้านการออกใบอนุญาต โดยมีระบบ E-Exam และมีระบบ E-Driving ทำให้การให้บริการต่อประชาชนมีความคล่องตัว และรวดเร็ว

ภารกิจด้านความปลอดภัย    ใช้เทคโนโลยีตรวจจับ-ติดตาม
จากปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กลายเป็นความท้าทายในการอำนวยความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน ซึ่งจะทำไม่ได้เลยหากไม่นำไอซีทีมาใช้ในการควบคุม ปัจจุบันมีการใช้ระบบขนส่งอัจฉริยะ (ITS) ซึ่งถือเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล (อินฟอร์เมชัน) ที่สำคัญ ดังนั้นการนำข้อมูลการใช้ถนน ปริมาณการเดินทาง และพฤติกรรมผู้ขับขี่, สถิติอุบัติเหตุ เป็นต้น จากระบบ ITS ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลด้านความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของหน่วยงานอื่นๆ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงสาธารณสุข, ประกันภัย จะมีส่วนสำคัญต่อการเสริมสร้างงานด้านความปลอดภัย

ท่านอธิบดี มองด้วยว่า ปัจจุบันทั้งภาคธุรกิจ/ภาครัฐ ต่างก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้ข้อมูลเพื่อประโยขน์ในด้านโอเปอเรชัน ดังนั้นทางด้านนโยบาย หน่วยงานกำกับดูแลต้องรู้จักนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ ซึ่งกรมฯ กำลังมองภาพว่า ณ วันนี้ทุกคนพกพาสมาร์ตโฟน ทุกคนในประเทศนี้เคลื่อนที่ตลอดเวลา การเคลื่อนที่ของคน คือ สิ่งที่กรมฯ ต้องการ

ดังนั้นหากสามารถได้ข้อมูลเหล่านี้โดยไม่เข้าละเมิดสิทธิส่วนบุคคล และนำระบบที่ชาญฉลาดมาวิเคราะห์รูปแบบการเดินทางได้ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนกำหนดเส้นทาง ที่สอดคล้องกับความต้องการในการเดินทางของทุกคน เมื่อเทียบกับระบบเก่าที่ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกไปสำรวจ ซึ่งช่องทางการรับข้อมูลด้วยสมาร์ตโฟนที่กล่าวมานี้จะเป็นช่องทางให้ได้ข้อมูลสดใหม่ ตลอดเวลา เพื่อนำมาวิเคราะห์จัดทำแผนงานได้อีกหลายด้าน

งานบริการ” ดันคีออส one stop service ให้บริการนอกรั้วกรมฯ
กรมการขนส่งทางบก เป็นหน่วยงานลำดับต้นๆ ที่พัฒนานวัตกรรมงานบริการประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้รับรางวัลผลงานราว 100 นวัตกรรม จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (กพร.) แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นบริการที่ต้องให้ประชาชนเดินเข้ามาหา ซึ่งจากนี้ไปจะปรับแนวรุก โดยนำบริการของกรมฯ ทั้งหมดออกไปนอกหน่วยงาน

ท่านอธิบดี กล่าวสรุปด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์กรมการขนส่งทางบกฉบับใหม่ ระหว่าง พ.ศ. 2559-2563 จะใช้ไอทีเป็นปัจจัยชี้นำ เนื่องจากมองว่า ปัจจุบันกระบวนการทำงานทุกอย่าง ต้องรองรับกระแสของไอที ฉะนั้นไอที ต้องเป็นตัวชี้ว่า ทิศทางของกรมฯ จะเดินทางไปในแนวทางใด และจากนั้น เรื่องโครงสร้าง, คน, กระบวนการ ก็จะตามมา