เอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต ประกาศความร่วมมือใช้โครงสร้างเสาสัญญาณมือถือร่วมกัน ลุยเดินหน้าพัฒนาคุณภาพ เพิ่มประสิทธิภาพเพื่อบริการทั่วไทยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับการใช้งานโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จากการขยายบริการสู่พื้นที่ทั่วไทยได้เร็วขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร รองกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานปฏิบัติการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวถึงความร่วมมือการใช้เสาสัญญาณครั้งนี้ เพื่อลดการลงทุนระหว่างกันของทั้งสองบริษัท และเพื่อให้ได้คุณภาพและบริการที่ครอบคลุมทั่วไทยมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้สนองต่อแนวนโยบายของ กสทช. ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สาธารณูปโภคร่วมกัน และมีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ซึ่งสามารถลดปริมาณการตั้งเสาสถานีฐานซ้ำซ้อน พร้อมทั้งยังเป็นการลดปริมาณเสาสถานีฐานในพื้นที่ชุมชน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ในระดับหนึ่ง
“โดยความร่วมมือครั้งนี้ เอไอเอส ดำเนินการภายใต้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และดีแทค ไตรเน็ต มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการเพิ่มคุณภาพ บริการแก่ลูกค้า 3G 2100MHz ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการรองรับและสนองตอบความต้องการของผู้ใช้บริการ ทั้งของเอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต ทั่วประเทศ และบนความร่วมมือกันครั้งนี้ ถือเป็นโครงการนำร่อง ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ เอไอเอส และดีแทค ไตรเน็ต จะมีเสาทั้งสิ้น 2,000 เสา” นายวีรวัฒน์ กล่าว
ด้านประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และกรรมการ บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด กล่าวว่าดีแทค ไตรเน็ต ได้บรรลุข้อตกลงในความร่วมมือกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในการนำโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของทั้งสองบริษัทออกมาให้ใช้ร่วมกัน ซึ่งนับเป็นมิติใหม่แห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เพื่อตอบสนองการใช้งานผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้อินเทอร์เน็ตมือถือ โดยดีแทค ไตรเน็ต มีสัดส่วนลูกค้าเพิ่มเป็น 23.5 ล้านเลขหมาย (ข้อมูล ณ ไตรมาส 2/2558) ซึ่งได้เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก และยังเป็นการตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล (Digital Economy) ที่ต้องผลักดันให้มีพื้นที่บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือได้ครอบคลุมมากที่สุด
ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกค้าของทั้ง 2 ฝ่ายได้เข้าถึงพื้นที่ใช้งานมากขึ้น เสริมความแข็งแกร่งในการบริการ ลดการลงทุนซ้ำซ้อนสำหรับโครงข่าย จากปัจจุบันที่พบว่ามีหลายพื้นที่ได้ลงทุนซ้ำซ้อนโดยเปล่าประโยชน์ และยังทำให้การขยายสัญญาณเพิ่มพื้นที่ให้บริการ และยังทำให้การปรับปรุงคุณภาพโครงข่ายทำได้รวดเร็วขึ้นด้วย