social trap

เคยมีคำพูดหนึ่งกล่าวไว้ว่า ใครกำข้อมูลเยอะที่สุด นั่นคือผู้แข่งแกร่งที่สุด ซึ่งมันเกิดขึ้นแล้วในยุคนี้ การตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการความรวดเร็ว การเข้าถึงมุมมองและความคิดของผู้บริโภคนั้นจะทำให้ธุรกิจยุคดิจิทัลเติบโตได้อย่างรวดเร็ว สิ่งสำคัญต้องรู้จักนำข้อมูล การใช้เครื่องมือที่มีให้บนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ก ประมวลผลให้เกิดผลลัพธ์ในการทำตลาดได้อย่างตรงจุด

กว่า 150 ปีที่ผ่านมาธุรกิจต่าง ๆ ถูกขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน น้ำมันดิบถูกขุดขึ้นมา ถูกกลั่นให้กลายเป็นน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ใช้ในเครื่องยนต์ ใช้ในการเดินทาง เรียกได้ว่าธุรกิจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อน แต่วันนี้ โลกได้เปลี่ยนไป ปัจจุบันธุรกิจถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลจากโซเชียลมีเดีย ซึ่งได้เปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนไปอย่างมาก และรวมถึงการดำเนินธุรกิจใน ปัจจุบัน เราไม่จำเป็นต้องนั่งรถหรือเครื่องบินนาน ๆ เพื่อไปประชุม ซึ่งมันมีต้นทุนสูง แต่เราสามารถใช้ Skype หรือแอพพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อการประชุม

ถ้าพูดถึงโลกธุรกิจในปัจจุบัน Data เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าน้ำมันเสียอีก มีรายการทีวีชื่อดังรายการหนึ่งในสหรัฐอเมริกา พิธีกรถามความเห็นของนักลงทุนชื่อดังรายหนึ่งอย่าง แอน วินบาลด์ (Ann Winblad) ว่า “What is the next really big thing ?” หรืออนาคตแห่งการลงทุนจะไปในทิศทางใด เธอตอบว่า “เรากำลังเข้าสู่ยุคสมัยที่ข้อมูลนั้นสำคัญกว่าน้ำมัน” คำถามคือเราจะเอาข้อมูลนั้นมาจากตรงไหนกัน หารู้ไม่ว่ามันอยู่แค่หน้าจอเรานี่เอง

ที่ผ่านมาโซเชียลมีเดียไม่ได้สร้างข้อมูลจากตัวมันเอง แต่มันเกิดจากการที่คนประมาณ 1 พันล้านคนได้ช่วยกันแชร์ออกมา ที่ผ่านมาในปี 2015 มีข้อมูลถูกแชร์เป็นสาธารณะกว่า 2,600,000 ล้านข้อความ เฉลี่ยแล้ว 7 ล้านข้อความต่อวัน นั่นหมายถึง 82 ข้อความถูกแช์และเกิดขึ้นใหม่ในทุก ๆ วินาที ด้วยปริมาณขนาดนี้ เราอนุมานได้ว่าผู้คนนั้นใช้โซเชียลอยู่ตลอดเวลา จะมีคำพูดหนึ่งที่ว่า “เขาไม่ได้เล่นบนโลกออนไลน์ แต่เขาใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์” ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกแชร์ล้วนเป็นคอมเมนต์ที่แสดงความคิดเห็น แสดงอารมณ์ เป็นความอยากซื้อ เป็นความอยากได้ เป็นความอยากเปลี่ยน ซึ่งถ้าเราสามารถนำมากลั่นกรองได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว แบรนด์จะสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจได้เป็นอย่างดี

Social TRAP : กับดักของโลกโซเชียล ”ที่ขัดขวางไม่ให้แบรนด์ประสบความสำเร็จ” โดยหลักใหญ่ใจความของ TRAP คือ

T : Too Late ช้า เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบันมีระดับความอดทนต่อการรอได้ไม่นาน หากแบรนด์หรือธุรกิจคู่แข่งก้าวไปเร็วกว่าเพียงแค่ 1 ก้าวก็สามารถแย่งชิงความได้เปรียบไปได้

R : Result = ผลลัพธ์ คือการมองการตลาดออนไลน์แบบตื้นเขินเกินไป ดูเพียงตัวเลขบางอย่าง เช่น ค่า Page View, Traffic, ค่า Click to Rate, ยอด Fan Page, Like เท่านั้น แต่ไม่ได้ดูข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากการใช้เครื่องมือวัดผลด้านอื่นเช่น พฤติกรรมด้านอารมณ์ (Sentiment) เป็นต้น

A : Attitude = ทัศนคติที่ดื้อดึง โซเชียลมีเดียเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ถ้าแบรนด์หรือองค์กรยังดื้อที่จะไม่ปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลง ก็อาจทำให้การวางแผนขององค์กรไม่ประสบความสำเร็จได้ เช่นเรื่องของการให้ความสำคัญกับค่าปฏิสัมพันธ์ (Engagement) มากกว่าค่า Fan Page Like เพราะปัจจุบัน Fan Page Like ไม่มีคุณภาพอีกต่อไป แต่ก็ยังมีบางองค์กรยึดค่าวัดนี้และซื้อขายกันโดยเสียเงินเปล่าประโยชน์

P : Praise = ยกย่อง คือการยกย่องตัวเอง เช่นการว่าจ้างเขียนถึงแบรนด์แบบไม่ตรงกับความเป็นจริง ยังมีแบรนด์ไหนอยู่อีกไหมที่จ้างบริษัทโฆษณาไปพูดบนโซเชียลมีเดีย สถิติที่ในปีที่ผ่านมาของโธธ โซเชียล ชี้ให้เห็นว่านี่คือกับดักที่ทำให้เกิดดราม่ามากที่สุดบนโลกออนไลน์ และเป็นกับดักที่สำคัญที่อาจรอดยาก เพราะบนโลกโซเชียลสามารถจับเท็จได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้แบรนด์พบกับดราม่าหรือ Crisis

ปัจจุบันประชากรของเฟซบุ๊กประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาประมาณ 47 ล้านคน ซึ่งถ้าเทียบกับประชากรในประเทศไทย ถือได้ว่าทะลุ 60% ของจำนวนประชากรในประเทศไทยแล้ว ข้อมูลจากโธธ โซเชียลเผยให้เห็นถึงเวลาการโพสต์ของคนบนเฟซบุ๊กตั่งแต่ เที่ยงคืนถึงเที่ยงวันโดยระบุว่าเวลาสิบโมงเช้าถึงเที่ยงเป็นเวลาที่คนโพสต์มากที่สุด รองลงจะเป็นช่วงเวลาบ่ายถึงสี่โมงเย็น จากนั้นก็หยุด และไปโพสต์เยอะอีกทีตอนสองทุ่มถึงสี่ทุ่ม นี่คือแต่ละช่วงเวลาที่คนไทยโพสต์มากที่สุด ถือเป็นข้อมูลที่สำคัญอีกหนึ่งข้อมูลถ้าคุณจะทำตลาดบนโลกออนไลน์