Eleader May 2015
นาวิก นำเสียง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซันเด โซลูชันส์ จำกัด และคณะกรรมการ สมาคมวิจัยการตลาดแห่ง แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย Digital Economy ซึ่งในหลายๆ ประเด็นเกี่ยวข้องกับโอกาสใหม่ และสิ่งใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยมีสาระดังนี้
นโยบายเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy สามารถยกระดับประเทศไทยให้ก้าวหน้าได้ด้วยการสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชนนำไอซีทีเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มใหักับสินค้าและบริการของตน ซึ่งจะช่วยทั้งการลดต้นทุน การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานการผลิต และการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ ผลลัพธ์ที่ได้คือ ประเทศไทยก็จะหลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลางมาสู่รายได้ที่สูงขึ้น ซึ่งนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้หลายๆ ประเทศประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือ สิงคโปร์
หากแนวคิดนโยบายเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัลเกิดผลที่เป็นรูปธรรมโดยหลักการแล้ว ประชาชนย่อมได้ประโยชน์มหาศาลจากนโยบายดังกล่าว อาทิ
สินค้าและบริการที่ถูกลง เทคโนโลยีสารสนเทศช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น ก็จะส่งผลให้ราคาสู่ผู้บริโภคลดลง ผู้บริโภคก็จะมีตัวเลือกของสินค้าและบริการที่มากขึ้นด้วยเช่นกัน
ความสะดวกสบายมากขึ้นในการได้รับบริการ เพราะจะเกิดการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ประชาชนก็จะมีโอกาสซื้อสินค้า และบริการโดยไม่ต้องเดินทาง รวมไปถึงบริการของภาครัฐด้วย การดำเนินธุรกรรมจะเป็นระบบอินเทอร์เน็ตเช่นกัน
เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีจะช่วยให้เกิดการต่อยอดในการผลิตสินค้าและบริการ ทำให้เกิดสินค้าและบริการใหม่ออกสู่ตลาด ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่จะเป็นงานที่ต้องการทักษะทางด้านไอซีทีมากขึ้น
สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ประชาชน เมื่อธุรกรรมสามารถดำเนินการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้และระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นที่แพร่หลายและใช้งานง่ายขึ้นทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ประชาชนก็จะมีโอกาสสร้างธุรกิจของตัวเองผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ เป็นการลงทุนที่ต่ำเพราะไม่ต้องมีหน้าร้านจะเป็นโอกาสทางการค้าที่สำคัญ นอกจากนี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนได้อีกด้วย
สร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชน การเรียนการสอนจะเข้าสู่ระบบ E-learning ที่สามารถเรียนและสอบผ่านทางออนไลน์ได้ ทำให้การศึกษาเข้าถึงประชาชนได้ทุกที่ โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามายังศูนย์กลางการศึกษาในเมืองหลวงหรือจังหวัดอีกต่อไป
ทั้งนี้นโยบายเเศรษฐกิจดิจิทัลจะเป็นจริงได้ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะหน่วยงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมไอซีที โดยสิ่งที่ควรจะผลักดันอย่างจริงจัง ประกอบด้วย
โครงสร้างพื้นฐานจะต้องพร้อม อาทิ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ครอบคลุมทุกพื้นที่ การบริหารจัดการ Internet Gateway ให้มีความปลอดภัยและเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ Internet Data Center แห่งชาติ เป็นต้น
พัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล เช่น การสร้างมาตรฐานวิชาชีพของเจ้าหน้าที่ไอซีที การพัฒนาองค์ความรู้ให้กับประชาชนและโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ไอซีที ฯลฯ
การส่งเสริมธุรกิจ E-commerce เช่น ผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมออนไลน์ การส่งเสริมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ การให้ความรู้การดำเนินธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
ผลักดันภาครัฐเข้าสู่ E-Government จากการศึกษาพบว่าภาคราชการ รัฐวิสาหกิจและการศึกษาของรัฐมีการใช้ทรัพยากรทางไอซีทีเพียงร้อยละ 15% ของมูลค่าตลาด ซึ่งน้อยมากและเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาครัฐและเอกชน ดังนั้น เราควรจะผลักดันรัฐบาลสู่รัฐบาลดิจิตอล เช่น การออกกฎหมายให้รองรับธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ พัฒนากระบวนการระหว่างภาครัฐและเอกชนให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ สร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตของภาครัฐให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เป็นต้น