ปัจจุบัน มีตัวอย่างจากรัฐบาลประเทศใหญ่ๆ หลายประเทศทั่วโลก ที่ให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการเปิดข้อมูลภาครัฐ หรือ Open Government Data เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญสาธารณะ มีรูปแบบเป็นมาตรฐานที่เกิดการบูรณาการข้ามหน่วยงานได้ ทุกคนสามารถเข้าถึงโดยไม่กระทบกับการละเมิดความเป็นส่วนตัว และเปิดกว้างสำหรับนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ ประเทศและกลุ่มประเทศที่เป็นผู้นำด้าน Open Data ล้วนแต่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สหภาพยุโรป, สิงคโปร์, เกาหลี และไต้หวัน
โดยเฉพาะในแง่เศรษฐกิจนั้น มีผลการศึกษาประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจของการเปิดเผยข้อมูลในกลุ่มสหภาพยุโรปว่า มีมูลค่าหลายหมื่นล้านยูโรต่อปี มีบริษัทใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ที่นำข้อมูลมาใช้ต่อ เช่น husetsweb.dk ของเดนมาร์ก ต่อยอดข้อมูลด้านพลังงาน เพื่อช่วยให้ชาวเดนมาร์กปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในบ้าน, ใช้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและข้อมูลเงินสนับสนุนจากภาครัฐ พัฒนาบริการช่วยวางแผนทางการเงิน และค้นหาคนงานก่อสร้าง เป็นต้น (อ้างอิงหนังสือ Open Data Handbook ฉบับภาษาไทย)
หันกลับมามองประเทศไทย จากข้อมูลล่าสุดของการจัดอันดับ Open Data World Ranking ระบุว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 57 ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งอาจมาจาก ที่ผ่านมาเรายังมีการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานรัฐในรูปแบบ Open Data ที่สนับสนุนให้ประชาชนและองค์กรธุรกิจ สามารถเข้าถึงและนำไปใช้ต่อได้ ยังมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มผลักดันการเปิดเผยข้อมูลอย่างจริงจังแล้ว โดยมีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. (Electronic Government Agency : EGA) เป็นหัวหอกในการผลักดัน
ล่าสุดได้เปิดตัวเว็บไซต์ data.go.th เมื่อเดือนกันยายน 2557 เพื่อเผยแพร่ข้อมูลของภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันมีชุดข้อมูลรวบรวมอยู่เพียง 18 ชุดข้อมูล เมื่อเทียบกับปริมาณหน่วยงานภาครัฐของประเทศไทย ที่มีส่วนราชการอยู่ทั้งสิ้น 150 กรม, รัฐวิสาหกิจกว่า 50 แห่ง, องค์การมหาชนประมาณ 50 แห่ง, องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 7,000 แห่ง ไม่นับรวมสถานศึกษาระดับต่างๆ อีกมากมายทั่วประเทศ
“ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด” ผู้อำนวยการ สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. (Electronic Government Agency : EGA) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมโครงการ Open Government Data โดย สรอ. ได้สร้างข้อกำหนดการเผยแพร่ และเร่งประชุมกับหน่วยงานภาครัฐหลักๆ กว่า 150 หน่วยงาน เพื่อสร้างชุดข้อมูลนำร่องมากกว่า 50 ชุดข้อมูล บนเว็บไซต์ data.go.th ภายในปีนี้ เพื่อให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถดาวน์โหลดไปใช้งานได้
เนื่องจากมองว่า ข้อมูลเหล่านั้น จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างนวัตกรรมบริการใหม่ๆ หรือ Data service innovation โดยมีความมุ่งมั่นว่า ถ้าหน่วยงานรัฐหลายๆ แห่งมีการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาชน หรือผู้ใช้งาน ก็จะมีคนนำข้อมูลนั้นไปใช้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการนำไปพัฒนาต่อยอด
จุดประกาย Data service innovation ประเทศไทย
ดร.ศักดิ์ ยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว จากการที่ สรอ. นำร่องนำข้อมูลละติจูด/ลองติจูด ที่บ่งชี้ชื่อตำบล อำเภอ และจังหวัดขึ้นไปไว้บนเว็บไซต์ data.go.th หลังนำข้อมูลขึ้นสู่ระบบไม่กี่เดือน พบว่ามีผู้ต่อยอดข้อมูลนั้นไปสู่การพัฒนาแอพพลิเคชัน เพื่อให้ตรวจสอบได้ว่า ณ จุดที่อยู่ปัจจุบันนั้น อยู่ในตำบลใด ส่วนใดของประเทศไทย “เมื่อข้อมูลที่ภาครัฐเปิด นำไปผสมผสานกับข้อมูลที่ประชาชนสร้างขึ้นเอง หรือข้อมูลภาคเอกชน จะเกิดนวัตกรรมข้อมูล เกิดบริการใหม่ๆ อีกมากมาย”
“เรามองเรื่องนวัตกรรมและความโปร่งใสควบคู่กันด้วย โดยมองว่า หากมีการนำข้อมูลที่น่าสนใจของภาครัฐขึ้นไปไว้บนเว็บไซต์ ก็จะทำให้เกิดบริการใหม่ๆ ซึ่งนี่คือที่มาของ การผลักดัน Open Data คือ เป็นฐานข้อมูล หรือชุดข้อมูลที่นักพัฒนาสามารถดึงไปพัฒนาได้อย่างสะดวก โดยเป็นข้อมูลสาธารณะที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย สามารถเปิดเผยได้ นำไปใช้ต่อ (Reuse) ได้ โดยจะไม่ครอบคลุมไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในระบบของสำนักทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย”
ทั้งนี้ เมื่อต้นปี 2557 บริษัทวิจัยระดับโลก การ์ทเนอร์ ได้นำเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนการเปิดข้อมูล Open Data ในระดับต่างๆ ว่า กรณีเป็นการเริ่มเปิดภายในองค์กร จะช่วยให้บุคลากรเห็นการทำงานข้ามส่วนงานกันได้, ขยับขึ้นมาเป็นระดับการทำงานร่วมกันได้กับคู่ค้า, การใช้งานเชิงพาณิชย์ (Commercial Use) บริษัทเอกชนต่างๆ เปิดแคตาล็อก เพื่อให้คู่ค้านำข้อมูลในนั้นไปใช้ต่อได้ และขั้นสูงสุดคือ การนำไปใช้เชิงสาธารณะ (Public Use)
ความคืบหน้าล่าสุดขอแผนเดินหน้าโครงการ Open Government Data ของประเทศไทย คือ ขั้นตอนและกระบวนการเผยแพร่ข้อมูล จะต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ OGD ของหน่วยงานรัฐนำร่องทั้ง 150 แห่งขึ้นมา เพื่อคัดเลือกชุดข้อมูลที่ต้องการเผยแพร่ โดยควรพิจารณาชุดข้อมูลที่มีคุณค่าสูง (High-value datasets) หรือเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลายและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ รูปแบบชุดข้อมูลต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานร่วมที่กำหนดไว้ เพื่อเอื้อต่อเป้าหมายตามโรดแมพการพัฒนามาตรฐานข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบที่การบูรณาการข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น เพิ่มคุณค่าของชุดข้อมูล เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น
ส่วนการนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่สู่สาธารณะ ดำเนินการได้ 2 ช่องทาง คือ นำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์หน่วยงานเจ้าของข้อมูล หรือผ่านเว็บไซต์ data.go.th ซึ่งระยะแรกสามารถส่งชุดข้อมูลพร้อมคำอธิบายชุดข้อมูลให้ สรอ. นำขึ้นเผยแพร่ให้ และระยะต่อไป หน่วยงานเจ้าของข้อมูล สามารถนำชุดข้อมูลขึ้นเผยแพร่บน data.go.th ได้เอง โดยจะต้องลงทะเบียนเพื่อสมัครขอใช้บริการผ่านระบบยืนยันตัวบุคคลกลาง
“คณะกรรมการ OGD จะต้องพิจารณาชุดข้อมูลที่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับรวมถึงความเป็นส่วนตัว และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้วย และข้อมูลที่เผยแพร่ จะมีคำอธิบายชุดข้อมูลนั้นๆ เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลมีความเข้าใจ”
ล่าสุด สรอ. ยังได้มีการเซ็นเอ็มโอยูร่วมกับไต้หวัน ในเรื่องการเปิดข้อมูลสาธารณะ ทั้งในเรื่องแพลตฟอร์ม และโครงการที่จะทำงานร่วมกัน โดยไต้หวัน นับเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าของ Open Data อย่างมาก
นอกจากนี้ ยังเตรียมกระตุ้นการพัฒนาต่อยอดในระดับผู้ใช้งาน ผ่านกิจกรรมแฮกกาธอน (Hackathon) เปิดเวทีเฟ้นหานักพัฒนาแอพพลิเคชัน ที่สามารถนำชุดข้อมูลรัฐบนเว็บไซต์ data.go.th ไปต่อยอดพัฒนาแอพพลิเคชันที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้งานได้ โดยจะจัดกิจกรรมลักษณะนี้เป็นระยะๆ และมีเงินรางวัลจูงใจให้นักพัฒนาเข้ามาร่วมแข่งขัน
สปช. มอง “ปฏิรูปข้อมูลเพื่อพัฒนาประเทศ”
“ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน” ประธานกรรมาธิการปฏิรูป วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยนวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึง ความสำคัญของการปฏิรูปข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ ว่า การปฏิรูปข้อมูล มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ประเทศไทย 2575 ที่มุ่งเน้นความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” คือ ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ร่วมกันสร้างสถาบันหลักและสังคมให้มีความเสมอภาคบนพื้นฐานของความปรองดอง การเมืองโปร่งใสน่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ ยั่งยืน ขณะที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง แบ่งปัน และต้องแข่งขันได้
“การเปิดข้อมูลของรัฐ (Open Data) โดยเฉพาะในเรื่องสำคัญที่ควรเปิดเผยนั้น เรามองว่า นี่เป็นเรื่องการปฏิรูปข้อมูลเพื่อการพัฒนาประเทศ โดย สปช. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะเรามองว่า “ข้อมูล” เป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นการเปิดเผย และการใช้ข้อมูล เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่อยู่ทั้งในแกนการปฏิรูป และการพัฒนา ทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการกระจายโอกาสให้ทั่วถึง, การเข้าถึงบริการทั้งของภาครัฐและอื่นๆ ทั่วถึง, ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ, เพิ่มผลิตภาพของประเทศ โอกาสของธุรกิจจะมีมากขึ้น มีความหลากหลายขึ้น”
ทั้งนี้ โจทย์ข้อสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทย มีระบบข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทันสมัย บูรณาการเข้าถึงได้เสมอ โดยถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศเดินไปข้างหน้า, การสร้างความมั่งคั่งและขีดความสามารถในเรื่องของ growth engine (กลไกสร้างการเติบโต) ในเรื่องสังคมผู้ประกอบการ เกิดธุรกิจใหม่ เกิดความเข้มแข็งในธุรกิจเดิม การสร้างศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ระบบวิจัยและสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นการผลักดันประเทศไปข้างหน้าในเชิงเศรษฐกิจ สอดคล้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)
Open Data + พรบ. การอำนวยความสะดวก=จูงใจนักลงทุน
“พงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนากุล” รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าว่า การเดินหน้ายกระดับบริการภาครัฐ ด้วย Open Government Data ว่า ที่ผ่านมา มีเสียงสะท้อนจากภาคธุรกิจ และประชาชน ถึงปัญหาในการรับบริการภาครัฐไปในทิศทางเดียวกัน คือ การติดต่อกับภาครัฐมักประสบปัญหาความไม่สะดวก และมีความลำบากในการรับบริการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับความต้องการและรูปแบบของความเป็นจริง จำแนกปัญหาสำคัญๆ ของการให้บริการภาครัฐ 6 ข้อหลัก ได้แก่
1.ขาดความชัดเจนเกี่ยวกับขั้นตอนที่ซับซ้อน 2.ไม่สะดวกเพราะต้องติดต่อหลายหน่วยงาน และต้องมาด้วยตนเอง 3.ขอข้อมูล/เอกสารจำนวนมากที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว 4.บริการใช้เวลานานและขาดกรอบเวลาที่ชัดเจน 5.ติดตามสถานะได้ยาก และ 6.ขาดการป้องกันความเสี่ยงต่อการทุจริต
ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาแนวทางออกแล้ว พบว่าสามารถใช้ “อิเล็กทรอนิกส์” มาเป็นเครื่องมือแก้ไขความไม่สะดวกในการรบริการภาครัฐได้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกด้านช่องทางบริการประชน, ทันสมัยขึ้น, ข้อมูลเข้าใจง่ายและสอดคล้องกันทุกช่องทาง ไม่ว่าจะไปติดต่อหน่วยงานไหน, ข้อมูลต้องตรงกันในเรื่องเดียวกัน, แนวคิดบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ไม่ต้องไปติดต่อทุกหน่วยงาน ทั้งหมดทำได้โดยการเชื่อมโยงกับดิจิทัล
พร้อมกันนี้ ต้องมีการกำหนดกรอบเวลาดำเนินการชัดเจน ลดการใช้เอกสาร และไม่ขอข้อมูลที่ภาครัฐมีอยู่แล้ว ปัจจุบัน กำลังมีแนวคิดใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่สามารถไปยื่นเพื่อติดต่อราชการที่ไหนก็ได้ โดยกำหนดให้ สรอ. เป็นเจ้าภาพ นำร่องจาก 7 กระทรวงในการลดใช้เอกสาร
ขณะที่ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการประกาศ พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน พ.ศ. 2558 ลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ 21 มิ.ย. นี้ โดยเป็นกฎหมายกลางเพื่อกำหนดมาตรฐานและครอบคลุมทุกงานบริการภาครัฐ ซึ่งจะตอบโจทย์ข้างต้นทั้งหมด เพราะเป็น พ.ร.บ. เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาตต่างๆ ของส่วนราชการที่ประชาชน/เอกชนต้องไปติดต่อ โดยกำหนดให้แต่ละกระทรวงหน่วยงานต้องมีศูนย์บริการร่วม เพื่อประชาชนสามารถไปใช้บริการได้จากจุดเดียว ไม่ต้องเสียเวลาไปติดต่อทีละหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงนั้นๆ อย่างที่ผ่านมา รวมทั้ง เปิดกว้างให้สามารถให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ในอนาคต
แนวทางข้างต้น เชื่อมโยงถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมา ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) มีการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Business) ใน 189 ประเทศทั่วโลก โดยพิจารณาจากองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการขออนุมัติ ขออนุญาตในการเข้าไปประกอบธุรกิจ 10 หัวข้อ และไทยมักติดอันดับ 18-20 ขณะที่ สิงคโปร์ และฮ่องกง รักษาตำแหน่ง 1 และ 2 ติดต่อกันหลายปีมาโดยตลอด
ดังนั้นหากประเทศไทยพัฒนาบริการของหน่วยงานรัฐได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ผู้ขอใช้บริการเข้าถึงข้อมูลได้สะดวก เพิ่มความมั่นใจในเรื่องการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่ได้ ประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะขยับอันดับในผลสำรวจนี้ขึ้นไปอยู่ลำดับต้นๆ ได้ และจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาได้มากขึ้น
โปรดติดตามเรื่องราว Open Government Data ในหัวข้อ Data-driven economy ปักธงยุทธศาสตร์ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยข้อมูล” (ตอนจบ) ได้ใน ELEADER ฉบับประจำเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะกล่าวถึง การขับเคลื่อน “ฝัน” มุ่งสู่ความจริง ซึ่งหมายถึงสิ่งใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปิดเผยข้อมูล