กฎหมายรัฐบาลดิจิทัล หรือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร. หรือ DGA จึงเร่งใช้กฎหมายมาเป็นกลไกสำคัญในการ “นำระบบดิจิทัลมาใช้ เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดภาระเวลาและค่าใช้จ่าย สร้างความโปร่งใส และยกระดับทักษะบุคลากรภาครัฐ” ตามเป้าประสงค์หลักเพื่อปฏิรูประบบการบริหารงานภาครัฐ มุ่งสู่เส้นชัยการเป็นรัฐบาลเปิดที่เชื่อมต่อกัน เพื่อต่อยอดไปสู่การสร้างบริการดิจิทัลภาครัฐแบบครบวงจรและเบ็ดเสร็จ พร้อมเสริมแกร่งบุคลากรภาครัฐให้สามารถนำกฎหมายฉบับนี้ไปเดินหน้าปฏิบัติงานได้อย่างเป็นรูปธรรม
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ประธานในงานสัมมนาเพื่อการสื่อสารสร้างความรู้และความเข้าใจเรื่อง “พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562” ได้กล่าว ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “นโยบายรัฐบาลดิจิทัลเพื่ออนาคตประเทศไทย” ว่า กฎหมายรัฐบาลดิจิทัลฉบับนี้เป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูปในระยะเร่งด่วนที่ได้รับการผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อได้รับการประกาศใช้แล้วกฎหมายนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐเกิดการเชื่อมโยง แลกเปลี่ยน และบูรณาการข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้เกิดการบริหารงานภาครัฐที่เชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง (Connected Government) และที่สำคัญเมื่อภาครัฐเชื่อมโยงข้อมูลเป็นระบบเดียวกันอย่างบูรณาการแล้ว ประชาชนก็สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวในการมีส่วนร่วมกับภาครัฐเพื่อพัฒนาประเทศ ตลอดจนสามารถนำข้อมูลที่ภาครัฐสามารถเปิดเผยได้ไปใช้ประโยชน์ในการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ ได้ต่อไป หรือแม้แต่สามารถใช้ข้อมูลเพื่อตรวจสอบติดตามการทำงานของภาครัฐด้วยเช่นกัน และนี่จะเป็นทางเดินแห่งอนาคตที่เรากำลังมุ่งไปพร้อม ๆ กันทั้งประเทศ เพื่อให้การปฏิรูประบบงานภาครัฐครั้งใหม่นี้สามารถขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ สู่ยุคดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
นางไอรดา เหลืองวิไล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารงานภาครัฐและการบริการสาธารณะนั้นก็เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นหลัก ยิ่งเมื่อเรามีกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล ภาพทุกอย่างจะชัดขึ้นทั้งในด้านการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างเหมาะสม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนให้สะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ช่วยลดภาระทางด้านเวลา ค่าใช้จ่าย การจัดเตรียมเอกสารของประชาชนเมื่อต้องมาติดต่อราชการ อย่างเช่น โครงการยกเลิกสำเนา เป็นต้น อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใส ลดปัญหาการทุจริต มีการเปิดเผยข้อมูลราชการเป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยไม่กระทบความมั่นคงของรัฐและความเป็นอยู่ส่วนบุคคล และที่สำคัญทำให้เกิดการยกระดับทักษะความรู้ของบุคลากรภาครัฐรองรับการดำเนินงานรัฐบาลดิจิทัลซึ่งเป็นพลังที่สำคัญยิ่งที่จะช่วยให้เกิดภาพเดียวกันทั้งประเทศ