ELEADER August 2015
อินเทอร์เน็ต ตัวแปรสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต ยังก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้แก่สังคม และเพิ่มคุณค่าทางวัฒนธรรม เป็นแรงผลักดันให้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย และช่วยเพิ่มผลดีในด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม
แอน ลาวิน หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ Google เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของอินเทอร์เน็ตที่มีต่อประเทศไทยอย่างละเอียดได้ แต่เมื่อปี 2012 จากรายงานการศึกษาของบริษัท McKinsey ทำการศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจในภูมิภาค พบว่าในประเทศมาเลเซียและเวียดนาม ที่มีการนำอินเทอร์เน็ตมาใช้ มีส่วนสนับสนุน GDP ของประเทศโดยเฉลี่ยเกือบ 2% ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว การสนับสนุนในส่วนนี้คิดเป็นถึง 3.4% ของ GDP จุดสำคัญก็คือธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กที่ใช้อินเทอร์เน็ต ได้สร้างการเติบโตเป็น 2 เท่าของธุรกิจที่ยังไม่ออนไลน์และสร้างงานได้มากเป็นเท่าตัว การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตที่เป็นพลังให้กับ SMEs และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ดีสำหรับประเทศไทย
ยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบเพื่อสร้างการเติบโต
รวมไปถึงการจัดทำข้อกำหนด หรือกฎระเบียบที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นการพัฒนาให้เกิดขึ้นในแวดวงดิจิทัล และกฎระเบียบนั้นๆ ต้องเอื้ออำนวยและกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น ประเทศไทยต้องกระตุ้นให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง ให้ความรู้ผู้บริโภคและธุรกิจเกี่ยวกับการขยายโอกาสทางดิจิทัลให้มากที่สุด นำเสนอประสิทธิภาพและประสิทธิผลผ่านระบบ e-government กฎระเบียบต่างๆ ที่มาจากมาตรฐานระดับโลก จะช่วยการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
เนื่องจากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ บนสื่ออินเทอร์เน็ต มีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งกุญแจสำคัญคือการคุ้มครองความรับผิดชอบให้กับสื่อเหล่านั้น สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันก็คือ การมีระบบคุ้มครองข้อมูลที่เข้มแข็งซึ่งนั่นรวมไปถึงการให้การศึกษาแก่ผู้ใช้ด้วย กฎระเบียบต่างๆ จำเป็นต้องชัดเจน คงเส้นคงวาไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา และเอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลประโยชน์อย่างรวดเร็ว
ธุรกิจดิจิทัลสร้างการเติบโต
หัวหน้าฝ่ายนโยบายและความสัมพันธ์ภาครัฐ Google เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวอีกว่า จะเห็นว่าเศรษฐกิจดิจิทัลมีความสำคัญมาก ทุกธุรกิจต้องหรืออย่างน้อยควรใช้ดิจิทัลในทางใดทางหนึ่ง ตัวอย่าง ผลการศึกษาของบริษัท McKinsey ยังระบุว่าธุรกิจ SMEs ที่เป็นดิจิทัล สร้างงานเป็นสองเท่าของธุรกิจที่ไม่ได้ใช้ดิจิทัลเลย อินเทอร์เน็ตมอบโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก บริษัทต่างๆ ที่เป็นแบบดิจิทัลทำรายได้เป็นสองเท่าจากการส่งออกเมื่อเทียบกับธุรกิจแบบไม่ดิจิทัล สำหรับ SMEs อื่นๆ ดิจิทัลให้โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าผ่านช่องทางโซเชียลแพลตฟอร์มต่างๆ ทุกวัน เกษตรกรทั่วโลกประสบความสำเร็จกับการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับอากาศ ผลผลิตและราคาในตลาด ที่สำคัญที่สุดคือผู้บริโภคที่รับรู้เรื่องราคา การวางจำหน่ายและคุณภาพได้ดีขึ้นกว่าเดิม
ในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาผลกระทบของเศรษฐกิจดิจิทัลแพร่หลายมากนัก แต่สามารถศึกษางานได้จากประเทศอื่นๆ และคาดการณ์เกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ ตัวอย่างเช่น การศึกษาจาก Nathan Associated ในปี 2013 พบว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในการประกอบธุรกิจเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ SME ประมาณ 51% และเพิ่มผลกำไรประมาณ 49% โดยเฉลี่ยแล้ว SME รายหนึ่งที่นำอินเทอร์เน็ตมาใช้กับธุรกิจสามารถเพิ่มฐานลูกค้าให้โตขึ้น 7% และสร้างงานเพิ่มขึ้นได้ 4% ประเทศไทยควรได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงหรือมากกว่าตัวเลขข้างต้นนี้
“อี-คอมเมิร์ซ จะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการเติบโตของประเทศในอนาคต แต่เศรษฐกิจดิจิทัลเป็นอะไรที่มากกว่านั้น มันจะนำพาผู้คนให้เข้าถึงการศึกษา เพิ่มพูนโอกาส การเข้าถึง และการชื่นชมวัฒนธรรมอันดีงามของไทยได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลที่ดีขึ้นยังเป็นการพัฒนาคุณภาพด้านสาธารณสุขอีกด้วย” ผู้บริหารกูเกิล กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ กูเกิลคาดหวังว่าการสัมมนาภายใต้หัวข้อ Digital Economy: From Good to Great ซึ่งได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา จะสามารถแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็น และเป็นโอกาสในการพูดคุยเกี่ยวกับความปรารถนาทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เพื่อเรียนรู้จากผู้อื่น และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กันและกันเป็นสิ่งสำคัญ ดิฉันหวังว่า เราจะสามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งนั่นเกินไปกว่าอี-คอมเมิร์ซ และรวมถึงการศึกษา ความคิดสร้างสรรค์ทางศิลปะ และนวัตกรรมอันเกิดจากข้อมูลในทุกภาคส่วนของสังคม การได้เห็นศักยภาพอันเต็มเปี่ยม เพื่อมุ่งไปข้างหน้า และการเติบโตอย่างรวดเร็วเพื่อคนไทยทุกคน