กระแสแห่ง การปฏิวัติอุตสาหกรรม กำลังเคลื่อนที่เข้ามาทุกภาคส่วน สร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างมากกว่าเป็นยุคการมาถึงของไอซีทีเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ผู้ที่เข้าถึงไอซีทีได้นั้นจะมีข้อจำกัดอยู่ 3 อย่าง คือ ไอซีทีเทคโนโลยีนั้นเหมาะกับคนยุคใหม่ที่ทันสมัย เหมาะกับผู้ที่มีการศึกษา และเหมาะกับผู้ที่มีรายได้สูงพอสมควร จนกระทั่งมีคำศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

ยุคสมัยแห่ง การปฏิวัติอุตสาหกรรม เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1800 ที่มีการนำเอาเครื่องมือเครื่องจักรมาใช้งานแทนการใช้แรงงานมนุษย์เพียงอย่างเดียว มีการสร้างระบบโรงงาน (Factory) เพื่อสร้างสินค้าและผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ดำเนินการเป็นลักษณะการผลิตในครัวเรือนที่พ่อค้านักลงทุนซื้อวัตถุดิบและนำไปให้แต่ละครัวเรือนผลิตเป็นสินค้าเมื่อว่างจากการทำการเกษตร โดยได้รับค่าจ้างแรงงานเป็นการตอบแทน จะมีการใช้เครื่องมือแบบง่าย ๆ อาศัยแรงงานคน แรงงานสัตว์ และพลังงานจากธรรมชาติ

แต่ต่อมามีการสร้างเครื่องจักรกลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น สามารถผลิตสินค้าได้เป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว จึงต้องมีการสร้างโรงงานดึงแรงงานจากครอบครัวภาคการเกษตร มีการลงทุนเพื่อสร้างโรงงานซื้อเครื่องจักร มีการแสวงหาวัตถุดิบจำนวนมาก และมีตลาดการค้าเพื่อจำหน่ายสินค้าออกไปให้กว้างขวางมากที่สุด

ยุคสมัยแห่งการปฏิวัติเช่นนี้ได้ดำเนินการมาจวบจนทุกวันนี้ มีองค์กรขนาดใหญ่เกิดขึ้นและเติบโตเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ ก็ตามมาทั้งความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ใช้แรงงานกับนักธุรกิจ นักลงทุน การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง การบริโภคที่ไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจำเป็นจะต้องเกิดขึ้นและหลีกเลี่ยงไม่พ้น การปฏิวัติครั้งใหม่กำลังปรากฏร่องรอยขึ้น

ปัจจุบันนี้กระแสแห่งดิจิทัลกำลังเคลื่อนที่เข้ามาทุกภาคส่วน สร้างแรงกระเพื่อมเป็นวงกว้างมากกว่าเป็นยุคการมาถึงของไอซีทีที่ย่อมาจาก Information and Communication Technology หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา

แต่ไอซีทีให้ความสำคัญกับ ”เทคโนโลยี” เป็นหลัก สร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะผู้ที่เข้าถึงไอซีทีได้นั้นจะมีข้อจำกัดอยู่ 3 อย่าง คือ ไอซีทีเทคโนโลยีนั้นเหมาะกับคนยุคใหม่ที่ทันสมัย เหมาะกับผู้ที่มีการศึกษา และเหมาะกับผู้ที่มีรายได้สูงพอสมควร จนกระทั่งมีคำศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า “ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)”

ต่อมาการพัฒนาเทคโนโลยีไอซีทีต่าง ๆ สามารถสร้างอุปกรณ์ที่มีราคาถูกลงในขณะที่ดีขึ้นและใช้งานง่ายขึ้น รวมทั้งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต การเอาเปรียบเนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันในเรื่องข้อมูลข่าวสารเริ่มลดลง ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบราคาสินค้าชนิดเดียวกันจากหลายแหล่งผู้ค้า และกำลังพัฒนาไปสู่ “ผู้ผลิตเป็นผู้ค้าโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลที่สามารถเข้าถึงลูกค้าเป็นจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นทุนต่ำ ทำให้ธุรกิจพ่อค้าคนกลางประเภท “ซื้อมาขายไป” เริ่มได้รับการสั่นคลอน ประชาชนหันมาใช้สื่อดิจิทัลในการรับและให้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น หลายคนเลือกที่จะอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบออนไลน์แทนมากขึ้น จนเกิดการล่มสลายปิดตัวของสื่อสิ่งพิมพ์หลายสำนักมากขึ้น รวมไปถึงสื่อกระจายเสียงและโทรทัศน์ที่กระแสการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลากับเครื่องวิทยุและโทรทัศน์น้อยลง แต่เลือกที่จะไปใช้เวลามากขึ้นกับอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ ทั้ง สมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ตแทน ทำให้เม็ดเงินโฆษณารายได้ของสื่อกระแสหลักลดน้อยถอยลง

นอกจากนี้ สื่อโซเชียลที่เป็นสื่อออนไลน์ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างกระแสสังคมทั้งมิติการเมืองเพื่อเรียกร้องความต้องการของมวลชนต่อรัฐบาลผู้ปกครองประเทศ นับเป็นจุดการเปลี่ยนแปลงที่นับแต่นี้ต่อไปความสัมพันธ์ประชาชนกับรัฐบาลจะไม่เหมือนเดิม จากเดิมที่รัฐจะเป็นฝ่ายปกครองและประชาชนจะต้องปฏิบัติตาม ด้วยพฤติกรรมของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลง มีความร่วมมือผ่านสื่อดิจิทัล

รัฐจะต้องเปลี่ยนมาเป็นผู้สนับสนุนเพื่อให้ประชาชนเชื่อมโยงถึงกันมากขึ้น นอกจากนี้ประชาชนเริ่มมีการเรียกร้องความยุติธรรมและใช้กระแสสังคมลงโทษผู้ที่กระทำผิดมากขึ้นผ่านเครื่องมือออนไลน์ เช่น การแชร์ การไลค์ผ่าน Line หรือ Facebook ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนมีความรู้สึกว่ากระบวนทางกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้ตามที่คาดหวังและทันเวลา ตอบสนองความเป็นจริง

จากปรากฏการณ์ที่กล่าวมานี้ จะทำการเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วอย่างยาวนานไม่ได้หมายความว่าจะสามารถไปต่อได้ในอนาคตที่มีการเปลี่ยนแปลง กรณีตัวอย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านภาพถ่าย “โกดัก” ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 150 ปี มีพนักงานมากกว่า 150,000 คนกระจายอยู่ทั่วโลก ท้ายสุดก็ได้ปิดตัวลงด้วยการประกาศล้มละลายในปี 2012

instagram logo

ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันที่บริษัทสตาร์ทอัพเล็ก ๆ เปิดมาเพียง 18 เดือนที่ชื่อ “อินสตาแกรม” ที่นำแนวทางดิจิทัลมาให้บริการในการแบ่งปันภาพถ่ายผ่านอินเทอร์เน็ตมาให้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดย Facebook เข้ามาซื้อในราคา 1,000 ล้านเหรียญ

การปฏิวัติดิจิทัลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นแต่เป็นเพราะมีการนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาสร้างเป็นธุรกิจมีบริการใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ดีกว่า ในอนาคตการแข่งขันทางธุรกิจไม่ใช้เป็นเรื่องที่เอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาแข่งขันกับมนุษย์ หรือเอาเทคโนโลยีมาแทนที่มนุษย์ แต่จะเป็นการแข่งขันที่มนุษย์จะเข้าใจนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างความสามารถในการแข่งขัน

การพัฒนาศักยภาพของมนุษย์เองเพื่อเอาเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพนี้เป็นหัวใจที่สำคัญ ความท้าทายต่อผู้นำองค์กรในปัจจุบันจะขึ้นอยู่กับว่าจะนำพาองค์กรให้อยู่รอดและสามารถแสวงหาประโยชน์เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงบริบทดิจิทัล ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “เมื่อพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงมาถึง บางคนก็มุ่งแต่จะสร้างกำแพงกันลมพายุ แต่บางคนทุ่มเทสร้างกังหันลม”