รายงานผลการสำรวจ Digital Transformation Survey 2021
ความเข้าใจและการปรับตัวกับ Digital Disruption ของธุรกิจในประเทศไทย
- ธุรกิจการเงิน และธุรกิจการดูแลสุขภาพ มองว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรง และเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งให้เกิดการทำ Digital Transformationรวดเร็วยิ่งขึ้น
- ผลการสำรวจปี 2564 พบว่าบริษัทที่มองว่าตัวเองกำลังปรับตัวสู่ระบบดิจิทัล และอยู่ในกลุ่มผู้นำในด้านดิจิทัล เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน
- ผลการสำรวจชี้ว่า ตลาดแรงงานกำลังต้องการ นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysts) และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) นักวิเคราะห์และนักพัฒนาซอฟต์แวร์/แอปพลิเคชัน (Software/Applications Developers & Analysts) และผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการตลาดดิจิทัลจำนวนมาก
เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันธุรกิจกำลังเผชิญกับ digital disruption และผู้บริหารทั่วโลกส่วนใหญ่ยอมรับว่าได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มุมมองขององค์กรในประเทศไทย ที่มีต่อ digital disruption และแนวทางในการปรับตัวไปสู่ดิจิทัลจึงมีความสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่ง ดีลอยท์ ประเทศไทย จึงได้ทำการสำรวจ Thailand Digital Transformation Survey ขึ้น เพื่อให้เข้าใจมุมมองและการปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรในประเทศไทย
“เราทำ Thailand Digital Transformation Survey ครั้งแรก ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ถึงต้นเดือนมกราคม 2563 ต่อมาได้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก เราจึงทำการสำรวจเป็นครั้งที่ 2 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงมกราคม 2564 เพื่อหาคำตอบให้ชัดเจนว่าการระบาดของโควิด-19 นั้น ส่งผลกระทบอย่างไรต่อธุรกิจในประเทศไทย การสำรวจ Digital Transformation นี้เป็นรายงานประจำปี ที่ดีลอยท์ ประเทศไทย ตั้งใจจะให้เป็นมาตรฐานในการวิเคราะห์ความรู้สึกที่มีต่อความก้าวหน้าในการปรับตัวสู่ดิจิทัลขององค์กรในประเทศไทย” ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าว
เพื่อเปรียบเทียบให้ชัดเจนว่า ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ธุรกิจในประเทศไทยมีการปรับตัวไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัลแตกต่างกันอย่างไรบ้าง การสำรวจทั้งสองครั้งจึงให้ความสำคัญกับหัวข้อดังต่อไปนี้
- การตีความมุมมองที่มีต่อ digital disruption
- สำรวจการทำ Digital Transformation ในประเทศไทย
- ระบุทักษะที่เป็นที่ต้องการในการทำ Digital Transformation
- ระบุการสนับสนุนจากภาครัฐในเรื่อง Digital Transformation
กลุ่มตัวอย่างของการสำรวจทั้งสองครั้ง เป็นระดับผู้บริหารของบริษัท โดย กลุ่มตัวอย่างของการสำรวจครั้งแรกร้อยละ 19 เป็นกรรมการบริษัท และร้อยละ 16 เป็นผู้บริหารสายการเงิน ในขณะที่การสำรวจครั้งที่สองร้อยละ 34 เป็นผู้บริหารสายการเงิน อีกร้อยละ 30 เป็นผู้บริหารกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และร้อยละ 13 เป็นกรรมการบริษัท
ธุรกิจอุปโภคบริโภคเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีพื้นฐานมาใช้ในองค์กร เช่น เว็บไซต์, แอปพลิเคชันบนมือถือ และคลาวด์ ตั้งแต่ก่อนและหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 79 ของบริษัทที่ร่วมในการสำรวจระบุว่า มีการใช้เว็บไซต์ในการดำเนินกิจการของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 95 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ธุรกิจอุปโภคบริโภคยังแซงหน้า ธุรกิจเทเลคอม สื่อและเทคโนโลยี ในแง่การนำเทคโนโลยีขึ้นสูงมาใช้ในองค์กร เช่น Blockchain, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things โดยก่อนการระบาดของโควิด-19 บริษัทที่มีการใช้ AI มีเพียงร้อยละ 4 และเพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 35 หลังจากมีการระบาดของโควิด-19
ธุรกิจการเงิน และธุรกิจการดูแลสุขภาพ ก็มีการเร่งรัดแผนการปรับองค์กรสู่ดิจิทัลให้เร็วขึ้นกว่าเดิมอย่างมากหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 ธุรกิจทั้งสองแห่งพบปัญหาเหมือนกันประการหนึ่ง คือ การคัดสรรพนักงานตำแหน่งที่เกี่ยวกับดิจิทัลนั่นคือ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และนักวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและท้าทายที่สุดของทุกบริษัท
บริษัทส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 56 ของบริษัทกลุ่มตัวอย่างได้ก้าวเข้าสู่ขั้นตอนการปรับองค์กรไปสู่ระบบดิจิทัล (Digital Adopter) หลังจากการระบาดของโควิด-19 เทียบกับร้อยละ 12 ก่อนหน้าการระบาด ขยับจากการเป็นกลุ่มบริษัทที่เคยอยู่ในขั้นตอนวิเคราะห์ว่าควรปรับองค์กรไปสู่ดิจิทัลหรือไม่ (Digital Evaluator) ลดลงจากร้อยละ 59 ก่อนโควิด เหลือเพียงร้อยละ 12 หลังโควิด
ยิ่งไปกว่านั้น การนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในองค์กร มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นในยุคหลังการระบาดของโควิด-19 ทั้งนี้ไม่รวมถึงระบบอัจฉริยะ และเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น การใช้คลาวด์เทคโนโลยี เพิ่มขึ้นร้อยละ 19, Internet of Things เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และ แอปพลิเคชั่นบนมือถือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 การเพิ่มขึ้นเหล่านี้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าในช่วงการระบาดของโควิด-19 ภาคธุรกิจทั่วประเทศได้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในองค์กรและเป็นไปด้วยความรวดเร็ว
มร.วินเน่ย์ โฮรา พาร์ทเนอร์ ดีลอยท์ คอนซัลติ้ง ประเทศไทย กล่าวว่า “ความท้าทายสำคัญในทำ Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องของตัวเทคโนโลยีเองแต่อย่างใด ตรงกันข้าม อุปสรรคสำคัญ คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายนอกและภายในองค์กร ยิ่งไปกว่านั้นบริษัทในประเทศไทยยังเปิดเผยว่า กำลังเผชิญความท้าทายสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การขาดแคลนพนักงานที่มีความสามารถ วัฒนธรรมดิจิทัลในองค์กร และโครงสร้างการบริหารแบบบนลงล่าง ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเลย แต่เป็นเรื่องของการคัดสรรพนักงานที่มีความสามารถและทักษะที่เหมาะสม เพื่อให้การทำ Digital Transformation นั้นประสบความสำเร็จ”
ผลการสำรวจในปี 2563 ระบุว่าทักษะที่ประเทศไทยต้องการในอันดับแรกๆ คือ การคิดวิเคราะห์ ทักษะด้านนวัตกรรม รวมไปถึงวิธีการเรียนรู้ และการเรียนรู้แบบได้มีการลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งสอดคล้องกับทักษะที่คาดการณ์ว่าจะเป็นที่ต้องการในตลาดโลกในปี 2568 แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีพัฒนาการไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโลก
“เราทุกคนประจักษ์ชัดแล้วว่า การปรับตัวสู่ดิจิทัลมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วมาก ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเกินคาดต่อธุรกิจทุกภาคส่วน ดังนั้นองค์กรธุรกิจจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อม และติดตามความเคลื่อนไหวในเรื่อง Digital Transformation ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางดิจิทัล (Digital Environment) ในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายในขณะนี้” ดร. นเรนทร์ ชุติจิรวงศ์ ผู้อำนวยการบริหาร ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ดีลอยท์ ประเทศไทย กล่าวเสริม