ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร dtac ร่วมประชุมกับนายกฯ และ 40 CEOs พลัส และหอการค้าไทย เสนอมาตรการ 5 ข้อ สู้โควิด-19 แนะเร่งสร้าง “โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล” กระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว พร้อมแนะให้ใช้จุดแข็งเครือข่ายการสื่อสารและบิ๊กดาต้า มาช่วยควบคุมการแพร่ระบาด

วันนี้ (21 กรกฎาคม 2564) นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เสนอนายกรัฐมนตรีในการประชุมหารือร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 40 ซีอีโอ เรื่องการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) (ผ่านระบบ Video Conference) โดยในฐานะภาคโทรคมนาคมพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารและการเข้าถึงประชาชนเพื่อประโยชน์ของประเทศ พร้อมนำเสนอมาตรการ 5 ข้อ เพื่อเร่งฟื้นฟูจากวิกฤตโควิด-19 ดังนี้

1. มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ด้วยจุดแข็งเครือข่ายการสื่อสารและบิ๊กดาต้า

ด้วยฐานข้อมูลที่มีความแม่นยำและรวดเร็วสามารถนำมาจัดการต่อสถานการณ์ควบคุมโรคระบาดได้ทันเวลา ดีแทคสามารถร่วมทำงานกับภาครัฐเพื่อใช้ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตนในการติดตามการเคลื่อนไหวของประชากรเพื่อวัตถุประสงค์ในการติดตามการระบาด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนแผนการของรัฐบาลในการฉีดวัคซีน และระบุพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงล่วงหน้าซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเกิดคลัสเตอร์ใหม่หรือไม่

2. แจ้งข่าวสารด้วยการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพต่อประชาชน

ดีแทคเสนอในการส่งข้อความตรงไปที่กลุ่มลูกค้าที่กำหนดเพื่อการลดความสับสนต่อการประกาศและข้อกำหนดต่อมาตรการต่างๆ และการนำ dtac OneCall ซึ่งเป็นระบบที่เพิ่มความสามารถให้มือถือมาช่วยสนับสนุนรูปแบบคอลเซ็นเตอร์โดยมีระบบจัดการสายโทรเข้าที่มีฟีเจอร์หลากหลายและประสิทธิภาพสูง ที่ทำให้การบริหารทีมคอลเซนเตอร์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ดีแทคขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาการใช้แอปพลิเคชันต่างๆ ถ้ามีการใช้แอปพลิเคชันที่มากเกินไปจะทำให้สับสนต่อการใช้งาน ควรใช้งานแอปพลิเคชันเดียวรูปแบบ Single point เช่น สิงคโปร์ที่มีการสนับสนุนการใช้งานแอปพลิเคชันเดียวด้วยจำนวน 70% ของประชากรจะมีประสิทธิภาพมากกว่า

3. สนับสนุนช่องทางออนไลน์และการใช้เน็ตแก่ผู้ประกอบการ

เนื่องจากการล็อกดาวน์และจำกัดเวลาเพื่อลดการระบาดจากพื้นที่ผู้คนพลุกพล่านซึ่งจะทำให้มีปัจจัยเสี่ยงสูง ดังนั้น ช่องทางออนไลน์จึงสำคัญเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย รวมถึงต้องมั่นใจว่าไม่มีช่องว่างในการเข้าถึงและมีทักษะพื้นฐานที่ปรับตัวมาทำธุรกิจออนไลน์ได้ สำหรับดีแทคได้ริเริ่มโครงการ “เน็ตทำกิน” เพื่อยกระดับทักษะผู้ค้ารายย่อยเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัล ให้รอดพ้นวิกฤตเศรษฐกิจโควิดและได้ทำอย่างต่อเนื่อง

4. เร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาว

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตคุณภาพสูงทั่วประเทศเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง จากวิกฤตจะเห็นได้ว่ามีประชากรย้ายกลับต่างจังหวัดมากขึ้น ความจำเป็นในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกที่จึงมีความสำคัญมากกว่าที่เคย ประเทศไทยต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่จำเป็น และเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะคลื่น 3500 MHz ที่เป็นคลื่น 5G หลักที่ใช้งานทั่วโลก ซึ่งพร้อมที่จะรองรับโซลูชั่นต่างๆ สำหรับดีแทคได้เร่งนำคลื่น 700 MHz ขยายไปมากกว่า 9100 สถานีฐาน เพื่อนำอินเทอร์เน็ตเข้าถึงชุมชนช่วยเรื่องเศรษฐกิจและการเพิ่ม GDP ดังนั้น คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติที่สำคัญที่ควรนำมาจัดสรรใช้งาน ไม่ควรมีคลื่นที่ถูกทิ้งไว้จากการประมูล

5. มาตรการฟื้นฟูประเทศ

  • สนับสนุนธุรกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ: นี่เป็นช่วงเวลาที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment : FDI ) มีความสำคัญอย่างมาก ประเทศไทยต้องดำเนินการลดความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนในประเทศ โดยลดความซับซ้อนของระเบียบข้อบังคับเพื่อชวนนักลงทุนต่างประเทศให้มาลงทุนในประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้
  • การสนับสนุนเศรษฐกิจและสังคม และภาคประชาชนในประเทศ: เพิ่มการสนับสนุนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสำหรับทุกกลุ่ม และต้องมีนโยบายการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสเหล่านั้น การเติบโตหลังเศรษฐกิจที่กระจุกตัวจะนำมาซึ่งปัญหาในระยะยาวสำหรับประเทศได้ โดยการสนับสนุนกลุ่มคนในชนบท และกลุ่มเปราะบางต่างๆ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่พลิกฟื้นเศรษฐกิจ ดีแทคยินดีให้การสนับสนุนกับการฝึกอบรมออนไลน์ และให้ความสำคัญประชากรกลุ่มเปราะบางที่เกี่ยวข้องกับการใช้ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย