เอ็ตด้า เดินหน้าวาง “โรดแมพ e-Standard” ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเล็งพัฒนาต่อยอดทั้ง มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (NPMS : National Payment Message Standard) มาตรฐานข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการ (e-invoice/e-tax invoice) มาตรฐานกลางรหัสสินค้า และบริการสำหรับอี-คอมเมิร์ซ ไปจนถึงบริการลงทะเบียนรหัสสถานที่เพื่อการค้าและขนส่ง (UN/LOCODE) เพื่อเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 2015 โดยสมบูรณ์
ขณะเดียวกัน จัดเสวนา eStandard day โชว์เส้นทางภารกิจเพื่อคนไทย วางรากฐานพัฒนาระบบหลังบ้าน ชี้ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อสร้างมาตรฐานเดียวกันให้สินค้าส่งออก – นำเข้า ช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดอาเซียน และตลาดโลก
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าวว่า พันธกิจหลักของ เอ็ตด้า คือการส่งเสริมการทำ e-Transactions ของประเทศ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เรียกว่า Soft infrastructure ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “มาตรฐาน” อันถือเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานระบบธุรกรรมออนไลน์ของไทย โดย เอ็ตด้า มุ่งพัฒนามาตรฐานหลักสำคัญสองด้าน ได้แก่ มาตรฐานเพื่อสนับสนุน e-Business หรือ e-Trade ซึ่งเป็นมาตรฐานข้อความที่เกี่ยวข้องกับการทำการค้า อาทิ e-Invoice , e-Tax invoice และ มาตรฐานเพื่อสนับสนุนการใช้บริการ e-payment หรือ มาตรฐาน NPMS ซึ่งอ้างอิงจากมาตรฐานสากล ISO 20022
เอ็ตด้าจึงวาง “โรดแมพ e-Standard” สำหรับปี 2559 เพื่อต่อยอดการพัฒนามาตรฐานในส่วนต่างๆ ได้แก่การพัฒนามาตรฐาน NPMS เวอร์ชั่น 3 สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อความการชำระเงินระหว่างธนาคารโดยร่วมกับ National ITMX และธนาคารสมาชิก การจัดทำมาตรฐานกลางรหัสสินค้าและข้อความอิเล็กทรอนิกส์สำหรับการซื้อขายสินค้าเพิ่มเติมโดยทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การผลักดันการใช้มาตรฐาน e-tax invoice และ e-receipt ร่วมกับกรมสรรพากร ตลอดจนการให้บริการลงทะเบียนรหัสสถานที่เพื่อการค้า และการขนส่ง (UN/LOCODE) เพื่อสนับสนุนกรมศุลกากรในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ National Single Window และการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภาคการค้าและการขนส่งบริการลงทะเบียนรหัสสถานที่เพื่อการค้า และการขนส่ง (UN/LOCODE)
เป็นที่คาดการณ์ว่าในปี 2558 และในปีถัดๆ ไป มูลค่าในส่วนนี้น่าจะมีอัตราการเติบโตมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประกอบกับการเข้าสู่เศรษฐกิจอาเซียนในช่วงปลายปี การพัฒนามาตรฐานเพื่อช่วยให้หน่วยงานรัฐ และเอกชนสามารถดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้มาตรฐาน ถูกต้อง และเที่ยงตรงจึงยิ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
“เอ็ตด้า ได้ดำเนินงานสนับสนุนเรื่องนี้ใน 2 กลยุทธ์คือ การจัดทำมาตรฐานเพื่อการสนับสนุนการทำธุรกิจในปัจจุบัน’ และ ‘การศึกษาและจัดทำมาตรฐานสำหรับอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า’ เพราะมาตรฐานมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามนวัตกรรมใหม่ที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การกำหนด
มาตรฐานรหัสสินค้าและบริการได้กำหนดไว้แล้วว่าภายใน 1 ปี จะต้องมีรหัสสินค้าจำนวน 1 แสนรายการ และภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 2-3 แสนรายการ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ e-commerce และผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและตรวจสอบข้อมูลสินค้าได้ ในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชนก็สามารถนำไปประเมินผลวิเคราะห์เชิงสถิติเพื่อช่วยให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพในส่วนนี้” สุรางคณา กล่าวเพิ่ม