Facebook เข้าระบบภาษี e-Service ของไทยอีกราย มีผลตั้งแต่กันยายน 2564 นี้ ใครยิงแอดในนามส่วนตัวหรือในระดับองค์กร ต้องจ่าย VAT 7% ผู้เชี่ยวชาญแนะ หลังจากนี้ผู้ประกอบการควรนำธุรกิจเข้าระบบภาษี เพื่อให้รู้เรื่องบัญชี และภาพรวมของธุรกิจตนเอง ชี้กลุ่มคนที่ขายสินค้าแล้วราคาต่อชิ้นทำกำไรได้ต่ำ รับผลกระทบหนัก
เมื่อวานนี้ (19 สิงหาคม 2564) Facebook แจ้งผู้ใช้งานที่ใช้ระบบ Facebook Business ผ่านทางอีเมลโดยระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป ผู้ลง Facebook Ads ในประเทศไทยที่ไม่ระบุ “หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี” (Tax ID) จะถูกคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% https://www.facebook.com/business/help/562800201396939
โดยการเสียภาษีครั้งนี้ เป็นผลจากการที่บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ที่เข้ามาทำธุรกิจในไทย เช่น Google และ Facebook ต่างต้องเข้าระบบภาษี e-Service ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ. 2564 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป นั่นเอง
สำหรับธุรกิจที่มีหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอยู่แล้ว สามารถเข้าไปเพิ่มหมายเลขดังกล่าวในระบบของ Facebook Ads ได้โดยการเข้าไปที่หน้า Payment Settings (การตั้งค่าการชำระเงิน) เลื่อนลงมาที่ Business Info (ข้อมูลธุรกิจ) แล้ว กด Edit (แก้ไข) จากนั้นกรอกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ลงในช่อง “Tax ID Number” รวมถึงข้อมูลบริษัทอื่นๆ ลงไป และสุดท้าย ทำการกด Save (บันทึก) ได้เลย
หากเรากรอกเลขประจำตัวผู้เสียภาษีถูกต้อง Facebook ระบุว่า จะไม่คิด VAT 7% ในการยิงแอด แต่องค์กรของเราต้องเอาค่าแอดไปคำนวณและจ่ายภาษีตามมาตรา 83/6 ของประมวลรัษฎากร (กฎหมายภาษี) โดย มาตรา 83/6 มีเนื้อหาดังนี้
มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี
(1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
(2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการจากต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักรทั้งนี้ เฉพาะ
(ก) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
(ข) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการอื่นนอกจากบริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้ทุกราย
(3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ
ELEADER ได้สอบถามไปยัง คุณปิติภัทร ปัญญาวรรณ CEO บริษัท 2morrowskill ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดบน Facebook โดยทางคุณปิติภัทรให้ข้อมูลว่า การคิด VAT กับค่าโฆษณาบน Facebook ในครั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการจะแบ่งได้เป็น 2 กรณี ได้แก่
- กรณีที่ 1 คือ ผู้ประกอบการ Electronic ที่จด VAT แล้ว เมื่อกรอกหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี ที่ได้มีการจด VAT ไว้ ระบบโฆษณาก็ไม่คิด VAT 7% เพิ่ม แต่เราก็ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าง ภ.พ. 36 อยู่ดี
- กรณีที่ 2 คือ ส่วนผู้ประกอบการ Electronic ที่ไม่ได้จด VAT เมื่อลงโฆษณาใน Facebook ก็จะถูกคิด VAT 7% แต่จะต้องไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่าง ภ.พ. 30.9 แทน โดยสามารถแจ้งว่า “ค่าโฆษณา” ว่าเป็น “ค่าใช้จ่าย” ได้
ELEADER ขออธิบายเพิ่มว่า การ “จด VAT” ในที่นี้หมายถึง “การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม” โดยธุรกิจที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จะถูกบังคับให้มีการจดทะเบียนดังกล่าว ภายใน 30 วัน อย่างไรก็ตาม แม้รายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็สามารถทำเรื่องจด VAT ได้เช่นกัน หากธุรกิจของคุณมี VAT เป็นต้นทุนหลัก หรือมีลูกค้าที่อยู่ในระบบ VAT
“สำหรับคนที่จดบริษัทอยู่แล้ว น่าจะไม่กระทบอะไรเลย อาจจะไม่ต้องปรับอะไรเลย ส่วนคนที่ยังไม่ได้เข้าระบบเลย พยายามหลบเลี่ยงในส่วนของภาษีอยู่ หรือคนที่ก่อนหน้านี้ ยอดขายไม่ถึงทำให้ไม่ต้องเสีย VAT กลายเป็นว่าต้องเสีย 7% ตรงนี้ขึ้นมา ต้องมีการปรับเรื่องราคาขึ้น เพราะว่า 7% ถือว่าสูงอยู่พอสมควร สำหรับผลกำไรที่ต้องหายไป” คุณปิติภัทร กล่าว
ส่วนอีกกลุ่มธุรกิจที่คุณปิติภัทร มองว่าจะได้รับผลกระทบหนัก คือ กลุ่มคนที่ขายสินค้าที่คำนวณราคาต่อชิ้นแล้วทำกำไรได้ไม่มากนัก เช่น สาย Pre-Order ที่คิดกำไรไม่สูง โดยอาจจะได้กำไรแค่ 30-100 บาท
จากนั้น คุณปิติภัทร แนะนำว่าหลังจากนี้ คนทำธุรกิจทุกคนควรจะวางแผนเรื่องภาษีไว้ล่วงหน้า พร้อมกันนี้ควรเข้าตามระบบและทำตามกฎหมายให้ถูกต้อง ข้อดีเราจะสามารถเติบโตได้อย่างสบายใจและมั่นใจ โดยการยื่นภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยให้เราสามารถเข้ารับความช่วยเหลือเมื่อมีนโยบายที่ภาครัฐช่วยเหลือได้
“บางคน ยอดขายเริ่มกระทบกับธุรกิจ กระแสเงินสดเริ่มไม่พอ ถ้าที่ผ่านมาเรามีการยื่นเอกสารอย่างถูกต้อง เราสามารถใช้เครดิตตรงนี้ในการกู้เงินประคองธุรกิจต่อได้ ถ้าเราไม่ได้ทำไว้ โอกาสที่เราจะหาแหล่งเงินทุนเรียกว่าแทบไม่มีเลย และที่สำคัญคือพอเราได้เข้าระบบจริงๆ เราจะรู้เลยว่า เราควรจะต้องทำสินค้าอย่างไร ขายอย่างไร คำนวณเรื่องบัญชีอย่างไร เพื่อให้เราเติบโตไปแล้ว ยังเหลือกำไรอยู่รอดได้” คุณปิติภัทร กล่าวปิดท้าย