Gistda

จิสด้า (Gistda) ร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ จัดกิจกรรม “เสริมสร้างความเข้าใจ พัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาส สร้างรายได้” ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ 

Gistda ล้ำใช้ เทคโนโลยี แก้ปัญหาความยากจนให้เกษตรกร

จิสด้าร่วมกับ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย บูรณาการร่วมกับหน่วยงานส่วนราชการจังหวัดสุรินทร์ ภาคีเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จัดกิจกรรมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน

และประชาชน “เสริมสร้างความเข้าใจความตระหนักในบทบาทของภูมิสารสนเทศเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตภาคการเกษตร เพิ่มโอกาส สร้างรายได้ และแนวทางเลือกที่เหมาะสม ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ในชื่อ “โคก หนอง นา โมเดล” ณ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

Gistda

โดยความร่วมมือดังกล่าวมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อติดตาม และร่วมแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญกับทุกภาคส่วนระดับพื้นที่ ในมิติเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากร ซึ่งจากข้อมูล จปฐ. ปี 2560 พบว่า ประชาชน 2,583 ครัวเรือนมีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เป้าหมาย 38,000 บาท/ครัวเรือน/ปี มีความสัมพันธ์กับบริบทเชิงพื้นที่ด้วยปัจจัยอะไรบ้าง

เพื่อทำการออกแบบกลไก เครื่องมือ/เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ดิน ทรัพยากรดิน ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรน้ำ การจัดการภัยพิบัติ ในการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานของชุมชนของประชาชนในพื้นตำบลดอนแรด อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์

Gistda

“ภูมิ+สังคม” 

ดร.ศิริลักษณ์ พฤกษ์ปิติกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักประยุกต์และบริการภูมิสารสนเทศ GISTDA กล่าวว่า จิสด้า ได้ทำการลงสำรวจศึกษาบริบทเชิงพื้นที่เพื่อทำการแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหากับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะการเข้าไปสร้างความเข้าใจในประเด็นที่ว่า

“เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” จะช่วยให้ชุมชนสามารถพัฒนาพื้นที่ดินให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไร โดยได้อธิบายว่า “ภูมิ+สังคม” GISTDA มีองค์ความรู้และการถ่ายภาพภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ จำเป็นต้องมีข้อมูลเชิงประจักษ์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบแบบองค์รวมเชิงพื้นที่

ด้วยการศึกษาบริบทพื้นที่ วิถีชีวิต วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น นิสัยใจคอของคนในพื้นที่ เพื่อให้มองเห็นภาพกว้าง มองเห็นพื้นที่ ก่อนลงมือทำลงมือปฏิบัติซึ่งจะเป็นอีกตัวช่วยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ ในพื้นที่ได้ชัดเจนมากขึ้น
เพราะแม้จะมีการลงมือปฏิบัติด้วยใจที่เต็มเปี่ยม ความมุ่งมั่นพัฒนา

แต่หากขาดองค์ประกอบในเรื่องของข้อมูล เครื่องมือ และกลไกการจัดการร่วมนั้น ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาจะทำได้ตรงจุด  โดยเฉพาะในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ที่จะทำให้พี่น้องเกษตรกร ต.ดอนแรด อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ มีแนวทางเลือกที่เหมาะสมต่อการพัฒนาการเกษตรตามแนวทางศาสตร์พระราชา : โคก หนอง นา โมเดล

Gistda

ด้าน บุญล้อม เต้าแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำประสบการณ์ในปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกและน้อมนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวคิดหลักที่สำคัญต่อการดำเนินงานในระยะเวลากว่า 8 ปี

โดยก่อตั้งศูนย์การเรียนรู้ “สวนล้อมศรีรินทร์ จ.สระบุรี” เพื่อพัฒนาร่วมกัน โดยที่ผ่านมาประเด็นปัญหาของพี่น้องเกษตรกรส่วนใหญ่แล้วนั้น จะมีความกังวลและยังคงไม่แน่ใจต่อการปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบผสมผสาน และที่สำคัญยังไม่เข้าใจในหลักคิด หลักการตามแนวทางศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 

ซึ่งพระองค์ท่านทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างที่ดี สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรในพื้นที่ คนยากจน ภาระหนี้สิน ปัญหาภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำแล้ง ดินเสื่อมสภาพ จะทำอย่างไร จะอยู่กันอย่างไร จะทำแบบเดิมๆ หรือจะปรับเปลี่ยนเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ดังนั้นจึงต้องทำตั้งแต่วันนี้ ทำเท่าที่กำลังจะทำได้ก่อน อย่ารอคอยให้คนอื่นมาช่วยอย่างเดียวเกษตรกรไทยจะไม่ยากจนเลย แต่การคิด การพูด ยังไม่พอต้องลงมือทำ มีการเชื่อมโยงเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน สำรวจตัวเองว่าพร้อมแค่ไหน

เพราะตอนนี้หน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ พร้อมแล้ว ที่จะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาทั้งด้านการเกษตร ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ด้านการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจฐานราก

Gistda

ขณะที่ น.ส.ทิพพรรณ ไชยูปถัมภ์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาระบบเครือข่าย สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง และพร้อมขับเคลื่อนสัมมาชีพชุมชนสร้างความเข้มแข็งภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

เพื่อก้าวไปสู่ “เศรษฐกิจครัวเรือนมีความมั่นคง ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุข” หากแต่การแก้ไขปัญหาระดับชุมชนซึ่งมีหลากหลายมิติ จึงจำเป็นต้องมีการบูรณาการความร่วมมือหลายภาคส่วน สำหรับการจัดเก็บข้อมูล กชช.2ค และ จปฐ. ถือเป็นข้อมูล

และเครื่องมือที่สำคัญต่อการประเมินความก้าวหน้าและมาตรฐานการพัฒนาของชุมชน และพร้อมที่จะเสริมสร้างขีดความสามารถของประชาชน ชุมชน ผู้นําชุมชน องค์การชุมชนและเครือข่ายชุมชน รวมไปถึงการมาลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชนชาวดอนแรดในครั้งนี้

ถือได้ว่าเป็นการเปิดพื้นที่ เปิดประสบการณ์ ได้เห็นถึงสภาพพื้นที่ สภาพปัญหา และการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรของคุณพ่อสุนันท์ นามวิชัย ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ และเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตตามแนวคิดศาสตร์พระราชา : โคก หนอง นา โมเดล

Gistda

ซึ่งถือได้ว่าเป็นบุคคลที่ชื่นชมยกย่อง ความร่วมมือภายในพื้นที่ซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่งที่จะสานต่อพลังความร่วมมือกับภายนอก วันนี้หน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้ง GISTDA, กรมการพัฒนาชุมชน และศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง พร้อมบูรณาเชื่อมโยง ข้อมูล องค์ความรู้ สร้างเครือข่าย

เทคโนโลยี และนวัตกรรมภูมิสารสนเทศ เพื่อร่วมวิเคราะห์ วางแผน ติดตามและประเมินผลการพัฒนาชุมชน โดยการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน สำหรับบริหารจัดการ  (One plan) แผนงาน โครงการ กิจกรรม ในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป

ส่วนขยาย

* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง 
** Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com

สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่