Eleader May 2015

นโยบายด้าน Digital Economy ของรัฐบาล เป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ ผ่านการกระตุ้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคนนาคมของประเทศ ภายใต้นโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติและการจัดตั้งโครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ

โดยภาครัฐเองก็หวังที่จะให้นโยบาย Digital Economy นี้ ได้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลักที่ช่วยให้อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพีไทย กลับมาเติบโตระดับ 5% ภายในสองถึงสามปีข้างหน้า

V_DE

ชิต เหล่าวัฒนา หนึ่งในคณะกรรมการเตรียมการ Digital Economy กล่าวว่า เป้าหมายการทำโครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล จะทำให้ไทยสามารถเป็นผู้นำคลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ในอาเซียนได้

ทั้งจากการสร้างความพร้อมของดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศเอง การมีโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมผ่านนโยบายบรอดแบนด์แห่งชาติและการเพิ่มจำนวนอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ที่จะเชื่อมต่อต่างประเทศเป็นสิบจุด ก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายการเข้ามาลงทุนด้านคลาวด์ดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยต่ำลง ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

ปัจจุบันมีบริษัทระดับโลกที่แสดงความสนใจในโครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติแล้ว ทั้งไชน่าเทเลคอม กลุ่มเอ็นทีที เทลสตาร์ ออสเตรเลีย ซิสโก้ ซีสเต็มส์ เป็นต้น

“ปัจจุบันรัฐบาลได้สั่งชะลอโครงการสร้างศูนย์สำรองข้อมูล Disaster Recovery Site data center ในปีงบประมาณ 2558 ซึ่งมีกว่าแปดพันล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้นมาใช้โครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ”

นอกจากนั้นจากการประมาณการใช้งานคร่าวๆ อย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าจะมีความต้องการใช้จากหน่วยงาน 10,000 คอมพิวเตอร์แรค คิดเป็นพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร และน่าจะกระตุ้นให้เอกชนได้สร้างดาต้าเซ็นเตอร์ 40 แห่งกระจายทั้วประเทศ กระตุ้นให้เกิดเม็ดเงินการลงทุนจากเอกชนราว 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ การเปลี่ยนโมเดลให้หน่วยงานรัฐหันมาเช่าใช้ดาต้าเซ็นเตอร์เอกชน จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยงานและสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐได้เต็มประสิทธิภาพ

โครงการดังกล่าวจะยกเว้นในหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งกลาโหมและกระทรวงการคลัง และอีกราวยี่สิบหน่วยงาน ที่มีระบบงานที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่อ่อนไหว และข้อมูลส่วนตัวประชาชน

โดยภายในเดือนพฤษภาคมนี้คาดว่าทางคณะรัฐมนตรีจะมีมติให้ผ่านการกำหนดมาตรฐานดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะเข้าร่วมกับ โครงการดาต้าเซ็นเตอร์แห่งชาติ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์คุณสมบัติการคัดเลือกเอกชน

ในเบื้องต้นสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้ทำหนังสือชี้ชวนการลงทุนที่เปิดให้เอกชนที่สนใจมาลงทะเบียนก่อน โดยหนังสือชี้ชวนระบุมาตรฐานขั้นต่ำต้องเป็น Tier 3 ดาต้าเซ็นเตอร์และใช้กรีนเทคโนโลยี

หากเอกชนที่ได้มีคุณสมบัติผ่านเข้าร่วมโครงการจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีนิติบุคคลเป็นเวลาแปดปี และได้ใช้ไฟฟ้าในราคาทุน ซึ่งจะช่วยลดค่าต้นทุนให้ผู้ประกอบการลงอย่างน้อย 30%

โดยในเบื้อต้นเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ใช้การการันตีความต้องการจากภาครัฐ กับผู้ให้บริการ หากแต่จะให้หน่วยงานรัฐเลือกได้ตามอิสระว่าจะใช้เอกชนรายใดก็ได้ที่ผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนด