ในอดีต วงการแพทย์ หรือ Healthcare จะให้ความสำคัญในเรื่องของการลงทุนการใช้งานในระบบพื้นฐาน แต่ในแง่ของการเชื่อมโยงข้อมูลนั่นการลงทุนยังไม่มากเท่าไรนัก ซึ่งยุค Healthcare 4.0 นั่นการเชื่อมโยงของข้อมูลจะเพิ่มขึ้น

เนื่องจากในอดีตเทคโนโลยีที่จะเชื่อมโยงข้อมูลนั้นยังมีราคาที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งในการเก็บข้อมูลก็ต้องใช้การลงทุนในด้านของอุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูล รวมไปถึงอุปกรณ์พื้นฐาน

อาทิ คอมพิวเตอร์พีซี และการเดินสายข้อมูลภายในอาคาร ที่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หากต้องการเชื่อมโยงทุกแผนก ทุกสาขาของโรงพยาบาลในเครือ และเติมไปด้วยข้อจำกัดในหลาย ๆ แง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดสิทธิความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลที่อาจคาดเคลื่อนได้จากการสื่อสารในรูปแบบเก่า

แต่เมื่อโลกก้าวสู่ยุคของโมบายและคลาวด์เทคโนโลยี ทำให้ในปัจจุบันปัญหาเรื่องของการลงทุนเทคโนโลยีของโรงพยาบาล สามารถบริหารจัดการงบประมาณในการลงทุนได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ประกอบการสถานพยาบาลสามารถใช้ขีดความสามารถของคลาวด์เทคโนโลยีในการจัดการฐานข้อมูล และปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการที่แท้จริง

และด้วยจำนวนของโมบายดีไวซ์ที่เริ่มราคาถูกลง อีกทั้งยังมีความหลากหลายทำให้ผู้ประกอบการสถานพยาบาลมีข้อมูลที่หลากหลาย และเมื่อใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีทางด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และได้ข้อมูลเชิงลึก (Insight) ที่เกี่ยวเนื่องความสัมพันธ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลดิบ (Raw Data)

Healthcare

 

 

เช่น สถานที่ เวลา พฤติกรรมของผู้ป่วย รูปภาพของผู้ป่วย ผลการวิจัย พยาธิวิทยา จีโนมิกส์ บันทึกด้านคลินิก และกิจกรรมบนโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้การใช้เครื่องมือ เซนเซอร์ และข้อมูลที่ได้รับจากระยะไกล (Telemetry Data) มารวมเข้าด้วยกันเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ซึ่งเกิดการให้บริการและการรักษาร่วมกัน ทำให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถโฟกัสในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้มากขึ้น เพื่อให้องค์กรต่าง ๆ สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วย และผลักดันอุตสาหกรรมการบริการด้านสุขภาพไปสู่อนาคต

นอกจากนี้ จะช่วยลดความซับซ้อนด้านการจัดเก็บ บริหารจัดการ แหล่งข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยไม่กระทบกับการปฏิบัติงานในแต่ละวัน หรือการเข้าถึงข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลผ่านการบูรณาการข้อมูลแบบ Real-time ซึ่งจะทำให้เพิ่มความแม่นยำในการตรวจ รวมถึงกำหนดวิธีการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ทำให้สามารถปรับปรุงคุณภาพการดูแลผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้เกิดความเป็นโมบิลิตี้มากขึ้น เพราะระบบสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพคนไข้ระหว่างสถานพยาบาล เช่น หากมีการต้องส่งผู้ป่วยรักษาต่อเนื่อง (Refer) เกิดขึ้น โรงพยาบาลปลายทางก็สามารถเข้าถึงประวัติการรักษาผ่านระบบออนไลน์ โดยไม่ต้องให้คนไข้วิ่งรอกขอประวัติจากโรงพยาบาลหนึ่งมาส่งให้อีกโรงพยาบาลหนึ่ง ก็จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากมีความสามารถในการเชื่อมโยงข้อมูล

เช่น ผู้ป่วยรักษาโรคเรื้อรัง ที่โรงพยาบาลที่มีสิทธิรักษา หรือว่ามีประกันสุขภาพอยู่โดยรักษาอย่างต่อเนื่อง แต่วันหนึ่งผู้ป่วยเกิดอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ และเกิดไม่สบายจำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลย่อมต้องการทราบว่าผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคอะไร ทานยาอะไรอยู่ แพ้ยาอะไรเพื่อจะรักษา หรือให้ยาที่ถูกต้องกับอาการป่วยของผู้ป่วยมากที่สุด โดยไม่ส่งผลกระทบต่อร่างกายผู้ป่วย 

หากมองในมุมของการบริหารจัดการทรัพยากรบุคลากร การนำเทคโนโลยีเข้าไปบริหารจัดการจะช่วยให้โรงพยาบาลบริการตารางงานของบุคลากรทางการแพทย์ได้ดีขึ้น โดยลดระยะเวลาการรอคอยแพทย์ของผู้ป่วยในโรงพยาบาล ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และช่วยให้ข้อมูลด้านสุขภาพจำนวนมาก (Big data) มีการถูกนำมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น

Healthcare

ขณะในมุมของผู้ป่วยเอง ทางสถานพยาบาลก็สามารถสร้างให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการรักษาสุขภาพของผู้ป่วยได้ โดยอาศัยช่องทางผ่านอุปกรณ์สื่อสารของผู้ป่วยเอง ทำให้สามารถป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ดีขึ้น ลดระยะเวลา ลดภาระคนไข้นอนโรงพยาบาล หรือลดเวลาที่ต้องมาพบแพทย์ เพราะบางโรคต้องการเพียงแค่การติดตามผล ซึ่งมาพบแพทย์เพียงแค่ไม่กี่นาที

และในอนาคตอาจจะสามารถใช้ระบบต่าง ๆ ในการพบหรือปรึกษาแพทย์ถึงอาการเบื้องต้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพยาบาลเลยก็ได้ โดยข้อมูลเหล่านี้เพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาที่ผ่านมา จากการเติบโตของจำนวนหรืออุปกรณ์สวมใส่อิเล็กทรอนิกส์ (Wearable Devices) ที่เอื้อให้ผู้บริโภคมีความสะดวกมากขึ้น

โดยข้อมูลวิจัยไอดีซีระบุว่า ปี 2563 หรือใน 5 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีดีไวซ์หรืออุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Thing) หรือไอโอที ประมาณ 5 หมื่นล้านเครื่อง ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ใช่แค่สมาร์ตโฟน แต่เป็นหลากหลายอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต รวมถึงมีเซ็นเซอร์ภายใน ทำให้สามารถสื่อสารและพูดคุยกันเองได้ 

ตัวอย่างเช่น “บิทไบร์ท ชิววิ่ง อนาไลเซอร์” (Bibite Chewing AnalyZer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สามารถวิเคราะห์การกินการเคี้ยวของผู้ใช้ โดยจะติดที่หูและเก็บข้อมูลจำนวนการเคี้ยวของผู้ใช้เพื่อให้แพทย์สามารถนำไปวิเคราะห์ และแนะนำผู้ใช้ว่าควรเคี้ยวอย่างไรให้ถูกต้อง พร้อมตั้งโปรแกรมให้อุปกรณ์คอยแจ้งเตือน

เพราะในทางการแพทย์ได้เคยมีการวิเคราะห์ซึ่งสรุปแล้วว่า ผู้บริโภคที่เคี้ยวน้อยเกินไปอาจมีความเสี่ยงที่กระเพาะอาหารหรือลำไส้จะทำงานหนัก และทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา ซึ่งแน่นอนว่า เราจะเห็นอุปกรณ์ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสุขภาพออกมาอย่างต่อเนื่องในอนาคต

และไม่จำกัดอยู่แค่อุปกรณ์พกพาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชุดหรือเสื้อผ้าที่สวมใส่อย่างเช่น “เซลเฟล เอ็กซ์“ (XelFle X) ชุดกีฬาที่มีเซ็นเซอร์ แค่งอแขน หรือการเสิร์ฟลูกเทนนิสก็สามารถบอกได้ว่าใช้กำลังไปแค่ไหน ด้วยเทรนด์สุขภาพที่มาแรง

ทำให้ในหลาย ๆ ปีต่อจากนี้ ตลาดอุปกรณ์เพื่อสุขภาพจะรุกตลาดมากขึ้น และทำให้เกิดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้จากอุปกรณ์เหล่านี้ส่งถึงมือแพทย์ และยังรวมถึงบริษัทประกันภัย เพื่อใช้พิจารณาในการอนุมัติกรมธรรม์ประกันภัย แบบชนิดที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุลคลเลยทีเดียว

แน่นอนว่าการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้นทั้งจำนวนของข้อมูล และอุปกรณ์ที่ผู้บริโภคใช้งานเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองจะนำมาซึ่งการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้สถานพยาบาลหลายแห่งจำเป็นต้องปรับปรุงรูปแบบการให้บริการ

แนวทางหนึ่ง คือการพัฒนานวัตกรรมการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพที่ทันสมัย นอกเหนือจากการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และเพิ่มโอกาสในการดึงดูดลูกค้ามากขึ้น ซึ่งแนวโน้มนี้เกิดขึ้นทั่วโลก

ขณะที่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพในภูมิภาคอาเซียนเองก็มีความตื่นตัวเพิ่มมากขึ้น โดยสถิติการใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น 10-12% ทุกปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (อ้างอิงจาก Economic Intelligence Center (EIC) www.scbeic.com) โดยส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากค่าเฉลี่ยของอายุประชากรเพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกันองค์กรต่าง ๆ ก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้องค์กรด้านสุขภาพและรัฐบาลจำเป็นต้องหันมาปรับปรุง และพัฒนาระบบไอทีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ผู้ป่วย ซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ตั้งแต่การเปลี่ยนจากเวชระเบียนกระดาษไปสู่เวชระเบียนดิจิทัล เพื่อให้มีข้อมูลที่สำคัญทางการแพทย์พร้อมเสมอสำหรับการรักษาและดูแลผู้ป่วย

Healthcare

ดังนั้นบทบาทของแผนกไอทีในหน่วยงานด้านสุขภาพจึงจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้น ไม่ใช่เพียงบริหารจัดการระบบ แต่จะต้องสามารถช่วยผลักดันให้ผู้ป่วย พนักงาน และองค์กร ได้รับการบริการและทำงานได้ง่ายขึ้นการเปลี่ยนแปลงนี้ผู้ประกอบกิจการธุรกิจบริการด้านสุขภาพหลาย ๆ ประเทศต่างมองไปในทางทิศทางเดียวกัน

โดยในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2016 ที่ผ่านมา มีการจัดงานสัมมนา และการจัดแสดงเทคโนโนยีการแพทย์ HIMSS AsiaPac16 Conference and Exhibition ในประเทศไทย ซึ่งมีผู้บริหารในวงการการแพทย์จากประเทศต่าง ๆ เดินทางมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ยุคดิจิทัล ซึ่งสามารถสรุปทิศทางและแนวทางที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนี้

ผู้ป่วยจะต้องอยู่ตรงจุดศูนย์กลางของบริการด้านสุขภาพ แนวคิดนี้ คือการนำเสนอว่าธุรกิจบริการด้านสุขภาพผู้ป่วยไม่ว่าจะเป็นพลเมืองของประเทศนั้น หรือชาวต่างชาติก็ตาม จะต้องมีสิทธิเข้าถึงบริการ และความรู้ด้านสุขภาพได้จากทุกสถานที่อย่างเท่าเทียมกัน จากสถานพยาบาลที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

โดยต้องสามารถใช้ระบบเก็บข้อมูลผู้ป่วยส่วนกลางจากระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อทำให้การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น การใช้ระบบเซ็นเซอร์ระบุพิกัดสถานที่ที่คนไข้เคยไปเยือนเพื่อติดตามพฤติกรรม และหาตัวผู้ป่วย 

สร้างไซเคิลในการทำงานแบบไร้รอยต่อ เพราะการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและไร้รอยต่อระหว่างแผนกต่าง ๆ ในโรงพยาบาล ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลประกอบการให้แก่องค์กร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในฐานะ “แพลตฟอร์มศูนย์กลาง” เพื่อช่วยประหยัดเวลาและลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็นออกไป

ซึ่งต้องสามารถรองรับการจัดเก็บข้อมูลได้จำนวนมาก และสามารถประมวลข้อมูล คัดกรอง ส่งต่อให้ฝ่ายต่าง ๆ ในโรงพยาบาล (หรือตัวผู้ป่วยเอง) เฉพาะในส่วนที่จำเป็น โดยต้องสามารถรองรับอุปกรณ์ในระบบปฏิบัติการต่าง ๆ และอัพเดตข้อมูลแบบ Real-time ได้

ผลักดันให้เกิดการใช้นวัฒกรรมเพื่อลดช่องว่าง ในสมัยก่อนผู้ป่วยจะเป็นผู้ที่เดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเองเมื่อมีอาการเจ็บป่วย หรือที่เรียกว่า “ป่วยก่อนค่อยพบแพทย์” แต่เมื่อเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น วิธีการต้องเปลี่ยนไปสู่การ “รู้ก่อนเพื่อป้องกัน”

กล่าวคือ แทนที่จะรอให้ผู้ป่วยและผู้ที่มีสุขภาพปกติมีอาการป่วย เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแทน เช่น สร้างแอพฯ ตรวจโรคเบาหวาน หรือบริการตรวจโรคตามความเสี่ยง เพื่อแจ้งเตือนและวางแนวทางการรักษาก่อนเป็นหนักให้แก่ผู้ป่วย

เปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินงาน ปัจจุบันความพยายามในการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจบริการด้านสุขภาพเข้าสู่ระบบดิจิทัลยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก โดยสาเหตุหลักมาจากการบริหารงานแบบเก่า ๆ ที่ไม่เข้ากับยุคสมัย และธุรกิจบริการด้านสุขภาพบางแห่งคิดว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดต่าง ๆ

ไม่ว่าจะเป็นไม่มีพนักงานด้านไอที เทคโนโลยีมีราคาแพง กลัวเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งความคิดเช่นนี้จะกลายเป็นข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถพัฒนาบริการให้ดีขึ้น ผู้ประกอบธุรกิจบริการด้านสุขภาพในวันนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจ และมองว่าปัญหาต่าง ๆ ที่มีเทคโนโลยีเกี่ยวข้องมักเกิดนอกเหนือการคาดการณ์อยู่เสมอ

แต่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพสามารถตั้งเป้าหมายและระบุแผนการ ผลประโยชน์ และขั้นตอนการดำเนินงานให้ชัดเจนได้ หากไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรทางไอทีก็สามารถใช้เทคโนโลยีจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยี โดยมองเป็นหุ้นส่วนไม่ใช่เพียงแค่ผู้รับผิดชอบในงานที่ได้มอบหมายและรอรับความผิดเวลาเกิดปัญหาขึ้น

และหากไม่มั่นใจก็สามารถกำหนดสิทธิในการเข้าถึงหรือเข้าสังเกตการได้ ซึ่งจะทำให้การเปลี่ยนถ่ายสู่ยุคดิจิทัลของธุรกิจบริการด้านสุขภาพมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น