Eleader January 2015

สำหรับการเชื่อมต่อระดับกระบวนการธุรกิจหรือ Process Integration ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกโซลูชันการเชื่อมต่อระดับแอพพลิเคชัน (Application Integration) จะว่าด้วยการเชื่อมต่อระดับกระบวนการธุรกิจ

การพิจารณาเลือกโซลูชันสำหรับการเชื่อมต่อในระดับ Process หรือกระบวนการทางธุรกิจนั้น เราต้องทราบว่ากระบวนการธุรกิจใดบ้างที่เราจะนำโซลูชันการเชื่อมต่อไปใช้ และต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่จุดใด เช่น นำไปใช้ในกระบวนการโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบด้วยองค์กรธุรกิจที่เป็นผู้ค้าวัตถุดิบ ผู้ผลิต ผู้บริหารคลังสินค้า ผู้จัดส่ง และร้านค้าปลีก เมื่อร้านค้าปลีกขายสินค้าบางรายการจนเหลือของหน้าร้านต่ำกว่าระดับที่ตั้งไว้ก็ให้ทำการเปิดออเดอร์สั่งของไปยังคลังสินค้าอัตโนมัติ (เชื่อมต่อจุดแรก)

เมื่อคลังสินค้าได้รับออเดอร์จากร้านค้าจำนวนมากก็จะทำการสั่งผลิตไปยังโรงงานเพื่อให้ได้สินค้าทันขายตามคาดการณ์ของระบบ Supply Chain Management (เชื่อมต่อจุดที่สอง) เมื่อโรงงานผลิตเสร็จแล้วก็จะทำการแจ้งไปยังผู้จัดส่งสินค้าผ่านระบบ Logistics Management เพื่อให้ส่งของไปยังคลังสินค้าต่างๆ (เชื่อมต่อจุดที่สาม) เมื่อคลังสินค้าได้รับของและตรวจสอบเรียบร้อยแล้วก็กระจายสินค้าไปยังร้านค้าปลีก โดยมีการส่งรายการสินค้าจัดส่งไปยังร้านค้าต่างๆ เพื่อให้สามารถตรวจทานเทียบกับรายการสินค้าที่ติดไปกับรถส่งของได้ (เชื่อมต่อจุดที่สี่) ซึ่งการเชื่อมต่อที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้ใช้โซลูชันการเชื่อมต่อแบบ Process Integration

ทั้งนี้การเลือกโซลูชันประเภทนี้ มีประเด็นหลักๆ ที่ต้องพิจารณาดังนี้ (ดูภาพประกอบ)

Group
Feature Solution 1 Solution 2 Solution 3
Process Integration Process Definition Y Y N
  Business Rules Management Y Y N
  Process Orchestration Y Y N
  Process Exception Management Y N N
  Activity Monitoring & Management Y N N

1. Process Definition คือ ความสามารถในการนิยามกระบวนการธุรกิจผ่านเครื่องมือที่ใช้ในการออกแบบโซลูชัน ในปัจจุบันซอฟต์แวร์สำหรับโซลูชันการเชื่อมต่อจากผู้ผลิตหลักๆ สามารถนิยามกระบวนการธุรกิจเป็นภาพกราฟิก เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและลดงานเขียนโปรแกรมลง จนอยู่ในระดับที่นักวิเคราะห์ระบบสามารถออกแบบกระบวนการธุรกิจได้ด้วยตนเอง ดังภาพประกอบด้านล่างที่แสดงให้เห็นหน้าจอในการออกแบบที่มาพร้อมกับเครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงความสามารถในการทดสอบความถูกต้องที่สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องแม่ข่าย

ตาราง

2. Business Rules Management  คือ ความสามารถในการใส่กฎเกณฑ์ต่างๆ ลงไปเพื่อให้ระบบสามารถตัดสินใจเรื่องที่มีแบบแผนแน่นอนได้โดยไม่ต้องใช้มนุษย์ เช่น เมื่อจำนวนสินค้าหน้าร้านลดลงต่ำกว่าระดับที่กำหนดก็ให้เปิดออเดอร์ไปที่คลังสินค้าโดยอัตโนมัติ

3. Process Orchestration คือ ความสามารถในการเชื่อมต่อรวมไปถึงความสามารถในการบริหารจัดการกระบวนการธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพที่ใหญ่ขึ้น ซึ่งมักจะพบได้ในองค์กรขนาดใหญ่ หรือองค์กรคู่ค้า Supply Chain กล่าวคือ แต่ละแผนกหรือแต่ละองค์กรสามารถมีกระบวนการธุรกิจของตัวเอง เช่น กระบวนการการผลิต กระบวนการนำสินค้าออกจากคลัง กระบวนการเปิดออเดอร์สินค้า ซึ่งเมื่อมองจากภาพบนสุดของธุรกิจแล้ว กระบวนการทั้งหมดเหล่านี้ต้องทำงานสอดคล้องกัน เพื่อให้สินค้าส่งไปขายที่หน้าร้านได้ โดยไม่เสียโอกาสทางการขาย และขณะเดียวกันโรงงานก็ไม่ผลิตสินค้ามากจนเกินจำเป็น

4. Process Exception Management คือ ความสามารถในการบริหารจัดการเหตุการณ์ไม่ปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ในกระบวนการธุรกิจ เช่น รถส่งสินค้าเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางโดยมีสินค้าอยู่เต็มรถ อีกทั้งสินค้าเหล่านั้นได้ถูกนำออกจากฐานข้อมูลของคลังสินค้าไปแล้ว ทั้งนี้โซลูชันสำหรับ Process Integration ส่วนใหญ่มีความสามารถนี้ติดมาด้วยอยู่แล้ว เราจึงไม่ต้องกังวลมากนัก เพียงแต่ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีความสามารถนี้รวมอยู่ในโซลูชันที่เรากำลังพิจารณาอยู่ก็เพียงพอ

5. Activity Monitoring & Management คือ ความสามารถในการตรวจสอบกระบวนการธุรกิจที่ดำเนินอยู่ในระบบว่ายังเรียบร้อย ติดขัด หรือเกิดความล่าช้าที่จุดใดหรือไม่ และยังรวมไปถึงความสามารถในการจัดการกระบวนการเหล่านั้น ซึ่งความสามารถนี้ควรจะครอบคลุมถึงสถานะทั้งในเชิงธุรกิจ และในเชิงเทคนิค เช่น สามารถบอกได้ว่างานค้างอยู่ที่ผู้บริหารท่านหนึ่งเกินสามวันเนื่องจากยังไม่ได้อนุมัติคำตอบบนหน้าจอของระบบ (เชิงธุรกิจ) หรือผู้บริหารบางท่านยังไม่ได้รับอีเมล์แจ้งเตือนงานค้างเนื่องจากระบบประมวลผลข้อมูลในระบบไม่ทัน (เชิงเทคนิค)
หน้าจอด้านล่างเป็นตัวอย่างการตรวจสอบสถานะของกระบวนการธุรกิจผ่านหน้าเว็บแอพพลิเคชัน ซึ่งหน้าจอนี้แสดงให้เห็นถึงงานค้าง (ในรูปอีเมล์) และสถานะทางเทคนิคด้านล่าง (message and Process variables) ได้ในเวลาเดียวกัน

ตาราง1

 

ในภาพรวมแล้วการพิจารณาเลือกใช้โซลูชันในระดับ Process Integration เราควรให้ความสำคัญกับความสามารถในด้าน Process Orchestration เป็นอันดับแรกเนื่องจากความสามารถนี้จะช่วยให้การทำโซลูชันแบบบูรณาการของเราเกิดประสิทธิภาพสูงสุด หลังจากนั้นจึงพิจารณาความสามารถด้าน Activity Monitoring & Management เนื่องจากมีความจำเป็นในการรักษาประสิทธิภาพการทำงานของกระบวนการธุรกิจทั้งหมดในภาพรวม ส่วนความสามารถที่เหลือแม้ว่าจะมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน แต่โซลูชันที่มีอยู่ในตลาดไม่ได้แตกต่างกันมากนัก จึงให้น้ำหนักในการพิจารณาน้อยกว่าสองประเด็นแรกได้

ณ. จุดนี้ผู้เขียนเชื่อว่าเราได้เรียนรู้หลักการพื้นฐานในการเลือกโซลูชันสำหรับบูรณาการระบบพอสมควรแล้ว ในฉบับถัดไปจะเริ่มกล่าวถึงกรณีศึกษาแบบต่างๆ โดยจะเริ่มจากการทำ Cross-sell/Up-sell Offering โดยการเชื่อมต่อระบบ ERP กับ CRM เข้าด้วยกัน