ปัจจุการการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งได้อาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนแปลง ทั้ง AI และ IoT และจากการปรับเปลี่ยนมาตรฐานนี้ IATF 16949 จะพลิกโฉมโลกยานยนต์ในตลาดให้มีความก้าวล้ำมากยิ่งขึ้น
IATF 16949 คืออะไร?
คือ ระบบบริหารงานด้านคุณภาพสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือ IATF 16949: 2016 Automotive Quality Management System Standard
สำหรับมาตรฐาน IATF 16949 เป็นมาตรฐานข้อกำหนดระบบบริหารงานคุณภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งอาศัยพื้นฐานของข้อกำหนด ISO 9001:2015 เพื่อให้เหมาะสมในการนำไปปฏิบัติงานได้จริง และสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้มาตรฐานดังกล่าวมีการปรับเปลี่ยนจากมาตรฐานฉบับเดิม โดยเพิ่มมุมมองที่กว้างขึ้น และในระดับที่ครอบคลุมทั้งระดับปฏิบัติการ (Operational Level) และระดับกลยุทธ์ (Strategic Level) โดยมุ่งเน้นบทบาทของผู้บริหารระดับสูง เพื่อที่จะกำหนดการดำเนินงานภายในและนอกองค์กร ที่เกี่ยวกับจุดประสงค์และทิศทางกลยุทธ์ขององค์กรได้ในอนาคต
จาก ISO 9001 สู่ IATF 16949
ดังนั้น จากตารางจะเห็นได้ว่า มาตรฐาน IATF 16949 ดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนขอบข่าย บทนิยาม และข้อกำหนดของระบบบริหารงานคุณภาพ โดยมีการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายละเอียด ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนบริบทขององค์กร ความเป็นผู้นำ และการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงทั่วโลกมีการประเมินผลการควบคุมอย่างเป็นอิสระ (Independent Assessment) ซึ่งช่วยให้สามารถรับรองระบบการบริหารงาน และสิ่งเสริมต่อองค์กรในการบริหารจัดการระบบต่าง ๆ และรับรองความเสี่ยงของแต่ละองค์กร
อย่างไรก็ตาม บนความคาดหวังของลูกค้าในยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ ตลอดจนผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งหลาย หรือกล่าวง่าย ๆ ว่าทั้ง Supply Chain ของอุตสาหกรรมนี้ ต้องวางบทบาทของตัวเองอย่างไร กระทั่งต้องลงทุนพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันอย่างไร
พบคำตอบของโฉมหน้าการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์ จากองค์กรชั้นนำของไทย
QAD Inc.
หากพูดถึง “ระบบมาตรฐานคุณภาพ” แน่นอนอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับผู้ผลิตรถยนต์ แต่ในยุคที่อุตสาหกรรมยานยนต์แข่งขันรุนแรง ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดย Terry Onica, Director Automotive, QAD USA ผู้เชี่ยวชาญที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้ฉายภาพความก้าวของเทคโนโลยียานยนต์ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าว่า
“จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีไปสู่ยุคที่มีการใช้ระบบเชื่อมต่อ และผสานเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สมองกลเข้ามาในรถยนต์มากขึ้น ทำให้รถยนต์รุ่นใหม่ ๆ จึงอัดแน่นไปด้วยฟังก์ชันดิจิทัล”
ขณะที่ การเติบโตของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่มาพร้อมข้อบังคับต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้ผลิตรถยนต์ต้องเปลี่ยนแนวคิดด้านการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเพื่อไดร์ฟรายได้แบบเดิม สู่กระบวนการบริหารความเสี่ยงด้วยการจัดการมาตรฐานคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถควบคุมการดำเนินงานได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ธุรกิจสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที
Stephen Fowler กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชีย QAD Inc. ให้มุมมองว่า QAD มุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ และปรับกระบวนการผลิตให้สอดรับกับแผนอุตสาหกรรมในยุค 4.0 ตลอดจนมาตรฐานด้านการจัดการคุณภาพใหม่ ๆ เช่น IATF 16949 เพื่อจะขับเคลื่อนการทำงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามมาตรฐานข้อบังคับ และสามารถตอบสนองความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มขึ้นได้ดียิ่งขึ้นทั้งในด้านคุณภาพที่สม่ำเสมอและภายในเวลาที่กำหนด
กลยุทธ์ขับเคลื่อนของ QAD
- มุ่งจับมือพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรฐานใหม่กับผู้ประกอบการในตลาดนั้น ๆ ให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งจะให้ทีมจาก QAD มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ระดับโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์ และมั่นใจว่าด้วยความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยานยนต์
- ด้วยความชำนาญทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก จะทำให้โซลูชัน ERP บนคลาวด์ และมาตรฐาน IATF 16949 เข้าไปช่วยให้ลูกค้าสามารถปรับปรุงคุณภาพกระบวนการผลิต และการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
สถาบันยานยนต์ หรือ TAI
รัชนิดา นิติพัฒนาภิรักษ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันยานยนต์ หรือ TAI ได้อัพเดตสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้ฟังว่า ภาพรวมของไทยยังอยู่ในจุดได้เปรียบประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยหากพิจารณาจากยอดการผลิตรถยนต์ในปี 2560 (เดือน ม.ค. – ธ.ค.) ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,988,823 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 2.28%
บทบาทของ TAI นับจากนี้ ยังคงให้น้ำหนักกับการส่งเสริมผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้ 4 ภารกิจหลัก ดังนี้
- การให้บริการข้อมูลและงานวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรม ทั้งงานวิจัยเชิงสนับสนุนนโยบายภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
- การให้บริการทดสอบมาตรฐาน และคำแนะนำในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
- การพัฒนาบุคลากร โดยมุ่งให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยีมาเพิ่ม Productivity ในการผลิตมากขึ้น
- การให้บริการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลากร และ สมอ. ในการเป็นผู้ตรวจรับรองกระบวนการผลิตในประเทศไทยสำหรับผู้ประกอบการที่เข้ามาใน Free Zone
ทั้งนี้ จะขยายบทบาทการทำงานให้สอดรับกับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ภารกิจของ TAI จากนี้ไป จะรุกส่งเสริมอุตสาหกรรมอากาศยานเพิ่มขึ้น เพราะหากสามารถยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการใน Supply Chain ของผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานได้ก็จะช่วยเพิ่มมูลค่าของอุตสาหกรรมนี้ได้มากขึ้น โดยสร้างเครือข่ายผู้ผลิตชิ้นส่วนที่สามารถผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับอุตสาหกรรมอากาศยาน โดยอาศัยแนวคิดแบบคลัสเตอร์ ดีเวลลอปเมนต์ เพื่อกระตุ้นเชิญชวน และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่น ๆ เข้ามาร่วมกันสร้างเครือข่ายให้แข็งแกร่ง
สมาคมการค้าไทย-ยุโรป หรือ TEBA
เสกสรรค์ ไตรอุโฆษ รองนายกสมาคมการค้าไทย-ยุโรป หรือ Thai-European Business Association TEBA บอกว่า TEBA เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้ประกอบการเอกชนในปี 2009 โดยวางตัวเป็นองค์กรอิสระเพื่อเป็นตัวกลางประสานการทำงานและกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างผู้ประกอบการไทยและยุโรป
สำหรับ TEBA ยังมีภารกิจในการ Monitor ความเคลื่อนไหวด้านกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรสมาชิก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในโลกยุคใหม่ให้ประสบความสำเร็จ รวมทั้งมีบทบาทในการเป็น Influencer ด้วยการเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้มีอำนาจตัดสินใจเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และอีกมากมาย
ทั้งนี้ ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยยังคงอยู่ใน Position ที่ Strong โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจะเห็นชัดว่ามีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี เพราะไทยเป็นประเทศที่มี Economy of Scale และ Innovation ตอบโจทย์ตลาด แต่ผู้ประกอบการไม่ควรประมาท โดยเฉพาะมาตรฐานสินค้าควรจะพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับมาตรฐานโลก
เสกสรร ให้คำแนะนำผู้ประกอบการไทย ดังนี้
- ผู้ประกอบการไทยต้องเปลี่ยนมุมมอง เรื่องซื้อเทคโนโลยีใหม่เป็นต้นทุน และความเสี่ยง เพราะเทคโนโลยีใหม่ไม่ได้เป็นที่ยอมรับหรือใช้ได้เสมอไปเสีย
- ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัว และพยายามนำ Innovation มาใช้กับธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น
- พัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถและเข้ามาสู่ระบบการผลิตมากขึ้น เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยานยนต์ยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม จากการเปลี่ยนแปลงองค์กรตามมาตรฐาน IATF 16949 ดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ในสภาพแวดล้อมภายนอกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายให้ลดลง เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้เปรียบในการแข่งขัน และมีโอกาสสู่การสร้างมาตรฐานระดับสากล และการปรับตัวในสภาวะการณ์ปัจจุบัน เพื่อขยายการเติบโตของธุรกิจในอนาคตได้อย่างแท้จริง