“เดลต้า” ร่วมกับ “กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม” เปิดตัวงาน Hackathon ภายใต้โครงการ Delta Angel Fund 2021 ผ่านระบบออนไลน์
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 บมจ. เดลต้า อีเล็คโทรนิกส์ (ประเทศไทย) ร่วมมือกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมและพันธมิตร เปิดตัวงานแฮกกาธอน (Hackathon) ภายใต้โครงการ Delta Angel Fund สำหรับสตาร์ทอัพประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์ครั้งแรก
สำหรับปีนี้ เดลต้าได้รับความร่วมมือจากอีกหนึ่งบริษัทในการเป็นผู้สนับสนุนระดับองค์กรเพื่อส่งเสริมธุจกิจสตาร์ทอัพในไทยที่จะได้เข้าร่วมแข่งขันในรายการเรียลิตี้โชว์ ธุรกิจพิชิตล้าน Shark Tank Thailand เพื่อโอกาสที่จะได้รับการลงทุนเพิ่มเติมจากรายการ สืบเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 กิจกรรมการแข่งขันแฮกกาธอนครั้งนี้จึงถูกจัดขึ้นผ่านระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก
วัตถุประสงค์ของแฮกกาธอนคือการให้ผู้นำด้านอุตสาหกรรมเช่นเดลต้าช่วยสนับสนุนการสร้างศักยภาพของธุรกิจสตาร์ทอัพในไทยผ่านการแบ่งปันความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ในทางกลับกัน เดลต้าเองก็มุ่งหาโอกาสในการสร้างความร่วมมืออันเป็นประโยชน์กับธุรกิจสตาร์ทอัพเหล่านี้เพื่อยกระดับและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
แจ็คกี้ จาง ประธานบริษัทเดลต้า ประเทศไทย กล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ว่า “ในนามของเดลต้า ประเทศไทย ขอขอบคุณพันธมิตรและธุรกิจสตาร์ทอัพๆ ที่เข้าร่วมงานนี้ เนื่องจากความสำเร็จของโครงการ Delta Angel Fund ในปีนี้ บริษัทได้เพิ่มกิจกรรมแฮกกาธอนเข้ามา ซึ่งทีมที่ชนะจะถูกคัดเลือกจากโซลูชันที่เกี่ยวข้องกับเดลต้าและธุรกิจของพันธมิตร บริษัทหวังว่าการขยายโครงการครั้งนี้จะทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น แม้ประเทศกำลังเผชิญกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ท้าทายก็ตาม”
ในช่วงเช้า ผู้เข้าแข่งขันทั้งหมด 13 ทีมได้นำเสนอแผนธุรกิจต่อคณะกรรมการ ซึ่งผู้ที่ผ่านเข้ารอบ 6 ทีมจะมีสิทธิในการเข้าแข่งขันรอบตัดสินในช่วงบ่าย โดยจะมีเพียง 2 ทีมเท่านั้นที่ชนะในรอบตัดสิน ซึ่งทีมที่เข้าแข่งขันต้องสามารถนำแผนธุรกิจที่ตอบสนองปัญหาดังต่อไปนี้ได้:
- วิธีการสร้างโซลูชันธุรกิจที่สามารถแก้ไขปัญหาระบบควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารสำนักงาน
- วิธีการนำเทคโนโลยีการสื่อสารบนคลาวด์ (Cloud Communications) มาช่วยในการควบคุมและตรวจสอบสถานีสูบน้ำ
- วิธีการสร้างระบบบริหารจัดการการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
- วิธีการนำผลิตภัณฑ์และบริการของเดลต้าไปต่อยอดสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์
เมื่อแต่ละทีมนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาภายใต้ประเด็นดังกล่าวแล้ว โดยเกณฑ์การตัดสินจะพิจารณาจากการรวมคะแนนของการแข่งขันทั้งสองรอบเพื่อนำมาสรุปเป็นคะแนนรวมในการตัดสินผลการแข่งขัน
ผู้ชนะการแข่งขันโครงการ Delta Angel Fund 2021 ทั้ง 2 ทีม ได้แก่:
- ผู้ชนะเลิศ: ทีม SafeTrip จากบริษัท โอโบดรอยด์ (Obodroid) นำเสนอระบบจัดการและป้องกันน้ำท่วม (FMWS) โดยมุ่งเน้นการควบคุมปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยระบบการควบคุมแบบศูนย์กลาง และการเฝ้าระวังระดับน้ำที่สถานีสูบน้ำผ่านการใช้เทคโนโลยีการส่งสัญญาณแบบไร้สาย 3G และกล้องวงจรปิด เพื่อให้สามารถตรวจสอบระดับน้ำและควบคุมสถานีสูบน้ำจากทางไกลได้ เพียงแค่ใช้โทรศัพท์มือถือ โดยระบบจัดการและป้องกันน้ำท่วมนี้นำระบบควบคุมการทำงาน (PLC), เร้าเตอร์อุตสาหกรรม 4G, ซอฟต์แวร์ SCADA และอุปกรณ์ขยายสัญญาณ/เพิ่มพอร์ต Ethernet Switch ของเดลต้ามาประยุกต์ใช้ ทำให้สามารถควบคุมอุปกรณ์เคลื่อนที่หน้างานและแสดงผลแบบเรียลไทม์ผ่านหน้าจอในห้องควบคุมได้
- รองชนะเลิศอันดับที่ 1: ทีม Multi-Senses นำเสนอผลงานระบบการบำรุงรักษาอัจฉริยะ ระบบนี้สามารถช่วยเหล่าผู้จัดการในการตรวจเช็คการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ (Predictive Maintenance) ด้วยวิธีการส่งข้อมูลเพื่อแสดงสถานะเครื่องจักรแบบเรียลไทม์ โดยระบบนี้ได้ประยุกต์ใช้ตัวควบคุมการทำงาน (PLC), อุปกรณ์ขยายสัญญาณ/เพิ่มพอร์ต Ethernet Switch, และซอฟต์แวร์ SCADA ของเดลต้า เพื่อส่งต่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำ รวมถึงข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการบำรุงรักษาเครื่องจักรผ่านการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ให้กับเหล่าผู้จัดการโรงงาน
เดลต้าได้ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เพื่อให้ทุนแก่ธุรกิจสตาร์ตอัพผ่านทางกองทุน Angle Fund เป็นเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลไทยในการพัฒนาผู้ที่มีความสามารถในประเทศไทยและบ่มเพาะภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เดลต้าได้ให้การสนับสนุนแก่ 158 ทีมในกองทุน Angle Fund ด้วยจำนวนเงินกว่า 16 ล้านบาท โดยเงินทุนจากเดลต้าสามารถช่วยธุรกิจสตาร์ตอัพสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไทยได้อย่างโดดเด่นรวมกว่า 500 ล้านบาท