Eleader January 2015
กระแส Big Data ที่ครอบครองพื้นที่ในแวดวงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนงานไอทีกลับมาเป็นที่จับตามองในองค์กรอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องดี แต่ในเวลาเดียวกัน ก็อาจสร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้ได้เช่นกัน
การจะประสบความสำเร็จในการนำ Big Data มาใช้งานในองค์กร ความรู้ในเชิงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ หากผู้บริหารไอทีมองปรากฏการณ์ Big Data เป็นเพียงกลุ่มของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนเทคโนโลยีเก่าๆ ตามวงรอบของการพัฒนา ก็คงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะอาจไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากศักยภาพของ Big Data ได้อย่างเต็มที่ บทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทที่ผู้นำไอทีในองค์กร ควรพิจารณา เพื่อให้องค์กรของท่านได้รับประโยชน์จาก Big Data อย่างเต็มที่
Big Data, Big Opportunity
หากพิจารณาความต้องการขององค์กรในยุคใหม่ตามภาพ จะพบว่าการใช้งานเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับข้อมูลในองค์กร จะยังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องการลดต้นทุนสร้างรายได้ หรือเรื่องของการเพิ่ม customer satisfaction เท่านั้น แต่ความต้องการที่มีลำดับสูงยิ่งขึ้นไปกว่านั้น ไอทียังแทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย
Big Data เป็นโอกาสอันดี ที่จะพลิกบทบาทดังกล่าว เปลี่ยนหน่วยงานไอทีให้กลายเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักขององค์กร แทนที่จะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนเหมือนในช่วงที่ผ่านมา ด้วยการตอบสนองความต้องการที่สูงขึ้น สิ่งที่ผู้บริหารด้านไอที ควรพิจารณา คือการมองหาและสร้างโอกาสในการปฏิรูปธุรกิจ (Business Transformation) ผ่านทางการใช้ข้อมูล
Roles of IT leaders
หากเราเปรียบข้อมูลเป็นเหมือนน้ำมันดิบ ที่จำเป็นจะต้องผ่านกระบวนการกลั่นก่อนจึงจะมีคุณค่า ฉะนั้นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารด้านไอทีก็คงเปรียบได้กับการสร้างและดำเนินงานตามภารกิจของโรงกลั่นน้ำมัน อีกทั้งการกระตุ้นให้องค์กรมีการนำผลลัพธ์ที่ได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีกระบวนการดังนี้
พัฒนากลยุทธ์สำหรับ Big Data
สร้างและบริหารแพลตฟอร์มจัดการข้อมูลขนาดใหญ่
สร้างและพัฒนาทีมงานพร้อมทักษะใหม่
กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงการใช้งานข้อมูลในองค์กร
Developing Big Data Strategy
การพัฒนากลยุทธ์เกี่ยวกับ Big Data เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญ หลังจากที่ได้ทำการศึกษารวบรวมข้อมูลและศึกษาตลาดแล้ว และก่อนที่จะเริ่มลงมือทำโครงการ Big Data ในองค์กรนั้น จากการสำรวจของไอบีเอ็มร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดในปี 2012 มีองค์กรถึง 47% ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนดังกล่าวนี้
ที่มา: http://www.ibmbigdatahub.com/blog/big-data-requires-strong-analytics-capabilities
ประเด็นสำคัญต่อการพิจารณาในระหว่างการพัฒนากลยุทธ์ ควรจะครอบคลุมทั้งเรื่องของเทคโนโลยี การจัดการข้อมูล และการพัฒนาบุคลากร แต่ที่ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก คือการกำหนดแนวทางปัญหาที่จะเลือกนำ Big Data มาใช้ ก่อนที่เราจะทำการลงทุนสร้างโรงกลั่นข้อมูล เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่า เราต้องการนำผลลัพธ์นั้นไปใช้ทำอะไร นี่เป็นข้อแตกต่างประการสำคัญระหว่างข้อมูลและน้ำมัน เพราะสิ่งที่เราจะกลั่นมาได้จาก Big Data คือ Insights นั้นมีได้หลากหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับโจทย์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ
กลยุทธ์ที่ดีจะเป็นแนวทางในการเลือก where to play ซึ่งผู้บริหารด้านไอที จะมีบทบาทสำคัญ โดยการผสานความรู้ระหว่าง “สิ่งที่เป็นไปได้” ในแง่เทคโนโลยี และ “สิ่งที่ต้องการ” จากฟากธุรกิจ ไม่ว่าจะมาจากวิสัยทัศน์เป้าหมายพันธกิจ หรือจากปัญหาที่องค์กรกำลังประสบอยู่ก็ตาม ในระหว่างขั้นตอนการพัฒนากลยุทธ์ Big Data นี้ ผู้บริหารไอทีควรทำงานร่วมกับผู้บริหารฝ่ายอื่นๆ ด้วย โดยมีวัตถุประสงค์หลักดังนี้
ทำความเข้าใจความต้องการของแต่ละฝ่าย แต่ละแผนกอย่างชัดเจน
ประสานความต้องการแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้แนวทางการพัฒนางาน Big Data เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดแย้ง หรือซ้ำซ้อนกันระหว่างหน่วยงาน
ร่วมกำหนดดัชนีความสำเร็จในระดับองค์กร ที่จะนำไปใช้ในการคัดเลือกโครงการพัฒนาในอนาคต
การทำงานร่วมกับผู้บริหารแผนกต่างๆ จะทำให้ผู้บริหารไอทีสามารถพัฒนากลยุทธ์ ที่ตอบสนองความต้องการจากหลากหลายแผนก โดยยังคงแนวทางที่สอดคล้องกันได้เอาไว้
Build and maintain Big Data platform
เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานด้าน Big Data มีเป็นจำนวนมากและเกิดขึ้นใหม่แทบจะทุกวัน อีกทั้งยักษ์ใหญ่เจ้าตลาดไอที ต่างก็กระโดดลงมาเล่นในตลาดนี้กันถ้วนหน้า ส่งผลให้เกิดการสร้างศัพท์ใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์ชื่อแปลกๆ มากจนทำให้สับสนได้ง่ายๆ เราสามารถจัดหมวดหมู่เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลเป็นชั้นๆ ได้ดังนี้
ที่มา: Big Data in Big Companies : http://www.sas.com/resources/asset/Big-Data-in-Big-Companies.pdf
ชั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ หากดูตามชื่อแล้ว แนวคิดก็คงไม่แตกต่างจากระบบไอที แบบทั่วไป รายละเอียดที่แตกต่างไปจะอยู่ที่ตัวเทคโนโลยีในแต่ละชั้น ซึ่งจะถูกออกแบบมาให้จัดการกับข้อมูลจำนวนมากโดยเฉพาะ
Storage เทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ต้นทุนการเก็บข้อมูลลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคงเป็นบริการ Cloud Storage ความท้าทายอยู่ที่การเลือกส่วนผสมให้ลงตัวระหว่างข้อมูลที่จัดเก็บบน cloud กับข้อมูลที่ยังจำเป็นต้องจัดเก็บไว้ในฐานข้อมูลแบบดั้งเดิมอยู่
Platform Infrastructure เทคโนโลยีในส่วนโครงสร้างพื้นฐาน ทำหน้าที่สำคัญในการจัดการกระจายโหลดการประมวลผลไปตามเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ เทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมแพร่หลายที่สุดในชั้นนี้คือ Hadoop
Data เทคโนโลยีการจัดการข้อมูล เป็นอีกชั้นหนึ่งที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อต้องการจัดการกับข้อมูลปริมาณมาก เทคโนโลยีในชั้นนี้ประกอบไปด้วย เครื่องมือจัดการคุณภาพข้อมูล การตรวจสอบข้อมูล และการรักษาความปลอดภัยข้อมูล
Application Codes, Functions, and Services เทคโนโลยีในชั้นนี้เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ และคำนวณข้อมูล ตามความต้องการของโจทย์ทางธุรกิจ ดังนั้นเทคโนโลยีในกลุ่มนี้จึงมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามลักษณะของการคำนวณที่ต้องการ
Business View เทคโนโลยีในกลุ่มนี้ เป็นการนำผลลัพธ์ที่ได้จากการคำนวณในชั้น Application Code มารวบรวมไว้ให้อยู่ในมุมมองที่สามารถเข้าใจได้ในทางธุรกิจ เพื่อให้สามารถถูกเรียกใช้ได้โดยเครื่องมือและบุคคลากรที่มีอยู่แล้วในองค์กร
Presentation and Consumption เทคโนโลยีในกลุ่มนี้ที่เห็นพัฒนาการอย่างชัดเจนคือกลุ่ม Data Visualization ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปริมาณและความซับซ้อนของข้อมูลมีสูงมากขึ้น เครื่องมือนำเสนอข้อมูลจึงจำเป็นต้องมีความสามารถสูงขึ้นด้วย
ารพิจารณาเทคโนโลยี Big Data ด้วยมุมมองของชั้นเทคโนโลยีเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดหมวดหมู่ เปรียบเทียบ และเลือกใช้องค์ประกอบเทคโนโลยีที่เหมาะสมได้ บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อย่างไอบีเอ็มอาจจะนำเสนอแพลตฟอร์มที่มีองค์ประกอบครบถ้วนทุกชั้นเทคโนโลยี ในขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นๆ อาจจะมุ่งเน้นพัฒนาเทคโนโลยีที่เจาะจงเฉพาะองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้น
ที่มา: http://www.ibm.com/developerworks/data/library/techarticle/dm-1301machinedata1/