Are we living in a Matrix? ความจริงเรื่องเอกราชและอธิปไตยไซเบอร์ กับปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล โดยจากกระแส “Digital Disruption” และ “Digital Transformation” ทั่วโลก ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของโลกมีผลต่อต่อมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คำว่า ” Digital Transformation” หรือ “Digital Disruption” เป็นสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังกันบ่อย ๆ ปัจจัยทั้ง 4 ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลดังกล่าว ได้แก่ The Four IT Mega Trends in S-M-C-I Era (ดูรูปที่ 1)
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากปัจจัยทั้ง 4 ดังกล่าวจึงมีผลกระทบเกิดขึ้นใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับบุคคลและครอบครัว ระดับองค์กร และระดับประเทศ ไปจนถึงผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ (National Security)
ปัจจุบันประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีเอกราชและอธิปไตยในดินแดนของประเทศเราในเชิงกายภาพ (Physical) แต่หลังจากระบบอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการติดต่อสื่อสารของคนไทยในหลายปีที่ผ่านมา ตลอดจนความนิยมในการใช้งานสมาร์ตโฟนและโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ของคนไทย ทำให้มีการเก็บข้อมูลคนไทยทั้งประเทศไว้ในระบบคลาวด์ โดยส่งผ่านจากทางสมาร์ตโฟนและโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น Facebook, Youtube และ LINE
ปัจจุบันมีคนไทยใช้งานสมาร์ตโฟนกว่าหนึ่งร้อยล้านเครื่อง เฉลี่ยใช้งานวันละ 6 ชั่วโมงต่อวัน โดยโปรแกรมยอดนิยมคงหนีไม่พ้น 3 โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เกิดปรากฏการณ์มหกรรมการเก็บข้อมูลของคนไทยเข้าสู่ระบบคลาวด์ของบริษัทผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ดังกล่าว
สืบเนื่องจากการใช้งานสมาร์ตโฟนอย่างแพร่หลาย ทำให้มีการจัดเก็บพฤติกรรมผู้ใช้งานสมาร์ตโฟนอย่างต่อเนื่องทั้งที่ผู้ใช้ทราบและไม่ทราบมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บข้อมูลตำแหน่งการใช้งาน (User Location), พฤติกรรมการค้นหาข้อมูล (User Search Behavior and Search Keyword), พฤติกรรมการเข้าชมภาพและวิดีโอ ตลอดจนพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ เช่น การจองโรงแรม การจองตั๋วเครื่องบิน ทำให้ข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ตกอยู่ในมือของผู้ให้บริการการค้นหาข้อมูล และผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การเก็บข้อมูลในระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ มีกลไกในการวิเคราะห์เจาะลึกข้อมูลของเรา โดยใช้เทคโนโลยี Big Data Analytic และ Machine Learning ทำให้ผู้ให้บริการสามารถล่วงรู้พฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ต การใช้สมาร์ตโฟน การค้นหาข้อมูล การใช้โปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ การรับรู้ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทำให้ผู้ให้บริการสามารถทราบถึง “Digital Lifestyle” ของผู้คนอย่างไม่ยากเย็นนักจากข้อมูลที่เราเองเป็นคนใส่ข้อมูลเข้าไปในระบบทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว
ปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือปัญหา “Cyber Sovereignty” หรือ “ความเป็นเอกราชทางไซเบอร์” ของผู้คนในประเทศ ตลอดจนไปถึงปัญหาความมั่นคงของชาติ (National Security) ซึ่งคนไทยเองส่วนใหญ่ยังไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำว่ากำลังถูกละเมิดในเรื่อง “Cyber Sovereignty” เนื่องจากปัญหาดังกล่าวถูกซ่อนอยู่ในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและการใช้งานสมาร์ตโฟนในปัจจุบันที่อยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทย
ทำให้ผู้ให้บริการที่เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกมีความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ และสามารถนำข้อมูลมาใช้ในการตลาดได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการขาดรายได้ของรัฐบาลไทยจากการจัดเก็บภาษีจากยอดเงินในระดับหมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีผู้ให้บริการได้เลยแม้แต่บาทเดียว กับการที่ผู้ให้บริการทำการ Settlement Payment โดยการใช้ Payment Gateway นอกประเทศไทย
จึงมีผู้กล่าวเปรียบเปรยได้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตประจำวันอยู่ใน “The Matrix” หลายท่านอาจกำลังนึกถึงนวนิยายไซไฟ แต่จริง ๆ แล้วเรากำลังอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคนมีความเกี่ยวพันกับ S-M-C-I อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งเปรียบเหมือนเรากำลังอยู่ใน “สภาวะไซเบอร์” ซึ่งปัจจัยทั้งสี่ S-M-C-I กำลังมีผลกับเราอย่างไม่รู้ตัว
โดยปัจจุบันคนไทยมี Facebook Account มากกว่า 42 ล้าน และ LINE Account มากกว่า 33 ล้าน โดยมีการใช้งานอย่างต่อเนื่องในแทบทุกวัน เรียกได้ว่าเป็น “New Platform” ที่คนไทยกำลังใช้ในการติดต่อสื่อสารกันแทนการใช้งานเทคโนโลยีในอดีต
หลายท่านอาจยังไม่ทราบอีกว่า การใช้งานโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ หรือการใช้งาน “Search Engine” ในการสืบหาข้อมูลนั้น หลายครั้งที่เราค้นหาข้อมูลอะไรบางอย่าง จากนั้นในเวลาไม่นานนักกลับมีการนำเสนอสินค้าและบริการต่าง ๆ กลับมาหาเราได้อย่างตรงใจเราเหมือนว่าระบบนั้นรู้ใจเราเป็นพิเศษ
ซึ่งปรากฎการณ์นี้ เราเรียกว่า “Filter Bubble Effect” ที่ระบบจะแสดงผลลัพธ์การค้นหาข้อมูล เป็นไปตาม “Digital Lifestyle” ของเรา ยกตัวอย่าง คนสองคน ค้นหาคำคำเดียวกัน แต่ผลลัพธ์อาจจะไม่เหมือนกัน ท่านผู้อ่านลองค้นคำว่า “Hotel Bangkok” จากมือถือหรือคอมพิวเตอร์พร้อม ๆ กัน จะพบว่าระบบจะแสดงผลลัพธ์เสนอโรงแรมมาให้เราเลือกไม่เหมือนกันในเวลาเดียวกัน
ปัญหาจากปรากฏการณ์ “Fitter Bubble Effect” ของโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์และโปรแกรมค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ก็คือ เราจะได้รับข้อมูลที่ต่างจากข้อมูลความเป็นจริง โดยเราจะได้รับข้อมูลที่ตรงกับใจเราเป็นส่วนใหญ่ กล่าวได้ว่าโปรแกรมดังกล่าวก่อให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “Echo Chamber Effect” คือผลลัพธ์ที่ระบบแสดงออกมามักจะเป็นไปในทางเดียวกัน
เช่น เป็น Comment เชิงบวกจาก Post Social ของเรา โดยเราจะไม่ค่อยเห็น Post หรือ Comment ที่แตกต่างหรือขัดแย้งไปจากความคิดของเรา ทำให้เราไม่สามารถที่จะรับรู้ความจริงที่อาจจะตรงกันข้ามกับผลลัพธ์ที่เราเห็นในโลกโซเชียลมีเดีย กล่าวได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อการตัดสินใจ ความเชื่อ ความคิด ความต้องการในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ มีผลกับแบรนด์ มีผลกับชื่อเสียงของบุคคลและองค์กร มีผลต่อความเชื่อถือในผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการต่าง ๆ เมื่อกระแสพาไป ทำให้คนส่วนใหญ่หลงเชื่อไปในทิศทางเดียวกัน
ดังนั้นการใช้งานโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์จึงจำเป็นต้องใช้งานอย่าง “มีสติ” และ “รู้เท่าทัน” เรียกว่าเราจำเป็นต้องมี “Digital Literacy” ที่ดีในระดับหนึ่ง ไม่หลงในกระแสโซเชียล ซึ่งไม่ง่ายนักสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะรู้เท่าทันภัยมืดดังกล่าว
แม้กระทั่งผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ บางครั้งยังมีความคิดตามไปกับกระแสโซเชียลอันเชี่ยวกรากเลยด้วยซ้ำไป
ประโยชน์จึงไปตกอยู่ในมือผู้ให้บริการโปรแกรมเครือข่ายสังคมออนไลน์ และผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการโฆษณาโปรโมตสินค้าและบริการ เราจึงมีความจำเป็นต้องเข้าใจในสองปรากฏการณ์ดังกล่าวเพื่อที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อความเข้าใจที่เกิดจากการรับรู้ข้อมูลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
จึงไม่น่าแปลกใจว่าอาชีพที่กำลัง Hot Hit ที่สุดใน Silicon Valley ขณะนี้ก็คือ “Data Scientist” และ “Machine Learning Expert” ยกตัวอย่างใน Agoda หรือ Booking ซึ่งเป็นเว็บไซต์และโมบายแอพฯ ชื่อดังในการจองโรงแรม กำลังรับสมัครพนักงานในสาขานี้ เพื่อจะได้เสริมกำลังในการนำเสนอโรงแรมให้ตรงกับใจและพฤติกรรมของลูกค้าให้มากที่สุด
โดยหลายท่านเคยพบกับประสบการณ์ในการเลือกชมสินค้าซ้ำ ๆ กันหลายครั้งพบว่า หลังจากเข้าไปชม เข้าไปเลือกสินค้าและบริการดังกล่าวหลายครั้ง พอถึงเวลาจะซื้อจริง ๆ พบว่าราคาเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ แต่หลังจากที่ลองเปลี่ยน Internet Browser พบว่าราคากลับเข้าสู่ราคาปกติ นับเป็นปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับคนทั่วไป
แต่สำหรับ Data Scientist ถือเป็นเรื่องปกติ ดังนั้น ผู้ใช้บริการควรรู้เท่าทันวิธีการดังกล่าว และร่วมกันเรียกร้องสิทธิในการนำข้อมูลส่วนบุคคลของเราที่ไม่ควรจะถูกละเมิดไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือนำไปใช้ทางการตลาดโดยไม่บอกกล่าวเล่าสิบต่อเจ้าของข้อมูลเสียก่อน
กล่าวโดย ปัญหาด้าน “Privacy” กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาแบบเงียบ ๆ และปัญหาด้าน “Privacy” จะหนักว่าปัญหาด้าน “Security” ในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องคอยหมั่นปรับปรุง “Digital Literacy” ของเราในการใช้งานโซเชียลมีเดียและสมาร์ตโฟนต่าง ๆ ที่ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวันให้ “รู้เท่าทัน” เทคโนโลยีที่กำลังละเมิดความเป็นส่วนตัวของมนุษย์โดยมนุษย์ด้วยกัน
อีกทั้งในมุม “เศรษฐศาสตร์” และ ในมุม “ความมั่นคงของชาติ” ที่รัฐบาลก็จำเป็นต้อง “ตื่นตัว” และ “ระวัง” ให้มากขึ้นกว่าเดิม พร้อมรับต่อ “Digital Disruption Effect” เพื่อให้ประเทศไทยของเราเข้าสู่ยุค Thailand 4.0 ได้อย่าง มั่งคั่ง มั่นคง และ งยืน สมดังที่ตั้งใจไว้