ไอเดียของเถ้าแก่น้อยชิ้นแรกนี้ นำเสนอระบบรับสั่งเครื่องดื่มสำหรับร้านกาแฟที่ชื่อ Mercury Coffee Pre Order ซึ่งไอเดียนี้แม้ว่าจะไม่ได้ไฮเทคหรือเต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำอนาคตอะไรมากมาย แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือน้องๆ ที่เป็นคนคิดสิ่งนี้ขึ้นมา ช่างเป็นคนที่มีนิสัยช่างสังเกตและเก็บนำเอามาคิดให้เกิดประโยชน์
เบญจพร เทศรำพรรณ ตัวแทน บริษัท ริเวอร์ปาร์ค คอนซัลแตนส์ จำกัด SME เจ้าของไอเดีย Mercury Coffee Pre-order (ที่วันนี้ได้เปลี่ยนชื่อในการขายเป็น Mercury Touch ไปเรียบร้อยแล้ว) เล่าถึงที่มาและความแตกต่างของไอเดียของพวกเขา ที่ทำให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองของโครงการเถ้าแก้น้อยเลยทีเดียว
“ไอเดียนี้ได้จากที่เราเห็นว่า เดี๋ยวนี้คนมีชีวิตแบบดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ มีหลายคนเวลาไปซื้อกาแฟก็ไม่อยากให้ใครมาวุ่นวายกับตัวเองมากนัก ก็เลยคิดว่าจะดีกว่าไหมถ้าเวลาไปร้านกาแฟแล้วสามารถเดินเข้าไปแล้วสั่งสิ่งที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังแก้ปัญหาเรื่องการต่อคิวยาวๆ ในแง่ของการขายนั้นอาจจะดูดี แต่ว่าร้านก็ต้องเสียพนักงานอีกหนึ่งคนสำหรับการจดออเดอร์ ลูกค้าก็ต้องนั่งรอ แถมบางครั้งอาจจะได้ของไม่ตรงตามที่สั่ง ก็เลยมาเป็นไอเดียให้เราได้คิดว่าน่าจะมีเครื่องมือสักอย่างสำหรับให้ลูกค้าสามารถกดสั่งด้วยตัวเองจากหน้าร้าน หรือเรามองขนาดที่ว่าทำเป็นเหมือนแอพพลิเคชันสำหรับการสั่งเครื่องดื่ม สุดท้ายก็ออกมาเป็นตัวต้นแบบตู้สั่งเครื่องดื่มนี้ขึ้นมา”
“แต่พอได้เข้ามาในโครงการเถ้าแก่น้อยแล้ว สิ่งที่เราเห็นก็คือแค่ระบบ Pre-order ที่เราทำมาตอนต้นนั้น อาจจะไม่ตอบโจทย์เสียทีเดียว เพราะบางร้านก็ยังอาจจะต้องการเรื่องของปฎิสัมพันธ์กับลูกค้า ก็เลยมองต่อไปอีกขั้นว่า ถ้าสามารถนำเอาระบบขายหน้าร้าน (POS) มาผนวกรวมกับระบบ Pre-order ได้ ให้กลายเป็นระบบที่ครบวงจร โดยการที่ลูกค้าสามารถกดสั่งเครื่องดื่มหรือสินค้าได้แล้วส่งไปที่เครื่อง POS ต่อไปยังระบบแจ้งเตือนที่ห้องครัว คือเรียกว่าลูกค้าสั่งทีเดียวแล้วทุกอย่างจะวิ่งไปทั้งระบบ นั่นคือการพัฒนาต่อยอดทำให้เราได้ระบบ POS ตัวนี้”
ระบบนี้เก่งกาจแค่ไหน
เบญจพร เล่าว่า หลังจากเข้าสู่โครงการเถ้าแก่น้อยแล้วนั้น สิ่งที่เธอได้รู้ต่อมาก็คือ ต้องมีของให้มากกว่านี้ ทำให้เกิดที่มาของการต่อยอดความสามารถของระบบ
“อีกหนึ่งเรื่องที่เราได้จากการทำงานร่วมกับลูกค้าอีกรายหนึ่งก็คือ สำหรับคนไทยนั้นยังมีปัญหากับการใช้ระบบ Pre-Order หรือการสั่งของด้วยตัวเองอยู่ หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมของคนไทยยังชอบที่จะมีคนเข้ามาให้บริการอยู่ จุดนี้เลยทำให้เรามีการพัฒนาต่อยอดระบบนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยการมีระบบ POS เข้ามานั่นเอง แต่ระบบของเราออกแบบมาเพื่อทำให้เจ้าของกิจการหรือคนทำงานหน้าร้านทำงานได้ง่ายมากขึ้น เลยออกมาในรูปแบบว่าลูกค้าจะสั่งเองหรือมีเจ้าหน้าที่คอยกดจากคำสั่งของลูกค้าก็ได้ ไม่ว่าแบบไหนมันก็จะเปลี่ยนรูปแบบของการทำงานให้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น”
“ทั้งหมดจึงไม่ได้มีเพียง POS เท่านั้น ทีมจึงได้พัฒนาระบบให้สามารถใช้งานกับอุปกรณ์แวดล้อมต่างๆ อย่างแท็บเล็ตหรือตัวเตะลิ้นชักเก็บเงิน อีกทั้งยังมีระบบบริหารจัดการสินค้าคงคลัง โดยที่มาของความคิดนี้เกิดมาจากการที่เราได้ร่วมทำงานกับร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่มีอยู่ 5 สาขา โดยที่ร้านกาแฟรายนี้เดิมใช้กระดาษจดและสื่อสารผ่านทางโปรแกรมไลน์ ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง ซึ่งลูกค้าเองก็บอกว่า มีปัญหาเกิดขึ้น เช่น เมนูอาหารหรือเครื่องดื่มบางอย่าง สาขา A ขาดไม่พอขาย แต่สาขา B กลับมีวัตถุดิบล้น แต่ระบบนี้จะช่วยให้ผู้จัดการหรือผู้ที่ดูแลสินค้าสามารถบริหารจัดการจากส่วนกลางได้ทันที เพราะเราเลือกเชื่อมทุกอย่างเข้ากับระบบคลาวด์ ทำให้มองเห็นว่าสถานการณ์แต่ละสาขาเป็นอย่างไร อย่างหากสาขา A มีตัวแดงขึ้นมาแล้ว ก็สั่งให้ครัวกลางส่งของเข้าไป หรือหากไม่มีก็สามารถขอแบ่งจากสาขาอื่นที่มีวัตถุดิบที่มีล้นอยู่ เป็นการยืมคืนกันในระบบได้”
แล้วทำไมลูกค้าต้องเลือกระบบนี้
คำถามสำคัญ มูลค่าล้านดอลลาร์ เหมือนอย่างที่เกมโชว์ทั่วไปมักตั้งคำถาม คือ “ทำไมลูกค้าถึงต้องเลือกโซลูชันหรือระบบของคุณ ทั้งที่มีสิ่งอื่นๆ ให้เลือกมากมาย อะไรคือความเก่งกาจของสิ่งที่คุณกำลังเสนอ เบญจพร อธิบายดังนี้
เมื่อทีมได้ระบบนี้ทำให้มองเห็นว่า สิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อร้านก็คือความสามารถในการนำเอาข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ โดยระบบจะรายงานออกได้ว่า อะไรขายดี ที่สาขาใด ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของหรือผู้จัดการสามารถวางแผนและบริหารจัดการสินค้าต่างๆ ได้ตามความต้องการของตลาด ระบบวิเคราะห์จะทำให้ร้านสามารถสร้างสรรค์โปรโมชันเพื่อกระตุ้นยอดขายให้มากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ความสามารถของ POS ตัวนี้ยังแบ่งระดับชั้นในการใช้งานได้อีกด้วย ยกตัวอย่าง เจ้าของร้านสามารถดูข้อมูลทั้งหมดได้ ทั้งยอดขาย และสินค้า เป็นต้น ในขณะที่พนักงานหน้าร้านจะมีสิทธิ์เพียงการจองโต๊ะหรือรับสั่งสินค้า โดยระบบทั้งหมดจะมียูสเซอร์อินเทอร์เฟซที่ง่ายต่อการเข้าใจ และใช้งานเสมือนกับเฟซบุ๊ก โดยความง่ายในการใช้งานดังกล่าวนับเป็นจุดเด่นที่ต่างจาก POS อื่น
สำหรับจุดเด่นคือ ความสามารถด้านภาษาที่ถูกพัฒนาให้ใช้งานได้ทั้งภาษาไทย, อังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, เกาหลี