FinTech เป็น Digital Disruption ของภาคการเงินในปี 2560 แต่ในปี 2561 นี้ธนาคารกำลังเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุนขององค์กรมหาศาล โดยได้เตรียมปรับแผนการลดจำนวนสาขา ลดจำนวนพนักงงาน และขยายการให้บริการด้านดิจิทัลมากขึ้น
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ธนาคารยักษ์ใหญ่ได้มีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ ๆ โดยใช้ความได้เปรียบในด้านข้อมูลและความรู้จักกับลูกค้าเป็นอย่างดีในการสร้างโอกาสในเข้าลงทุน หรือการจัดตั้งบริษัทพัฒนาและสร้าง FinTech ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า นับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ธนาคารเริ่มมีการปรับลดสาขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ และธนาคารที่มีเป้าหมายในการก้าวสู่ดิจิทัลอย่างชัดเจน เช่น ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ปรับลดสาขาลงถึง 25% หรือจำนวน 31 สาขาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และธนาคารธนชาตที่ปรับลดสาขาลงถึง 39 สาขาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
เมื่อพนักงานเป็นต้นทุนองค์กร
หลายคนสงสัยว่าทำไมธนาคารถึงกลัว FinTech นั่นก็เพราะเทคโนโลยีของ FinTech มีผลกระทบโดยตรงกับบริการทุกด้านของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นด้านการฝากเงิน โอนเงิน หรือกระทั่งการกู้ยืมเงิน
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบัน ธนาคารของไทย โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ยังมีพนักงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยธนาคารที่มีพนักงานสูงสุดอย่างธนาคารไทยพาณิชย์นั้นมีจำนวนพนักงานในสิ้นปี 2559 อยู่ถึง 28,015 คน
ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีพนักงานอยู่ประมาณ 26,886 คน และธนาคารกรุงเทพมีพนักงานอยู่ที่ 26,871 คน ส่วนธนาคารที่มีพนักงานน้อยที่สุดในกลุ่ม 5 ธนาคารยักษ์ใหญ่คือ ธนาคารกสิกรไทย ที่ล่าสุดมีพนักงานอยู่เพียง 8,980 คนเท่านั้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นจากการจัดโครงการบริษัทใหม่ในช่วงที่ผ่านมา
จำนวนพนักงานของธนาคารอาจจะพอเหมาะกับจำนวนสาขา แต่เมื่อดูแนวโน้มที่ธนาคารต้องการลดจำนวนสาขาลง และใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้นแล้ว พนักงานธนาคารอาจจะเป็นหนึ่งในต้นทุนที่ธนาคารต้องการลดลง
ลดสาขา ลดพนักงงาน สร้างแบ้งกิ้งค์เอเย่น
เป็นข่าวใหญ่เมื่อ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาประกาศว่า จะมีการประกาศหลักเกณฑ์การเป็นตัวแทนธนาคาร หรือ แบงค์กิ้งเอเย่น
โดยแบงค์กิ้งเอเย่น ก็เปรียบเสมือนสาขาของธนาคาร สามารถทำธุรกรรม ฝากเงิน ถอนเงิน ซึ่งแน่นอนว่าในอนาคตต้องมีบริการกู้ยืมเงินด้วย แต่อาจจะเป็นเการกู้ยืมที่ไม่มากนัก
ธปท.ให้เหตุผลว่า การทำแบบนี้จะช่วยให้ธนาคารสามารถลดต้นทุนจากการเปิดสาขา ลดต้นทุนการจ้างคน และการขนย้ายเงิน และยังให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากขึ้น
ถ้ายังนึกไม่ออกว่าแบงค์กิ้งเอเย่นเป็นแบบไหน ลองคิดซะว่า เราสามารถเดินไปทำธุรกรรมที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง 7-eleven ได้ ทั้งฝาก ถอน และกู้เงิน ซึ่งนี่คือโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่จะทำให้ธนาคารอยู่รอดได้ในยุคดิจิทัลเช่นนี้