ELEADER August 2015
กลุ่มธุรกิจขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ของประเทศไทยที่มีกว่า 3 ล้านราย กำลังเป็นกลุ่มธุรกิจตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลภายใต้นโยบาย Digital Economy ของรัฐบาล และถึงแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจะชะลอตัว แต่ภาคการส่งออกของกลุ่มเอสเอ็มอียังถือว่าเดินไปได้ โดยจะเห็นได้จากรายงานของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) พบว่า การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2558 ของ SMEs มีมูลค่าการส่งออก 169,496.82 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
พลอยทราย ภัสสรศิริ ผู้ก่อตั้งโครงการ เพ็ทมาสเตอร์ ฌาปนกิจสัตว์เลี้ยง www.petscrematorium.com หนึ่งในผู้ประกอบการ SMEs ให้ความเห็นต่อต่อนโยบาย Digital Economy ว่า ธุรกิจดิจิทัล มีบทบาทสำคัญมากในระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางด้านธุรกิจการให้ข้อมูลการขาย ให้ความรู้กับคู่ค้า และด้านอื่นๆ สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้และผู้ทำงานในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และสิ่งสำคัญคือ พัฒนากำลังคน พัฒนานวัตกรรม และพัฒนาประเทศไทยให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุน
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งจำเป็นมาก รวมทั้งการสร้างความพร้อมด้านไอซีทีโดยรวมของประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ เพราะประเทศไทยมีความพร้อมทั้งทางด้าน IT และมีสินค้าและบริการมากมายที่ได้ใช้ระบบ ICT อยู่แล้ว หากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนภาคเอกชนร่วมด้วย จะทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก แข็งแรงและมีความพร้อมมากขึ้น
สำหรับความคาดหวังจากนโยบายดังกล่าว ผู้ก่อตั้งโครงการเพ็ทมาสเตอร์ กล่าวว่า ต้องการให้องค์กรที่มีหน้าที่ดูแลกรอบนโยบาย Digital Economy มีการทำงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพราะเป็นนโยบายของระบบในอนาคต ควรมีการวางแผนที่ดี ควรดูแลเรื่องการให้ความรู้กับประชาชนร่วมด้วย ทั้งนี้หากรัฐจะสนับสนุน SMEs ต้องการให้เน้นไปที่เรื่องความสะดวกในการใช้ระบบ หากยุ่งยาก ซับซ้อน หรือมีค่าบริการแพงๆ คงเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้มา ต้องการนโยบายสนับสนุนค่าธรรมเนียม หรือระบบจากทางภาครัฐที่ไม่มีค่าใช้จ่าย
บริษัทมีการเตรียมความพร้อมรับนโยบาย Digital Economy ด้วยการพัฒนาบริการให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยการอัพเดตข้อมูลข่าวสาร จัดการเรียนรู้อบรมเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับบุคลากร เพื่อก้าวให้ทันกับยุคไอที เพื่อเป็นการถ่ายทอดงานธุรกิจด้วยข้อมูลข่าวสารและบริการต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อคนทุกระดับ เพื่อสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา
นอกจากนี้ คุณพลอยยังได้แนะนำองค์กรที่กำลังจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลด้วยว่า ต้องคำนึงถึงความคิดสร้างสรรค์ ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ที่จะแปรเปลี่ยนธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ หรืองานด้านบริการ เพื่อเป็นเนื้อหาที่มีคุณภาพและขับเคลื่อนบนโลกดิจิทัล ถือเป็นสิ่งสำคัญให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป