แนวคิดที่ดียังต้องอาศัยการบริหารจัดการที่ดีจึงจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ โครงการ Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ คือรูปแบบของการบูรณาการฐานข้อมูลทั้งหมดของเมือง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์และนำเสนอบริการที่ตรงกับความต้องการ ในเมืองต้นแบบของ Smart City อย่างภูเก็ต บริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม จำกัด ได้ติดตั้งระบบ NetkaView และ NetkaQuartz เพื่อเปลี่ยนภูเก็ต ให้เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง
Smart City เป็นแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน บริษัทวิจัยระดับโลก ได้ประมาณการณ์มูลค่าตลาด Smart City ภายในปี 2020 ว่าจะสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นมูลค่าการลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกราว 260 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และภายในปี 2025 เอเชียแปซิฟิกจะมีจำนวนเมืองที่ติดอันดับ “เมืองอัจฉริยะอย่างแท้จริง” ไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง
เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่ภาครัฐตอบรับการสร้างเมืองต้นแบบที่มีการประยุกต์ใช้ไอซีทีกับภาคธุรกิจ และกำหนดให้จังหวัดภูเก็ตและเชียงใหม่เป็นเมืองต้นแบบด้าน Smart City
การพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ในเมืองท่องเที่ยวนั้น จำเป็นจะต้องมีการบริหารจัดการระบบงานหลายอย่าง อาทิ การบูรณาการระบบไอซีทีทั้งหมด เช่น ระบบอินเทอร์เน็ตและไวไฟ ระบบที่เกี่ยวข้องกับการจราจร ระบบที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น การจัดการกล้อง CCTV การจัดการบริการความปลอดภัยอื่น งานบรรเทาสาธารณภัย บริการสุขภาพ และการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น ซึ่งงานทั้งหมดนี้มีอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการให้มีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน Smart City เองยังมีการประยุกต์ใช้ไอซีทีในหลายระดับ ทั้งในระดับโครงสร้างพื้นฐาน การเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และการใช้งานแอพพลิเคชัน โดยระบบที่มีบทบาทสูงที่สุดในการสร้าง Smart City คือระบบ Backbone System ที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่ง NETKA หรือ บริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม จำกัด เป็นผู้พัฒนาระบบดังกล่าวให้กับเมืองภูเก็ตและเมืองเชียงใหม่
นิพัสตราภรณ์ เจียมโชติพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม จำกัด
นิพัสตราภรณ์ เจียมโชติพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็ตก้า ซิสเต็ม จำกัด ให้ข้อมูลว่า Smart City ของเมืองใหญ่ทั่วโลก ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วย 5 ส่วนหลัก คือ Smart IT, Smart Traffic, Smart Security, Smart Energy และจุดขายเฉพาะด้านของแต่ละเมือง เช่น Smart Agriculture, Smart Quality of Life ซึ่งในบริบทของประเทศไทยนั้น เมืองต้นแบบทั้ง 2 เมืองจะเป็น Smart Tourism City
ทั้ง 5 ด้านเป็นระบบงานที่แยกจากกันเหมือนเป็นเสาแต่ละเสา จึงต้องมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงงานทั้ง 5 ด้านเข้าไว้ด้วยกัน นั่นคือการทำงานของ NetkaView และNetkaQuartz ที่มีบทบาทเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว และพฤติกรรมการใช้จ่าย เพื่อนำมากำหนดยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวให้เดินหน้าไปอย่างตรงจุด
การบริหารจัดการเมืองนั้น หลักการสำคัญอยู่ที่ การบริหารจัดการทรัพยากรให้เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละซีซัน และมีบริการที่สำคัญรองรับนักท่องเที่ยวอย่างเพียงพอ ฉะนั้นการจัดการเมืองที่ดีจะต้องมีระบบที่รวมศูนย์การบริหารจัดการทรัพยากรและบริการมาไว้ที่ศูนย์กลางเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการเก็บข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ นั่นคืองานของ NetkaView
ขณะที่ NetkaQuartz จะเชื่อมโยงกับ Netka และทำหน้าที่ประสานงานและแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น แจ้งซ่อมอุปกรณ์ชำรุด แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย น้ำท่วม หรือต้องการบริการการแพทย์ฉุกเฉิน รวมถึงการมอนิเตอร์อื่น ๆ เช่น อุปกรณ์ที่ชำรุดมีในสต๊อกหรือไม่ สต๊อกอุปกรณ์เพียงพอกับการใช้งานไปได้กี่เดือน ใน 3 เดือนข้างหน้าจะมีอุปกรณ์ใดหมดอายุบ้าง ทั้งหมดนี่จะนำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
นิพัสตราภรณ์ กล่าวว่า การทำงานของ NetkaView และ NetkaQuartz อยู่ภายใต้แนวคิดของ PDCA (Plan-do-check-act) โดยระบบของ NetkaView จะทำการ Monitor, Analytic, Planning, Provisioning เช่น ในช่วงไฮซีซั่นที่มีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงทำให้แบนด์วิดธ์ไม่พอ
ระบบของ NetkaView จะทำการ Monitoring แบนด์วิดธ์ว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วเมืองภูเก็ตในปัจจุบันเป็นอย่างไร รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้มในอนาคตว่า ถ้านักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าปัจจุบันจะเป็นอย่างไร แบนด์วิธด์อินเทอร์เน็ตจะพอหรือไม่ จากนั้นจะรายการผลออกมาว่า จุดไหนบ้างที่มีความเสี่ยงว่าแบนด์วิธด์จะไม่พอ ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาวางแผนการเพิ่มแบนด์วิธด์ในจุดที่ยังไม่พอ และนำไปสู่การปฏิบัติการหรือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ผลสรุปที่ได้คือ ควมพึงพอใจสูงสุดของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวมาเดินทางมาในเมืองภูเก็ต
ตัวอย่างที่น่าสนใจของการบูรณาการงานด้านต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ในจังหวัดภูเก็ต เช่น งานจราจรของจังหวัดภูเก็ตที่มีปัญหารถติดนั้น ระบบของ NetkaView สามารถเชื่อมโยงการทำงานของสัญญาณไฟจราจร เข้ากับกล้อง CCTV เพื่อ Monitoring ว่าสี่แยกใดรถติดบ้าง ติดมาน้อยเท่าไร โดยระบบสามารถรู้จากจำนวนรถยนต์ที่ปรากฏในกล้อง และวางแผนปล่อยสัญญาณให้เหมาะสมกับปริมาณรถในแต่ละด้านได้ และเมื่อเกิดเหตุ เช่น รถเสีย ระบบจะแจ้งเตือนไปยัง NetkaQuartz เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าไปแก้ไขปัญหาทันที
NetkaView และ NetkaQuartz จึงเป็นโซลูชันพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนา Smart City โดยเฉพาะการเชื่อมโยงระบบงานทั้งหมด และรวมศูนย์ไว้ที่เดียวกัน ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถจัดหาสิ่งที่เหมาะสมมาดูแล ณ จุดเดียวได้ ขณะเดียวกัน การตรวจสอบวิเคราะห์ของระบบ ยังนำไปสู่การวางแผนการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด นำไปสู่ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยว