บนเวทีประชุม (Belt and Road Forum for International Cooperation) ที่ผ่านมา สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน อาศัยคำปราศรัยสำคัญในช่วงเปิดการประชุม อธิบายแจกแจงให้เห็นถึงอนาคตของเส้นทางสายไหมใหม่ (New Silk Roads) ซึ่งกำลังจะเป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจและเส้นทางสายดิจิทัลที่เชื่อมโยงทวีปยูโรเชีย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าว่า ความริเริ่มแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง (Belt and Road Initiative หรือ BRI) ที่เมื่อก่อนมีอยู่ช่วงหนึ่งเคยเรียกขานกันว่า หนึ่งแถบเศรษฐกิจหนึ่งเส้นทาง ”(One Belt, One Road หรือ OBOR) เป็นโครงการในระดับพหุภาคี ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อก่อให้เกิดสันติภาพ, ความประสานกลมกลืน, และความสุข” ตลอดทั่วทั้งมหาทวีปยูเรเชีย (Eurasia)

ด้วยการนำเอาประเทศต่าง ๆ หลายหลากที่มีความผิดแผกกันอยู่ของมหาทวีปนี้ อย่างเช่น รัสเซีย, มองโกเลีย, ตุรกี, และเวียดนาม มาต่อเชื่อมกันทางยุทธศาสตร์พร้อมที่จะดำเนินการแล้ว

ในที่ประชุมดังกล่าว มีทั้งประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ประธานาธิบดี เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกีประธานาธิบดี โรดรีโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ และผู้นำโลกคนอื่น ๆ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกกลุ่มใหญ่

โดย One Belt, One Road นั้นจะเป็นโครงการอภิมหายักษ์ในการสร้างเส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ มากกว่า 57 ประเทศเข้าด้วยกัน โดยแกนหลักของโครงการ OBOR นี้คือกองทุนขนาดใหญที่ชื่อว่า กองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ธนาคารพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) ธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศจีน (Export and Import Bank of China)

โดยโครงการอภิมหายักษ์ดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์หสรัฐ เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2022 ในการก่อสร้างบรรดาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ทั้งหลาย ทั้งเส้นทางคมนาคมหลัก

เช่น รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สายท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ ถนนหนทาง สายเคเบิลไฟเบอร์ออฟติก เพื่อเชื่อมโยงทวีปยุโรป เอชีย และแอฟริกา เข้าด้วยกันด้วยเส้นทางที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 6,000 กิโลเมตร
One-Belt One-Road โครงการพลิกโฉมเศรษฐกิจโลก

OBOR เป็นแนวคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่นอกจากจะนำแผนการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้นำทฤษฎีเส้นทางการค้าที่ชื่อว่า “เส้นทางสายไหม” หรือ “Silk Road” มาปัดฝุ่นเพื่อขยายอิทธิพลทางการค้าและวัฒนธรรมของตนให้เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ชื่อเรียกใหม่ว่า “One Belt and One Road” หรือเส้นทางสายไหมในศตวรรษที่ 21

เส้นทาง “One Belt and One Road” ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2556 โดย “One Belt and One Road” เป็นกรอบการทำงานในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับพหุภาคีของจีน ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้

1. Silk Road Economic Belt เส้นทางการเชื่อมโยงทางบกที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ได้ประกาศข้อริเริ่ม Silk Road Economic Belt อย่างเป็นทางการครั้งแรกในขณะที่เดินทางไปเยือนประเทศคาซัคสถาน โดยที่ Silk Road Economic Belt เป็นการเชื่อมโยงประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเส้นทางสายไหมเดิม (อินเดีย เปอร์เซีย ทวีปยุโรป และคาบสมุทรอาหรับ) ผ่านเอเชียกลาง เอเชียตะวันตก เอเชียใต้ อาเซียน ตะวันออกกลาง และยุโรป

ซึ่งข้อริเริ่มดังกล่าวเป็นการบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และการขยายการค้าในระดับภูมิภาค

เส้นทาง Silk Road Economic Belt เป็นเส้นทางสายหลักที่สามารถแบ่งออกได้เป็น 6 เส้นทาง ได้แก่

1). New Eurasian Land Bridge เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงจากจีนถึงยุโรปตะวันตก โดยเริ่มต้นที่ท่าเรือ เมือง Lianyungang ในมณฑล Jiangsu ประเทศจีน ผ่านประเทศคาซัคสถาน รัสเซีย สู่เมืองรอตเทอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเส้นทางสายหลักในการคมนาคมขนส่งสินค้าไปยังยุโรปที่เร็วที่สุด มีถนนและรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง และจีนกำลังอยู่ระหว่างเจรจาพิธีการศุลกากรกับประเทศที่อยู่ในเส้นทางขนส่งนี้

2). China-Mongolia-Russia Corridor เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงระหว่าง จีน มองโกเลีย และรัสเซีย

3). China-Central Asia-West Asia Corridor เส้นทางคมนาคมขนส่งหลักในการลำเลียงน้ำมันและแก๊ส จากจีนสู่ตะวันออกกลาง และอิหร่าน ด้วยท่อลำเลียงที่ยาวที่สุดในโลก และยังเป็นเส้นทางความร่วมมือทางเทคโนโลยี เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พลังงานทางเลือก พลังงานนิวเคลียร์ เทคโนโลยีอากาศยาน การค้าขายและการลงทุน

4). China-Indochina Peninsula Corridor เป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงอาเซียนกับฮ่องกง และเซินเจิ้น ที่จีนเรียกว่า Pearl River Delta Economic Circle เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในอาเซียนและจีนตอนใต้ และฮ่องกง ซึ่งจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญกับทุกประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นศูนย์กลางของเส้นทางดังกล่าว

5). China-Pakistan Corridor เป็นเส้นทางใหม่ที่บรรลุข้อตกลงเมื่อปี 2015 เชื่อมโยงระหว่างจีนและปากีสถาน ถึงท่าเรือ Gwadar เพื่อออกสู่ทะเลผ่านช่องแคบมะละกาไปยังทวีปแอฟริกา และเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่เชื่อมโยงระหว่างจีน และทวีปแอฟริกา

6). Bangladesh-China-India-Myanmar Corridor เส้นทางเชื่อมโยงระหว่างจีน อินเดีย เมียนมาร์ และไทย เป็นเส้นทางสายเศรษฐกิจสำคัญระหว่างจีนและอินเดีย เชื่อมโยงด้วยรถไฟความเร็วสูงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และบริการสำคัญอื่น ๆ รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลด้วย

2. Maritime Silk Road เส้นทางการเชื่อมโยงทางทะเลรู้จักกันดีในชื่อ “21st Century Maritime Silk Route Economic Belt” หรือเส้นทางสายไหมด้านเศรษฐกิจทางทะเลในศตวรรษที่ 21 มีการพูดถึงเป็นครั้งแรกในการกล่าว ปาฐกถาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ระหว่างการเยือนอินโดนีเซียเป็นทางการ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งข้อริเริ่มดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่าง ๆ รวมถึงด้านการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในแถบภูมิภาคมหาสมุทร ได้แก่ อาเซียน โอเชียเนีย แอฟริกาเหนือ แปซิฟิก รวมถึงมหาสมุทรอินเดีย

นอกจากนี้ เส้นทาง Maritime Silk Road ยังมีอีกหนึ่งเส้นทางที่เชื่อมโยงจากปากีสถานผ่านช่องแคบมะละกา ไปยังทวีปแอฟริกาอีกด้วย

ปัจจุบันกลุ่มประเทศที่อยู่บนเส้นทางดังกล่าว เกือบทั้งหมดให้ความสนใจเข้าร่วมกับธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) รวมแล้วกว่า 57 ประเทศ ทำให้กลุ่ม AIIB มีอิทธิพลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกไม่แพ้ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ที่มีสมาชิกทั้งสิ้น 67 ประเทศ

การเชื่อมโยงบนเส้นทางสายดิจิทัล

ภายใต้ One Belt and One Road นั้น สิ่งที่ปรากฎอย่างชัดเจน คือการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของ 3 ทวีปเข้าหากัน เพื่อเป็นเส้นทางในการลำเลียงวัตถุดิบ ทรัพยากร และสินค้าระหว่างกัน รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้เข้าหากัน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศในกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจควบคู่กับได้

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวถึง หลักการและบทบาท 5 ประการของ One Belt One Road ไว้ว่า
1. เพื่อสันติภาพ ความมั่นคง และความซื่อตรง พูดถึงความรุนแรง การฆ่าฟัน ความขัดแย้ง เพราะสังคมโลกไม่มีความเจริญที่เป็นหลักให้ทุกคนก้าวไปด้วยกัน เส้นทางดังกล่าว จึงเกิดขึ้เพื่อแสวงหาความมั่นคงที่ยั่งยืน ลดความอยุติธรรม และร่วมกันแก้ปัญหาการก่อการร้าย

2. ต้องการสร้างการพัฒนา ที่มีความชัดเจนในหลายด้าน เช่น การสร้างเส้นทางคมนาคมและโลจิสติกส์ เชื่อมโยงประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งเส้นทางถนน ระบบราง ระบบการสื่อสาร เช่น เคเบิ้ลใต้น้ำ ท่าเรือ ท่าอากาศยาน โดยมีกองทุนขนาดใหญ่ 2 กองทุน ได้แก่ AIIB และ Silk Road เป็นแหล่งเงินทุนขนาดใหญ่ของโครงการทั้งหมด ซึ่งกองทุนทั้งสองมีขนาดเทียบได้กับกองทุนเพื่อการพัฒนาเอเชีย ที่ตั้งโดยญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา มีขนาดใหญ่กว่า World Bank และ IMF

3. เป็นการสร้างประตูที่เปิดกว้างทางการค้า ระหว่าง 57 ประเทศ เป็นการเชื่อมโยงและเปิดกว้างทางสังคม และวัฒนธรรมในระดับโลก

4. เป็นการสร้างนวัตกรรมให้กับโลก สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญอย่างมากกับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานดิจิทัล หรือ Digital Economy และให้นิยามของ One Belt and One Road ในอีกชื่อหนึ่งว่า “Digital Silk Road” หรือเส้นทางสายไหมดิจิทัล โดยเส้นทางดังกล่าวจะเป็นการเชื่อมโยงเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกันภายใต้เทคโนโลยีที่มีความสำคัญกับการค้าและการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเมือง Smart City ตลอดเส้นทางคมนาคม การนำเทคโนโลยีควอนตัม คอมพิวติ้ง มาใช้ในการบริหารจัดการ การนำ 3D Printing มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ตลอดจนถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น Big Data, AI และ Cloud

5. เส้นทางเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนทรัพยากรมนุษย์ ให้ความสำคัญกับคน Human Mobility ทั้งคนจีน และคนประเทศอื่นเพื่อเชื่อมอารยธรรม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ร่วมกันแทนการครอบงำ เคารพและไว้ใจกัน ร่วมมือกันด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนนักเรียน และวัฒนธรรม

จะเห็นได้ว่านอกเหนือจากในด้านเศรษฐกิจแล้ว จีนยังมองไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างกันในทุกสิ่ง เช่น สังคม ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงความร่วมมือในการสร้างสันติภาพระหว่างกัน โดยมีดิจิทัลเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานหลัก ที่จะพัฒนาให้ประเทศในกลุ่ม One Belt and One Road เติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง