กลายเป็นประเด็นร้อนที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึงเรื่องของนโยบายรัฐบาลที่กำลังอยู่ในระหว่าง “ศึกษา” เพื่อนำมาดำเนินการ กับการจัดตั้งสิ่งที่เรียกว่า Single Gateway ซึ่งบอกเลยว่าในขณะที่ยังไม่ได้มีความชัดเจนใดๆ เกิดขึ้นในแง่ของการดำเนินงานว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร ก็เกิดกระแสต่อต้านจากหลายๆ ฝ่ายกันจนวุ่นวายไปหมด แต่ก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายมากไปกว่านี้ เราจะมาดูกันว่าอันที่จริงแล้ว Single Gateway นั้น น่าใช้ น่าทำ น่ากลัว น่าเป็นห่วง … หรือไม่?
Single Gateway คืออะไร?
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า Gateway นั้นหมายถึงประตูหรือช่องทางที่ใช้เชื่อมต่อออกสู่โลกอินเตอร์เน็ตภายนอก เพื่อให้อุปกรณ์ในเน็ตเวิร์คทุกๆ ตัวสามารถเชื่อมต่อและสื่อสารข้อมูลกับอุปกรณ์ที่อยู่ในเน็ตเวิร์คอื่นๆ ได้ ซึ่งในความหมายนี่ก็คือช่องทางหรือท่อที่เชื่อมต่อประเทศไทยกับเน็ตเวิร์คในเครือข่ายทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเองมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตซึ่งมี Gateway เป็นของตัวเองอยู่หลายราย นั่นจึงเป็นแปลว่าประเทศไทยมีช่องทางที่จะส่งออกข้อมูลไปยังอินเทอร์เน็ตทั่วโลกได้หลายช่องทาง ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตว่าจะส่งข้อมูลเราไปในเส้นทางใด
Single แปลตรงๆ ก็คือ อันเดียว ชิ้นเดียว คนเดียว (โสด) … ซึ่งเมื่อนำมารวมกับคำว่า Gateway ที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็แปลว่า Single Gateway คือการสร้างและปรับปรุงให้ประเทศไทยมีทางเข้าออกสู่อินเทอร์เน็ตเพียงทางเดียว
ปัญหาเกิดขึ้น ณ จุดที่ความหมายของ Single Gateway ได้ถูกแพร่กระจายออกไปว่าประเทศไทยจะเปลี่ยนจากเดิมที่มีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหลายราย มีท่อเชื่อมต่อต่างประเทศหลายท่อ ลงมาเหลือท่อหรือช่องทางเดียวเท่านั้น ซึ่งแบบนี้มันก็แปลว่า “ถอยหลังเข้าคลอง” ชัดๆ
ที่มา http://internet.nectec.or.th/webstats/internetmap.current.iir?Sec=internetmap_current
พูดง่ายๆ ก็คือการจำกัดช่องทางการสื่อสารของอินเทอร์เน็ตให้อยู่ในขอบเขตที่รัฐบาลสามารถควบคุม กำกับดูแลได้อย่างทั่วถึงนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณภาพอินเทอร์เน็ตที่อาจจะช้าลงเพราะท่อส่งข้อมูลมีจำนวนน้อยลง และที่หลายคนกังวลกันมากขึ้นไปอีกคือความเป็นส่วนตัว หรือการถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้งาน ซึ่งนี่อาจจะเป็นประเด็นหลักที่ทำให้หลายต่อหลายคนลุกฮือขึ้นมาต่อต้าน คัดค้านหัวชนฝากันยกใหญ่
Single Gateway ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีใครใช้อยู่บ้าง
แนวคิดของ Single Gateway ไม่ใช่ประเทศไทยที่เป็นคนริเริ่ม แต่เป็นเพียงการหยิบยกเอาโมเดลที่มีหลายประเทศใช้งานกันอยู่มาปรับใช้เท่านั้นเอง ซึ่งประเทศที่มีการใช้งาน Single Gateway อยู่นั้นก็ได้แก่ จีน ลาว เกาหลีเหนือ และอีกหลายประเทศในแทบตะวันออกกลาง แต่เมื่อพิจารณารายชื่อประเทศเหล่านี้แล้วจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และมักจะมีการจำกัดสิทธิการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่พอสมควร ซึ่งทำให้หลายๆ คนกังวลว่าการนำ Single Gateway มาใช้ในบ้านเราจะมีจุดประสงค์เพื่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้งานและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นหลักเสียมากกว่า
ย้อนกลับมาดูสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกันอีกหน่อย ถ้าไม่ได้มองถึงระดับประเทศ เอาแค่องค์กร หน่วยงานธุรกิจ บริษัทห้างร้านต่างๆ หรือแม้แต่บ้านพัก ที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เราล้วนใช้ Single Gateway ด้วยกันทั้งนั้น อย่างอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมกันตามบ้าน หรือธุรกิจขนาดเล็ก ก็มักจะใช้อินเทอร์เน็ตเพียงเส้นเดียวเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย รวมถึงง่ายต่อการดูแลและบริหารจัดการอีกด้วย
ในกรณีของบริษัทหรือองค์กรที่มีขนาดใหญ่ และมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง จะมีการควบคุมให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเน็ตเวิร์คที่หน่วยงานไอทีเตรียมไว้ให้เท่านั้น (ไม่นับอุปกรณ์ BYOD เช่นสมาร์ทโฟนที่เชื่อมต่อ 3G/4G เป็นการส่วนตัว) แน่นอนว่าย่อมมีการจำกัดการเข้าถึงหรือมีการตรวจสอบข้อมูลการรับส่งเข้าออกอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว และนั่นก็ถือว่าเป็นแนวคิดของ Single Gateway เช่นเดียวกัน แม้ว่าในองค์กรเองจะมีการ Redundancy Line หรือ Load Balance เอาไว้ก็ตาม แต่ก็ยังถูกควบคุมโดยหน่วยงานเดียวที่มีอำนาจสิทธิขาดอยู่ดี
จะเห็นได้ว่าเราก็มีการใช้งานกันได้อย่างไม่มีปัญหาอะไร แถมบางครั้งยังจำกัดสิทธิในการใช้งานมากกว่า Gateway ใหญ่ของประเทศด้วยซ้ำ อย่างเช่นการห้ามเล่น Social Network ในออฟฟิศ หรือการลับส่งเมล์ที่เป็นผลเสียต่อองค์กร เป็นต้น และไม่ใช่แค่เรื่องการใช้งานในองค์กรเท่านั้น แต่ตามปกติผู้ให้บริการก็จะมีการกำหนดนโยบายการเข้าถึงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่นอินเทอร์เน็ตที่อนุญาติให้นักศึกษาใช้งานในมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เปิดให้เข้าถึงข้อมูลทุกอย่าง
เมื่อรู้แบบนี้แล้วแทบจะทำให้ Single Gateway ดูจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องเจอกันเป็นประจำอยู่แล้วกับการถูกจำกัดสิทธิการใช้งาน ถ้าให้พูดจริงๆ เลยคือ Single Gateway ที่ทุกคนตื่นเต้นและต่อต้านกันนั้น ยังไม่มีความชัดเจนเลยด้วยซ้ำว่าจะออกมาในรูปแบบไหน และมีนโยบายในการบริหารจัดการอย่างไร
ควรเป็นอย่างไร ถ้าจะใช้ Single Gateway
จะเห็นว่า Single Gateway เป็นคำที่กว้างมาก และมีการใช้งานในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งสามารถตอบโจทย์การทำงานได้ในหลายๆ ระดับ รวมถึงสามารถบริหารจัดการได้โดยง่าย ดังนั้นเพื่อเป็นการแก้ไขสิ่งที่หลายๆ คนกำลังกังวลกันอยู่ เรามาดูแนวคิดการจัดตั้ง Single Gateway ที่เหมาะสมต่อการพัฒนาและส่งเสริมยุค Digital Economy ที่ประเทศไทยกำลังมุ่งไป
– ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เพียงพอ
ประเด็นแรกที่หลายๆ คนกำลังกังวลกันก็คือเมื่อยุบท่อที่ใช้รับ-ส่งข้อมูลจากหลายๆ ท่อลงเหลือท่อเดียวแล้วความเร็วอินเทอร์เน็ตจะช้าหรือไม่? ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความเร็วอินเทอร์เน็ตไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนท่อ แต่ขึ้นอยู่กับขนาดของท่อ ดังนั้นถ้ามีเพียงท่อเดียว แต่มีแบนด์วิธที่กว้างมหาศาล ก็สามารถรองรับการใช้งานของคนทั้งประเทศได้อย่างสบาย
ในทางเทคนิคแล้วการสร้างท่อส่งข้อมูลที่มีแบนด์วิธสูงๆ อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงตามไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายๆ คนก็กังวลกับงบประมาณที่ต้องใช้ แต่ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ เช่นการสร้างท่อส่งข้อมูลเล็กๆ ที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า หลายๆ ท่อแล้วทำ Load Balance กันก็ได้เช่นเดียวกัน
ออกแบบใหม่ตามเค้าโครงด้านบน : แม้เป็น Single Gateway ก็สามารถทำ Load Balance ช่วยได้ หรือถ้าจะมองในอีกมุมหนึ่งก็คือการรวมเอาท่อที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตแทบไม่มีความแตกต่างจากเดิมเลย เพราะจำนวนท่อและความกว้างของท่อเท่าเดิม โดยอาจจะเป็นการรวม Physical คือเดินสายจาก ISP ทุกเส้นมาเข้าชุมสายกลางของรัฐบาลก่อนแล้วค่อยกระจายไปออกไปตามเครือข่ายเดิม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายพอสมควร หรือจะเป็นการรวมทาง Logical คือใช้ซอฟต์แวร์ไปครอบที่ท่อทุกๆ ท่อแล้วควบคุมผ่านศูนย์กลาง ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณที่น้อยกว่าก็ได้เช่นกัน
– เน็ตล่ม จบกัน ทั้งประเทศ
อีกหนึ่งกระแสที่พูดถึงกันคือการทำ Single Gateway นั้น ทำให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากถ้าระบบการรับส่งข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสายสัญญาณ หรืออุปกรณ์ควบคุมเน็ตเวิร์คเองไม่สามารถใช้งานได้ขึ้นมา ก็จะทำให้ประเทศไทยทั้งประเทศ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกขึ้นมาทันที
ปัญหานี้ก็เช่นเดียวกับข้อที่แล้ว ถ้าเราเข้าใจคำว่า Single Gateway ไม่ได้หมายถึง Single Link นั่นหมายความว่าอาจจะมีท่อที่ใช้รับส่งข้อมูลจริงๆ หลายท่อ หลายเส้นทาง ซึ่งแต่ละเส้นทางก็จะมีการ Backup ซึ่งกันและกันอยู่ แทบจะไม่ต่างอะไรกับโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้การทำ Single Gateway ไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงที่ระบบจะล่มเลยก็ว่าได้
– ความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่รับส่ง และการถูกจำกัดสิทธิ
มาถึงประเด็นที่ดูร้อนแรงที่สุด นั่นคือเรื่องความเป็นส่วนตัว การโดนดักจับข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งสามารถทำได้ทันทีถ้าหากรัฐบาลจะเป็นผู้ควบคุม Gateway เอง ซึ่งถ้ามองแบบผิวเผินก็ดูจะมีความเสี่ยงมากอยู่ เนื่องจากข้อมูลทุกอย่างจะต้องวิ่งผ่านระบบ Single Gateway ที่อาจจะมีเซิร์ฟเวอร์คอยตรวจสอบการรับส่งข้อมูลอยู่ตลอดเวลา
อย่าลืมว่าปัญหานี้ ต่อให้ไม่มี Single Gateway เราก็ต้องพบเจอเป็นประจำอยู่แล้ว เนื่องจากอินเทอร์เน็ตถือว่าเป็นเครือข่ายสาธารณะ ดังนั้นเราจึงมีสิ่งที่เรียกว่า VPN และ Secure Web (HTTPS) ที่อาศัยการเข้ารหัสที่มีความแข็งแกร่งในการส่งข้อมูล ซึ่งให้ความปลอดภัยในระดับที่หน่วยงานต่างๆ ยอมรับได้ เช่น สถาบันการเงินต่างๆ รวมถึงองค์กรหลายๆ ทีก็มีการใช้งาน VPN อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว
VPN ถูกออกแบบมาให้เกิดความปลอดภัยในการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายสาธารณะเช่นอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว
หลายคนอาจจะโต้เถียงว่าการเข้ารหัสไม่ได้สามารถรับประกันได้ว่าข้อมูลจะปลอดภัย 100% ซึ่งนั่นก็จริง เพราะถ้าจะตั้งใจถอดรหัสกันจริงๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่นั่นก็ต้องใช้เวลาหรือคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงมากๆ จึงจะสามารถทำได้ และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยเมื่อเทียบกับปริมาณข้อมูลมหาศาลที่ต้องวิ่งผ่าน Gateway ต่อวินาที ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้จงใจจะกระทำผิดใดๆ จนโดนจับตามองเป็นพิเศษก็ไม่ต้องกังวลอะไรมากครับ
บางเว็บที่ผิดกฏหมายหรือกระทบต่อความมั่นคงก็ถูกจำกัดการเข้าถึงอยู่แล้ว แม้ไม่มี Single Gateway
สิ่งเดียวที่จะทำได้แน่นอนที่สุดคือการจำกัดสิทธิหรือตัดการเชื่อมต่อทิ้งไปเลย ซึ่งถามว่าปกติต่อให้ไม่มี Single Gateway ก็สามารถทำได้อยู่แล้ว โดยการขอความร่วมมือกับทาง ISP ต่างๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันว่ามีบางเว็บหรือบางบริการที่เราไม่สามารถเข้าถึงได้อยู่แล้ว แม้ว่าจะยังไม่มี Single Gateway เลยด้วยซ้ำ
ดังนั้นถ้าสมมติว่าจะมีการตั้ง Single Gateway ขึ้นมาจริงๆ แบบห้ามไม่ได้ ก็ต้องดูว่าการออกแบบระบบต่างๆ รองรับกับปัญหาที่หลายๆ คนกังวลหรือไม่ ซึ่งตามปกติการออกแบบก็จะคล้ายกับการออกแบบระบบ Gateway ในองค์กรหลายๆ ที่ เพียงแค่ขนาดของระบบที่ใหญ่กว่าเท่านั้นเอง
การเตรียมรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
มาถึงจุดนี้ เชื่อว่าทุกคนคงเข้ากันแล้วว่าสิ่งที่น่ากังวลไม่ใช่คำว่า Single Gateway แต่เป็น “นโยบาย” ที่จะถูกวางว่าจะมีการกำหนดรูปแบบการใช้งานให้กับประชาชนในประเทศไทยทุกอย่างอย่างไรกันบ้างมากกว่า ซึ่ง Single Gateway นั้นเป็นเพียงเครื่องมือที่จะทำให้นโยบายเหล่านั้นถูกนำมาใช้ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้แม้ว่าจะยังไม่เกิด Single Gateway ขึ้นมา เราก็ยังคงต้องพบเจอกับนโยบายในการควบคุมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ดังนั้นการปรับตัวไม่ว่าจะเป็นส่วนของประชาชนเอง หรือภาคธุรกิจเองจึงยังไม่มีความจำเป็นใดๆ จนกว่านโยบายต่างๆ จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งนั่นต้องรอให้เกิดความชัดเจนมากกว่านี้เสียก่อนจึงจะสามารถบอกได้