นับเป็นอีกครั้งของความพยายามที่จะทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองต้นแบบ ’Smart City สมาร์ต ซิตี้’ เพราะวัฒนธรรมของเมืองภูเก็ตมีกลิ่นอายของความเป็นเมืองท่องเที่ยวสูงมาก ด้วยตัวเลขของประชากรที่มีสัดส่วนของนักท่องเที่ยวมากกว่าประชากรท้องถิ่นถึง 3 เท่า ทำให้การผลักดันเพื่อทำให้ภูเก็ตกลายเป็นเมือง ’สมาร์ต ซิตี้’ ทำได้หลายรูปแบบ แต่ที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ แล้วร่วมกันออกแบบระบบที่เหมาะสมที่สุดกับคุณสมบัติของเมืองนั้น ๆ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและเศรษฐกิจเติบโตแบบยั่งยืน

Naiyang-Beach

ความพยายามที่ผ่านมา
ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา เมืองอัจฉริยะ หรือ สมาร์ต ซิตี้ (Smart City) นับเป็นโครงการที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ต้องการให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยเป้าหมายที่จะพัฒนาคนให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ โดยรองนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้พัฒนาภูเก็ตให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีหัวเรือใหญ่อย่าง นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีไอซีทีขณะนั้น เลือกจังหวัดภูเก็ตให้เป็น 1 ใน 3 จังหวัดนำร่อง นอกเหนือจากเชียงใหม่ และขอนแก่น

ความตั้งใจในครั้งนั้น รัฐบาลต้องการจะสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อทำให้เมืองภูเก็ตมุ่งไปสู่ “5 อี” ได้แก่ อีโซไซตี้, อีเลิร์นนิ่ง, อีซิติเซ่น, อีเอดูเคชั่น และอีคอมเมิร์ซ ด้วยการวางโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยมี ‎บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการเพื่อเชื่อมโครงข่ายให้ครอบคลุมทั้งเกาะภูเก็ต

จากนั้นเป็นต้นมาก็มีการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นสมาร์ต ซิตี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ชื่อที่ต่างกันไป อาทิ โครงการ “ภูเก็ต ไอซีที อินโนเวชัน พาราไดซ์” ปี 2551 และโครงการจังหวัดต้นแบบอัจฉริยะภูเก็ต ปี 2557 แต่ก็ยังไม่มีโครงการใดเห็นเด่นชัดเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตยังได้ถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 9 ของซูเปอร์ คลัสเตอร์ (Super Cluster) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคตสําหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมให้เกิดขึ้นได้ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ จากการรวมกลุ่มอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จะช่วยลดต้นทุนการผลิตและเสริมศักยภาพในกลุ่มอุตสาหกรรมได้มากขึ้น และก้าวสู่การเป็นคลัสเตอร์ดิจิทัลอย่างแท้จริง

ทำไมต้องภูเก็ต

ด้วยขนาดพื้นที่ของจังหวัดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป และโครงสร้างประชากรในพื้นที่ที่มีอยู่เพียง 378,364 คน แต่มีนักท่องเที่ยวในปี 2557 สูงถึง 11,855,000 คน หรือคิดเป็น 3 เท่าของประชากรในพื้นที่ และในจำนวนนักท่องเที่ยวนี้เป็นชาวต่างชาติถึง 70% ดังจะเห็นได้ว่ากิจการส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติแทบทั้งสิ้น จึงเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการดึงชาวต่างชาติที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ามาจัดตั้งบริษัทหรือสาขาที่ภูเก็ต ซึ่งจะผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางธุรกิจดิจิทัล (Digital Hub)

อีกทั้งบทบาทในสมัยนั้นของกระทรวงไอซีทียังช่วยส่งเสริมให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านไอซีทีอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการสร้างกำลังคน ศูนย์ถ่ายทอดที่ทันสมัย ศูนย์นวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะ และการเสริมแรงจูงใจทางภาษี การแก้ไขกฎหมาย การทำวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานได้สะดวกคล่องตัว รวมทั้งการเจรจากับบริษัท IT ระดับโลกเพื่อให้มีการจัดตั้งสำนักงานระดับอาเซียนในภูเก็ต

นอกจากนี้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA หน่วยงานในสังกัดกระทรวง ยังได้ตั้งคณะทำงานโครงการพัฒนาพื้นที่ระบบนิเวศสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นที่ปรึกษา รองผู้ว่าฯ เป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเป็นคณะทำงาน มีสำนักงาน SIPA สาขาภูเก็ตเป็นเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาแนวทางการพัฒนา Smart City ทุกรูปแบบ รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหา กฎระเบียบ กฎหมาย และข้อบังคับที่เหมาะสม โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ขณะเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกับคนในพื้นที่ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงไอซีทีจะเป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการบริการต่าง ๆ เข้าด้วยกันตามมาตรฐานหรือแพลตฟอร์มกลาง

แม้ว่าความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมาจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างให้ภูเก็ตเป็นสมาร์ต ซิตี้ได้ แต่กระนั้นก็ทำให้ภูเก็ตมีความพร้อมที่จะพัฒนาต่อ มากกว่าจังหวัดใดในประเทศไทย ซึ่งก็ทำให้ความพยามยามครั้งล่าสุดตามแผนแม่บทดิจิทัล อีโคโนมีเริ่มต้นทำให้ภูเก็ตกลับมาเป็นดิจิทัล ฮับอีกครั้ง
แผนใหม่ ภูเก็ตเทียบเคียงปูซาน
“ภูเก็ต สมาร์ต ซิตี้” เป็น 1 ใน 24 โครงการนำร่องตามนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” หรือ ดิจิทัล อีโคโนมี ของรัฐบาล เป็นจังหวัดที่มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานค่อนข้างมาก ขณะที่ภาคเอกชนเองก็พร้อมเข้ามาร่วมลงทุนด้วย จึงสามารถพัฒนาไปได้โดยอาศัยทั้งงบประมาณส่วนกลางและงบประมาณท้องถิ่นที่จะขับเคลื่อนแผนงาน ซึ่งจะทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนได้
โดยให้ SIPA เป็นตัวหลักในการสร้างอุตสาหกรรมที่ 2 รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผลักดันให้เกิดผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นโครงการสำคัญใน “ภูเก็ต สมาร์ต ซิตี้” ก็คือการต่อยอดด้านการท่องเที่ยวด้วยการสร้างแพลตฟอร์มรองรับ อาทิ สร้างเครือข่ายฟรีไวไฟที่มีระบบซีเคียวริตี้พร้อมให้ข้อมูลการเดินทางให้นักท่องเที่ยว ตั้งแต่ที่สนามบินไปถึงพื้นที่สาธารณะอื่น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้

“โจทย์หลักของดิจิทัลไทยแลนด์ คือการให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ส่วนของภูเก็ต สมาร์ต ซิตี้ ช่วงแรกยังไม่ต้องใช้เงินมากนัก เพราะทั้งทีโอทีและแคทมีโครงข่ายไฟเบอร์ออปติกเสริมจุดไวไฟให้ครอบคลุมขึ้น และอาจขอความร่วมมือโอเปอเรเตอร์ด้วย เน้นที่ความร่วมมือกับเอกชน เปิดให้เอกชนเข้าร่วมโครงการ โดยจะมีโรดโชว์เพื่อดึงคนมาลงทุนในภูเก็ตให้มากขึ้น”

ทั้งนี้ งบประมาณตามโครงการนำร่องราว 234 ล้านบาท แบ่งเป็นของกระทรวงไอซีที 137 ล้าน อีก 97 ล้านบาทเป็นงบประมาณของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่จะใช้ลงทุนระบบจราจรอัจฉริยะในภูเก็ต รวมเข้ากับของ SIPA อีกกว่า 30 ล้านบาท และโครงการที่เริ่มต้นแล้ว คือ “ไทยแลนด์ ทัวริสต์ โอเพ่น แพลตฟอร์ม” ที่เป็นแพลตฟอร์มกลางสำหรับการซื้อขายสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งพัฒนามาสำหรับการค้าขายแบบ B2B มีผู้ประกอบการเข้าร่วมแล้วราว 100 ราย และกำลังพัฒนาเป็น B2C (ธุรกิจกับผู้บริโภค) ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการสร้าง “อินโนเวชัน เซ็นเตอร์” ที่อาคารวิจัย 5 ชั้นของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในพื้นที่ 1,200 ตร.ม. มีทั้งพื้นที่โชว์เคส และสร้างเป็นอินโนเวชัน เซ็นเตอร์ รวมถึงการเปิดเป็นพื้นที่ให้เทคสตาร์ตอัพใช้ทำงานแบบ Coworking Space โดยแคทจะเข้าไปวางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมทุนสนับสนุนสตาร์ตอัพที่มีผลงานโดดเด่น ส่วนการเจรจากับ BOI เพื่อให้การลงทุนในภูเก็ตได้สิทธิพิเศษมากขึ้น รวมถึงการตั้งศูนย์ส่งเสริมการลงทุนแบบครบวงจรน่าจะเสร็จได้ภายในเดือนกันยายน 2559

ความพยายามครั้งนี้ นอกจากจะได้รับแรงผลักจากรัฐบาลแล้วยังได้รับความร่วมมือจากทั้งภาคเอกชนและประชาชนเป็นอย่างดี โดยมีโครงการอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งเข้ามาหารือ พร้อมทั้งมีนักพัฒนาและผู้ให้บริการโซลูชันมีแนวคิดสร้างระบบแจ้งเหตุด่วนเหตุร้ายอย่าง ภูเก็ตแอพฯ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวแจ้งเหตุร้าย และขอความช่วยเหลือจากตำรวจในพื้นที่ผ่านแอพพลิเคชันได้ รวมถึงการเชื่อมฐานข้อมูลกับท่าเรือต่าง ๆ เพื่อให้กำหนดพิกัดของเรือที่อยู่ในภูเก็ต

นอกจากนี้ยังสร้างฐานข้อมูลเกี่ยวกับคนต่างด้าวที่เข้ามาในพื้นที่แบบออนไลน์เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทย เพื่อความยั่งยืนระยะยาวจะมีการผลักดันให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนในการพัฒนาบุคลากรให้เริ่มต้นและก้าวเป็นผู้ประกอบการธุรกิจด้านเทคโนโลยี (เทคสตาร์ตอัพ) โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสถาบันการศึกษาอื่น ซึ่งในครึ่งปีแรกจะมีการเฟ้นหาและสร้างหลักสูตรที่เหมาะสม ก่อนเริ่มเปิดการเรียนการสอนในครึ่งปีหลัง
ยกระดับความปลอดภัย CCTV ทั่วทั้งจังหวัด
ภูเก็ตตั้งเป้าให้กลายเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยสูงด้วยการสร้างระบบกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อให้สามารถบันทึกและเห็นเหตุการณ์ได้ทั่วทั้งจังหวัดภายในปี 2559 ภายใต้แผนหลัก Smart City ซึ่งมีด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่
1. Smart Economy เป็นการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมที่ 2 ขึ้นในจังหวัดภูเก็ต โดยจะมุ่งเน้นไปทางด้านเทคโนโลยี ทั้งการเป็นแหล่งรวมนักพัฒนา ในลักษณะของ Research Center หรือ Innovation Center และส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหันมาใช้ Smart Technology ในการเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจมากขึ้น

2. Smart Living Community การสร้างสังคมให้น่าอยู่ ปลอดภัยทั้งทางบกและทางน้ำ โดยมีการนำระบบ CCTV เข้ามาช่วยเฝ้าระวัง และทำงานร่วมกับโซลูชันตรวจจับใบหน้า เพื่อตรวจสอบและติดตามผู้กระทำผิด เพื่อส่งการแจ้งเตือนไปที่เจ้าหน้าที่ต่อไป ขณะที่ทางน้ำได้วางระบบการจัดการเรือเดินทะเล เพื่อให้ทราบจำนวนและสถานะ อีกทั้งยังวางโครงการใช้ Smart Band กับนักท่องเที่ยว เพื่อเสริมด้านความปลอดภัยทั้งระบบ โดย Smart Band จะช่วยให้ทราบสถานะของนักท่องเที่ยว ตลอดจนระยะห่างจากเรือระหว่างทำกิจกรรมเช่นการดำน้ำเป็นต้น เพื่อเฝ้าระวังเหตุสุดวิสัย และอาจนำอันตรายมาสู่นักท่องเที่ยวได้
3. Smart Sensor เป็นเซนเซอร์ IoT รุ่นใหม่ สำหรับการตรวจสอบสภาพอากาศ ตรวจเช็กสภาพของน้ำทะเล และตรวจสอบความผิดปกติ โดยเมื่อพบความผิดปกติ ระบบจะส่งข้อมูลกับมาที่ส่วนกลาง เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้กับประชาชน เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยการสร้าง Public Free Wi-Fi ความเร็วแบบ Hi-Speed อย่างน้อย 20Mbps ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อให้ทันกับช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต

ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดภูเก็ต รัฐบาลกำหนดเป้าหมายพัฒนาเมืองในช่วง 2020 มุ่งพัฒนาเป็นเมืองเศรษฐกิจยุคใหม่ ทั้งการเชื่อมต่อด้านอินเทอร์เน็ต การดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาให้เป็นเมืองแห่งการลงทุน และเมืองแห่งความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว โดยในช่วง 1-2 ปีแรกจะเป็นการจัดทำฟรีไวไฟ การแก้ปัญหาจราจร การเชื่อมโยงข้อมูลกล้องวงจรปิดทั้งหมด 2,000 ตัวของเมืองภูเก็ต เพื่อประเมินการก่อเหตุและหาทางป้องกันได้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่

การบูรณาการให้จังหวัดภูเก็ตกลายเป็นสมาร์ต ซิตี้ในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) และ SIPA ในการเข้ามาพัฒนาจังหวัดภูเก็ต โดยเบื้องต้นใช้เงินงบประมาณราว 200 ล้านบาทในการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานสมาร์ต ซิตี้ในเมืองภูเก็ต ในระยะต่อไป เมืองภูเก็ตจะเป็นเมือง Internet of Thing (IoT) ในการใช้ระบบเครือข่ายปิดไฟตามแหล่งสาธารณะ จะมีการเชื่อมโยงข้อมูล การแจกซิมการ์ดมือถือให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อติดตามการเดินทาง และสามารถใช้บริการตามแหล่งต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก และเมื่อสามารถพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยได้สมบูรณ์ ก็คาดว่าจะทำให้มีนักลงทุน นักท่องเที่ยวบินตรงไปยังภูเก็ตมากขึ้น