ร.ร.อ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม คว้า No.1 จาก “โครงงาน IoT แจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้” ในกิจกรรม DigiGirlz 2019 การแข่งขันโค้ดดิ้งที่ไมโครซอฟท์ และสิริเวนเจอร์ ….
highlight
- โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง คว้า No.1 จากกิจกรรม MakeWhatsNext DigiGirlz 2019 จากโครงงาน “แบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT“ ด้วยการเขียนโค้ดดิ้ง micro:bit และได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท
เด็กไทย คว้า No.1 กิจกรรม DigiGirlz 2019
เมื่อเร็วๆนี้ ไมโครซอฟท์จัดกิจกรรม #MakeWhatsNext DigiGirlz 2019 Thailand โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กนักเรียนหญิงไทยให้ตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง และรับรู้ถึงทิศทางที่ถูกต้อง เพื่อสามารถทำตามความฝันด้านสะเต็มศึกษาให้สำเร็จ ผ่านการแข่งขันการใช้ทักษะดิจิทัล
ซึ่งปีนี้ ไมโครซอฟท์ได้นำ micro:bit เข้ามาใช้เป็นปีแรก โดยทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง ซึ่งได้สร้างสรรค์โครงงาน “แบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT“
โดยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในบริเวณที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุปกรณ์จะสามารถตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิสูงเกินค่าที่กำหนดไว้หรือไม่ จากนั้น อุปกรณ์จะทำการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ผ่านแอปพลิเคชันการส่งข้อความ พร้อมส่งข้อมูลที่จำเป็น ได้แก่ แผนที่พิกัดที่ติดตั้งอุปกรณ์ อุณหภูมิที่เกิดเหตุ ชื่อของผู้ใช้งาน และเบอร์ติดต่อ
ไปที่เว็บไซต์ที่จัดทำให้สำหรับสถานีดับเพลิง โดยในขณะเดียวกัน ตัวอุปกรณ์ก็จะสามารถสั่งงานให้เปิดน้ำเพื่อดับไฟแบบเบื้องต้นได้อีกด้วย โดยทีมผู้ชนะ ซึ่งได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท ได้แข่งขันร่วมกับทีมนักเรียนทั้งหมด 13 ทีม และมีนักเรียนหญิงผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 145 คน
รัชนี จณะวัตร ผู้อำนวยการฝ่ายการบริการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของไมโครซอฟท์ ดิฉันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนเด็กผู้หญิงในการเรียนรู้และการประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษา ผ่านการมอบความรู้ และฝึกอบรมทักษะเชิงดิจิทัลที่จำเป็นให้กับพวกเขา
และในฐานะที่เป็นผู้หญิงที่ทำงานอยู่ในวงการเทคโนโลยี รู้สึกชื่นชมเด็ก ๆ ทุกคนที่เข้าร่วมในงานนี้ ทุกคนมีความตั้งใจ มีความสามารถ และมาเติมพลังด้วยกันในงาน ดิฉันหวังว่าโครงการ #MakeWhatsNext DigiGirlz จะเป็นอีกหนึ่งโอกาสครั้งสำคัญในการสนับสนุนให้เด็กผู้หญิงหันมาสนใจเรียนรู้
และประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มศึกษามากขึ้น และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำมาซึ่งความสำเร็จในหน้าที่การงานของพวกเขาในอนาคตได้ ดิฉันต้องขอขอบคุณทางสิริเวนเจอร์ที่ได้ให้การสนับสนุนงานด้านการเสริมสร้างทักษะดิจิทัลของไมโครซอฟท์มาโดยตลอด
รวมไปถึงภาครัฐอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นกำลังสำคัญอย่างแน่นแฟ้นของเรา
ด้าน จุฬาลักษณ์ แตงเอี่ยม หนึ่งในสมาชิกของทีมนักเรียนที่ชนะเลิศการแข่งขัน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ สมาชิกทุกคนในทีมของเราไม่เคยมีทักษะด้านการเขียนโค้ดมาก่อนเลย
ซึ่งเราได้มีโอกาสพัฒนาทักษะด้านการเขียนโค้ดเป็นครั้งแรกจากการฝึกอบรมที่ทางไมโครซอฟท์จัดขึ้นในวันแรกของการแข่งขัน และเรารู้สึกว่าการเข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ให้กับเรา มันไม่ได้ยากเกินกว่าความสามารถ
เมื่อเอามาประกอบความคิดสร้างสรรค์ทำให้เรารับรู้ว่าเราทำได้ โครงงานแบบจำลองการแจ้งเตือนเหตุเพลิงไหม้ด้วยระบบ IoT ถูกจัดทำขึ้นเพราะเราเห็นว่าในปัจจุบัน มีการรายงานข่าวเกี่ยวกับเหตุเพลิงไหม้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาดังกล่าวสามารถป้องกัน หรือลดการสูญเสียได้ด้วยการใช้งานเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
ด้าน จิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่เทคโนโลยี บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ฟังข่าวเกี่ยวกับเด็กหญิงวัยรุ่นชาวสวีเดนวัย 16 ปี ซึ่งได้รับการเสนอชื่อให้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปีนี้ จากการเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาสนใจเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมากขึ้น
ซึ่งทำให้ผมเชื่อมั่นว่าเยาวชน รวมถึงเด็กผู้หญิง เป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำด้วยการใช้เทคโนโลยีในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกของเราได้ หากได้รับการสนับสนุน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ DigiGirlz 2019 จะเป็นประสบการณ์ที่ดีสำหรับน้องที่เข้าร่วมการแข่งขันทุกคนในการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลต่อไป
ส่วนขยาย
* บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ
** เขียน: ชลัมพ์ ศุภวาที (บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าว)
*** ขอขอบคุณภาพบางส่วนจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตามข่าวสารและบทความทางด้านเทคโนโลยีของเราได้ที่