Eleader May 2015

สุรางคณา วายุภาพ

โค้งสุดท้ายของการพิจารณาร่างกฎหมายเศรษฐกิจยุคดิจิรัฐบาล คาดว่าภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า ไทยจะมีชุดกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล 3-4 ฉบับจาก 7 ฉบับได้มีผลบังคับใช้ สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)  ในฐานะหัวหน้าทีมร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล กล่าว

ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรม ซึ่งปรับเปลี่ยนโครงสร้างจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยส่วนใหญ่จะคงหน่วยงานเดิมไว้ ยกเว้นศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ที่จะถูกโอนไปอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี เนื่องจากภารกิจไม่สอดคล้องกับกระทรวงใหม่ โดยจะถูกยุบหน่วยงาน และมีทรัพย์สิน พร้อมบุคลากรบางส่วน โอนไปยังสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะตั้งขึ้นใหม่

กฎหมายฉบับที่สองนั้น เป็นร่างพ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ.นี้คือ ต้องมีคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่คาดว่าจะลดจำนวนจาก 25 เหลือ 11 คน ให้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ ครม. ตั้ง 5-8 คน แต่ในการรับฟังความเห็นแล้วอาจจะมีการปรับแก้ในวาระ 3 เพื่อเพิ่มจำนวนกรรมการจากฝั่งเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น และจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล โดยได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล และหักรายได้ 25% จากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทั้งให้ดึงเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่มาสมทบเข้าเพิ่มเติมให้เพียงพอต่อการทำงานได้

ส่วนกฎหมายฉบับที่สาม ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือเรียกสั้นๆ ว่าร่างพ.ร.บ. กสทช ในฉบับของกฤษฎีกา ยังให้อำนาจความเป็นอิสระการทำงานของ กสทช. ทั้งการวางนโยบายและแผนแม่บทต่างๆ และการจัดสรรคลื่นความถี่ ยกเว้นการประสานงานคลื่นในกิจการดาวเทียมที่อยู่กับคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่สี่ คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมการกำกับดูแลและเอื้ออำนวยความสะดวกส่งเสริมการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์  โดยจะต้องมีการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นองค์กรใหม่ตามพ.ร.บ.ดังกล่าว ผลที่ตามมา จะทำให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (สพธอ.) เปลี่ยนสถานะเป็นนิติบุคคล จากปัจจุบันเป็นองค์กรมหาชน ทำให้หน่วยงานมีความยืดหยุ่นการร่วมลงทุนกับเอกชน แบบ PPP-Public Private Partnership

ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวอีกว่า ส่วนของร่างพ.ร.บ. ที่เหลืออยู่อีกสามฉบับนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยสามเดือน จึงจะผ่านคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเข้าสู่การพิจารณาของสนช. เนื่องจากการหารือในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น ร่างพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งยังมีความท้าทายการกำหนด “นิยาม” ของ “ข้อมูลส่วนบุคคล” โดยปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่าสิบฉบับที่ได้ให้นิยามของ “ข้อมูลส่วนบุคคล” ที่แตกต่างกันไป ซึ่งต้องให้ได้นิยามที่ครอบคลุมและไม่เป็นปัญหาในการตีความในทางปฏิบัติ

ขณะที่ ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์สูง สร้างความกังวลว่าจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัวของประชาชนนั้น ได้เพิ่ม “การกำหนดให้ เจ้าหน้าที่รัฐ” เข้าถึงข้อมูลของเอกชนหรือประชาชนใดๆ ต้องขอ “หมายศาล” ก่อนดำเนินการ เพื่อสร้างสมดุลของความมั่นคงและสิทธิเสรีภาพของประชาชน