Eleader August 2015
IoT หรือ Internet of Things วันนี้เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น แต่อาจจะยังไม่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จักของผู้คนในวงกว้างมากนัก ถ้าเปรียบเทียบก็คงจะคล้ายคลึงกับตอนเกิดอินเทอร์เน็ตขึ้นในประเทศไทยเมื่อราว 20 ปีที่แล้ว เพราะในช่วงแรก อินเทอร์เน็ตใช้งานอยู่ในวงจำกัดมากๆ โดยเริ่มจากใช้ในมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่ง ก่อนที่จะขยายสู่มหาวิทยาลัยต่างๆ และก็ขยับขยายออกมาใช้งานในบริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ ในที่สุดก็เกิดการให้บริการอินเทอร์เน็ตขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ จนถึงปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตเข้าไปอยู่แทบทุกพื้นที่แล้ว
กลับมาที่ IoT ถ้าย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว อาจจะยังต้องอธิบายว่า IoT คืออะไร หากแต่วันนี้ IoT กำลังเดินหน้าด้วยพัฒนาการที่ออกมาในรูปอุปกรณ์พกพาต่างๆ มากมาย เช่น Smart Watch, สายรัดข้อมือรายงานพฤติกรรม, อุปกรณ์บันทึกกิจกรรมที่มาพร้อมการแสดงผลร่างกาย รวมถึงอุปกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น Smart TV, Smart Taxi (All Thai Taxi) เป็นต้น และใหญ่ขึ้นไปอีกคือ IoT ใน Smart Home เป็นอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็น IoT อยู่ในบ้าน ได้แก่ สวิตช์ไฟ, รีโมต, ม่านไฟฟ้า, ประตู ฯลฯ ยิ่งใหญ่ไปกว่านั้นคือ Smart City หลายๆ สิ่งสามารถควบคุมมอนิเตอร์ และสั่งการ หรือสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตได้ด้วยอุปกรณ์ต่างๆ ที่ฝังชิปไว้
จะเห็นว่า IoT เริ่มเข้ามาอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันมากขึ้น และจากนี้ไป IoT จะมีการใช้งานที่ขยายวงกว้างมากขึ้นไปในระบบอุตสาหกรรม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะจากนี้ไป…ในอนาคต IoT จะเป็นอุปกรณ์ที่มอนิเตอร์ระดับน้ำ และระดับน้ำฝน, ตรวจสอบระดับมลพิษ, ติดตามสัตว์ป่าที่เราต้องการศึกษาพฤติกรรม เพื่อประโยชน์ต่อการปกป้องสัตว์เหล่านั้น, ระบบแจ้งเตือนหากอุปกรณ์ดังเพลิงไม่พร้อมใช้งาน, ระบบตรวจสอบสภาพแวดล้อมของฟาร์ม เพื่อวางแผนทางการเกษตรให้เหมาะสม, ระบบมอนิเตอร์การตัดไม้ทำลายป่า ฯลฯ และอีกหลายสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้
สำหรับประเทศไทย ไม่จำเป็นต้องรอเทคโนโลยีจากต่างประเทศอีกต่อไป เพราะวันนี้…เรามีมหาวิทยาลัยบางแห่งเปิดหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (Internet of Things) หรืออินเทอร์เน็ตประยุกต์ เกิดขึ้นแล้ว เรามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดหลักสูตรพัฒนาแอพพลิเคชัน
เรามีสมาคมเฉพาะทาง ที่ให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนให้ความรู้ ไปจนถึงการจับคู่ทางธุรกิจ หรือแม้กระทั่งการนำโจทย์จากภาคอุตสาหกรรมมาพัฒนาเทคโนโลยี นั่นคือสมาคมสมองกลฝังตัวไทย หรือ Thai Embedded Systems Association (TESA) ซึ่ง TESA มีบทบาทถึงขั้นการพัฒนาในระดับชิปหรือวงจรรวม เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรม IoT ตามที่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจต้องการ
โดยสรุปคือ ประเทศไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนา IoT ให้ก้าวไกลได้อีกมากอย่างแน่นอน