การพัฒนาไปสู่ Thailand 4.0 หรือที่หลายคนคาดหวังว่าจะกลายมาเป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ มีการโยงใยไปถึงการปรับฐานอุตสาหกรรมนำประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยีเพื่อทุกภาคการผลิต ไม่เว้นแม้กระทั่งการบริการ ที่ภาครัฐต้องการจะการใช้งานเทคโนโลยีในทุกภาคส่วน (Digital Economy)
อย่างไรก็ดีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริการ และการผลิตไม่ได้ง่ายเช่นนั้น เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เพราะท้ายที่สุดแล้วเทคโนโลยีก็เป็นเพียงตัวแปรหนึ่งของความสำเร็จในอนาคตนั่นเอง
Thailand 4.0 ควรเริ่มจากสนับสนุนสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช่การสร้างใหม่ หรือบังคับใช้
กลับมามองที่โลกความเป็นจริงเบื้องต้น เราเห็นความพยายามของรัฐบาลในการส่งเสริมสตาร์ทอัพของไทยในทุกด้าน ซึ่งบางกลุ่มก็เข้าใจว่าสตาร์ทอัพคือเทคสตาร์ทอัพ แต่ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว สตาร์ทอัพก็หมายถึงกลุ่มบุคคลที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในทุกประเภทจากไอเดียหรือแนวคิดนั่นเอง
แน่นอนว่าการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นรายเล็กของตลาด การส่งเสริมของภาครัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในส่วนของความรู้ การเข้าใจในธุรกิจ ข้อมูลทางการตลาด ตลอดจนการเตรียมการในส่วนของเงินทุน เพื่อให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงได้อย่างมีเหตุผล เพราะจะว่าไปแล้ว กลุ่มสตาร์ทอัพเหล่านี้ยังขาดความพร้อมอีกหลายด้าน
มองย้อนไปที่กลุ่มเทคสตาร์ทอัพของไทยที่นำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อก่อให้เกิดรายได้เข้าบริษัท แล้วในที่สุดก็เติบโตขึ้นกลายมาเป็นบริษัทที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก จะเห็นได้ว่ากลุ่มเทคสตาร์ทอัพเหล่านี้มีพื้นฐานฐานะครอบครัวที่ดี
แต่ละคนที่เข้าร่วมโครงการล้วนเคยศึกษาในต่างประเทศมาแล้วแทบทั้งสิ้น จนบางมุม รัฐแทบไม่ต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ กลุ่มเทคสตาร์ทอัพเหล่านี้ก็สามารถขายงานของตนเองให้กลุ่มนักลงทุนที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกได้อย่างสบาย ซึ่งนั่นก็เป็นเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ที่ได้รับการส่งเสริม แม้ว่าจะไม่มาก แต่ก็มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง
กลับมาที่กลุ่มสตาร์ทอัพจริง ๆ ที่เริ่มต้นจากความฝัน จนเกิดเป็นแนวคิด ไอเดีย และรูปร่างของแผนงานเพื่อการสร้างธุรกิจ โดยเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ต้องใช้กำลังทรัพย์ที่มีอันน้อยนิด หรือแม้กระทั่งลาออกจากงานเพื่อสร้างความฝันของตัวเองให้เกิดขึ้น กลุ่มเหล่านี้มักเริ่มต้นจากการสร้างตลาดออนไลน์ การสร้างสินค้า
หรือแม้กระทั่งการสร้างเทคโนโลยีแบบง่ายเพื่อให้เกิดการทำงานที่ง่ายขึ้นและได้ผลผลิตมากขึ้น ความจำเป็นของรัฐบาลควรเริ่มต้นส่งเสริมคนกลุ่มนี้ให้เกิดการสร้างธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม เพราะท้ายที่สุดแล้วคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่จะนำพาความก้าวหน้า ตลอดจนนำพาประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ยกตัวอย่างเช่น ชาวนา ถือว่าเป็นสตาร์ทอัพได้ หากมีการส่งเสริมให้โมเดลของธุรกิจขายข้าวเปลี่ยนไป จากเดิมที่ชาวนาไม่มีความสามารถหรือแม้กระทั่งกรรมวิธีในกระบวนการแปรรูปเพื่อขายข้าวให้กลุ่มผู้บริโภคโดยตรง การส่งเสริมเทคโนโลยีหรือแม้กระทั่งรูปแบบการตลาดเพื่อทำให้คนกลุ่มนี้มีแรงในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดขึ้น
และย่อมหมายถึงเศรษฐกิจที่ขยายตัว และการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมในสังคมที่หลายคนถวิลหา แต่หากปล่อยไว้เช่นนี้ การคุ้มทุนของกระบวนการผลิต ตลอดจนการขายจะไม่สอดคล้องกันเป็นอย่างมาก ท้ายที่สุด อาชีพดั้งเดิมเหล่านี้ก็จะหายไป และสุดท้ายรูปแบบของสังคมก็จะเริ่มโซเซ เพราะไม่สามารถสร้างอาหารให้เกิดขึ้นในสังคมได้เพียงพอ
ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสังคม
ในต่างประเทศ การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างงานในกลุ่มชนชั้นกลาง-ล่างไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แน่นอนว่าการไร้ข้อจำกัดด้านอายุของนานาประเทศเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติมากหากจะมีอายุมากในการเรียนจบขั้นปริญญาตรีและสามารถสมัครงานได้อย่างไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด
ข้อดีด้านนี้ทำให้เกิดการส่งเสริมเพิ่มความรู้ให้กลุ่มคนทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยทั่วไปมักผ่านศูนย์ให้ความรู้แบบศึกษาผู้ใหญ่ โดยจะมีในส่วนของการส่งเสริมธุรกิจเฉพาะด้าน ประชาชนหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ ขอคำปรึกษาในการจัดตั้งธุรกิจ หรือแม้กระทั่งสามารถเป็นพี่เลี้ยงในการเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจได้อย่างมืออาชีพ
ซึ่งโดยปกติทั่วไป ศูนย์ดังกล่าวสามารถหาข้อมูลได้ผ่านระบบออนไลน์และกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่ของประเทศ การส่งเสริมดังกล่าวมีการร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ที่เข้ารับการฝึกเป็นผู้ประกอบการได้เข้าใจในทุก ๆ ขั้นตอนของการประกอบธุรกิจ
นับตั้งแต่การเขียนแผน การหาข้อมูลเพื่อวิเคราะห์แผนการว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนการเริ่มต้นธุรกิจดังที่กล่าวมาข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น การประสานกับสถาบันการศึกษาเพื่อวิจัยและวิเคราะห์ตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะไม่ใช่รายกรณี
แต่จะเป็นการวิจัยของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ทำให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้าใจถึงสภาพตลาดและพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจนมากขึ้น และท้ายที่สุดก็จะสามารถสร้างสรรค์ธุรกิจที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างไม่ยากนัก ขณะที่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้นก็มีการเชื่อมโยงโดยภาครัฐมีส่วนในการค้ำประกันเงินกู้เพื่อเริ่มต้นธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ
โดยเงินตั้งต้นจะเป็นเงินที่ไม่มากแต่ก็เพียงพอที่จะเริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจได้อย่างสบาย เพราะด้วยโครงสร้างทางกายภาพทั้งในส่วนของสำนักงานและเครื่องใช้ต่าง ๆ สามารถใช้งานของศูนย์ได้อย่างครบถ้วนก่อนในช่วงแรก ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดสตาร์ทอัพในหลากหลายธุรกิจให้เกิดขึ้นได้
และหากจะเป็นด้านเทคสตาร์ทอัพแล้ว ต่างประเทศยิ่งไปไกลกว่าเราหลายเท่า เพราะนอกจากจะมีค่ายที่ส่งเสริมหรือบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีแล้ว ยังมีกลุ่มทุนที่คอยให้การสนับสนุนซึ่งมีรัฐบาลเป็นตัวกำหนดทิศทางการสนับสนุนอยู่อย่างเข้มข้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานในประเทศอย่างต่อเนื่อง
เพื่อให้กลุ่มเทคสตาร์ทอัพเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งในอนาคต ซึ่งหัวใจหลักของการเกิดสตาร์ทอัพก็คงหนีไม่พ้นในเรื่องของการเริ่มต้นนี่จะต้องตั้งไข่ให้ได้ มิเช่นนั้นแล้วก็ไม่มีทางที่จะเกิดเศรษฐกิจที่เข้มแข็งจากรายย่อยได้อย่างแน่นอน
ประเทศไทยกับโอกาสการเติบโต?
หากจะมองการปรับตัวเพื่อส่งเสริมการเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพในประเทศไทย เราเริ่มเห็นเค้าโครงที่ดีจากการจัดงานดิจิทัลไทยแลนด์ 4.0 เพราะนอกจากจะมีการเสวนากันเรื่องแนวทางการส่งเสริมแล้ว ยังมีความชัดเจนในส่วนของกรอบการทำงาน กรอบระยะเวลาของการส่งเสริม
และกลายมาเป็นแผนแม่บทของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนสืบต่อไป ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมดสวยหรูในเชิงนโยบาย แต่กระนั้น เมื่อหันกลับมามองที่ความเป็นจริงตรงหน้า เรายังคงเห็นการทำงานที่เชื่องช้าของหน่วยงานรัฐในหลาย ๆ เรื่อง รวมไปถึงกฎระเบียบของการกู้เงินเพื่อตั้งต้นธุรกิจ ที่จะต้องไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรือเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ
แม้ว่าจะขัดขวางการเกิดของสตาร์ทอัพหน้าใหม่ก็ตาม จะเห็นได้ว่าการจะสมัครเข้าร่วมโครงการรัฐหลายแห่งต้องมีการจัดตั้งธุรกิจเป็นรูปเป็นร่างแล้วแทบทั้งสิ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปก็เท่ากับความเข้าใจเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยกลุ่มเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย
ที่ผ่านมาเราพยายามที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้คนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง การเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ตลอดจนความรู้ของการเล่าเรียนภาคบังคับมาอย่างต่อเนื่อง หากแต่โครงการบ่มเพาะธุรกิจหน้าใหม่กลายเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าไม่ถึงและไม่สามารถที่จะนำฝันของการประกอบธุรกิจขึ้นมาเป็นจริงได้
ย่อมหมายถึงการดำเนินงานที่ผิดพลาดของการขีดเส้นให้ประเทศพัฒนา ประเทศไทยเรามีหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องการค้าขายออนไลน์ แต่กลับมีบทบาทหลักที่โดดเด่นเพียงการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของการค้าขายออนไลน์เท่านั้น ขณะที่หน่วยงานของรัฐมองการเริ่มต้นค้าขายออนไลน์ของพ่อค้าหัวใสที่ย้ายตลาดไปในระบบโซเชียลมีเดีย
หรือระบบออนไลน์ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงภาษีหรือการทำผิดกฎหมาย แทนที่จะมีการส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจเพื่อและต่อยอดพัฒนาไปสู่การค้าขายที่สามารถเติบโตขึ้นได้ในเวทีสากล ซึ่งแน่นอนว่าตลาดออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่ทำการค้าอีกต่อไป ทุกประเทศในโลกสามารถสั่งซื้อสินค้าจากไทยได้อย่างง่ายดาย
แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่ความฝัน เพราะเอาเข้าจริง นอกจากการไม่ส่งเสริมให้เกิดทักษะของการค้าขายที่ยั่งยืนแล้ว ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ตั้งกำแพงสกัดกั้นไม่ให้ธุรกิจเช่นนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งแง่ของกรรมสรรพากรในการจัดเก็บภาษี การไม่พัฒนาระบบขนส่งของรัฐเพื่อช่วยให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลงจนผู้ค้าสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานกำกับดูแลอีกหลายหน่วยงานที่มีหน้าที่การจับกุม แต่ไม่เคยให้ความรู้ในการสร้างสิ่งที่ถูกต้องแต่อย่างใด ขณะที่การควบคุมดูแลเพื่อไม่ให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคในระบบการค้าออนไลน์ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้บริโภคคำนึงถึง โดยข้อจำกัดเหล่านี้สกัดกั้นไม่ให้กลุ่มสตาร์ทอัพของไทยเติบโตขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งหากสามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ก็น่าจะทำให้เกิดเศรษฐกิจขนาดเล็กที่สามารถเติบโตได้ และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้อย่างยั่งยืนนั่นเองกล่าวโดยรวมคือโอกาสของผู้เล่นรายเล็กยังเป็นเพียงความฝันต่อไป การสร้างแนวคิดให้กลายเป็นธุรกิจยังมีความเป็นไปได้น้อย
ด้วยข้อจำกัดของผู้เริ่มต้นเอง และข้อจำกัดของหน่วยงานส่งเสริม ตลอดจนข้อกฎหมายที่ยังไม่เอื้อให้เกิดการลงทุนด้านนี้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจัง ทำให้อนาคตของสตาร์ทอัพยังคงขมุกขมัวต่อไป
การเตรียมตัวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0
ขอทำความเข้าใจกับความหมายและแนวทางของไทยแลนด์ 4.0 ด้วยวลีเด็ดว่าหมายถึง “การพัฒนาสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งจากภายใน ขับเคลื่อนตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านกลไกประชารัฐ” โดยความมุ่งมั่นของรัฐบาลคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม
ภายใต้การดำเนินงานใน 3 มิติที่สำคัญ ได้แก่ 1. เปลี่ยนการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้าเชิงนวัตกรรม 2. เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม 3. เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการมากขึ้น
โดยประเทศไทย 4.0 จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านทั้งระบบใน 4 องค์ประกอบสำคัญ คือ 1. เปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) ในปัจจุบันไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming) โดยเกษตรกรต้องร่ำรวยขึ้น และเป็นเกษตรกรแบบเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur)
2. เปลี่ยนจาก Traditional SMEs หรือ SMEs ที่มีอยู่ที่รัฐต้องให้ความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลาไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูง 3. เปลี่ยนจาก Traditional Services ซึ่งมีการสร้างมูลค่าค่อนข้างต่ำไปสู่ High Value Services 4. เปลี่ยนจากแรงงานทักษะต่ำไปสู่แรงงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะสูง
ยกตัวอย่างเช่น แนวทางของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ได้เริ่มต้นด้วยโครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ “หิ้งสู่ห้าง” หรือ Thailand Tech Show เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ประกอบการให้เข้าถึงแหล่งรวมงานวิจัยและพัฒนาได้ง่าย ให้เกิดการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์
โดยมีผลงานวิจัยจากองค์กรวิจัย สวทช. และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ พร้อมถ่ายทอดสู่เชิงพาณิชย์มาร่วมแสดงผลงานและสัมมนาให้ความรู้ในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดเป็นหนึ่งหน่วยงานในกระทรวงเศรษฐกิจที่ได้ขยายบทบาทจากเดิมเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยการทำวิจัยและพัฒนา
จะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างงานวิจัยและภาคอุตสาหกรรมที่เป็นผู้ใช้งานวิจัย นอกจากนี้ยังสร้างการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากเดิม
รัฐบาลมีนโยบายในการยกระดับเศรษฐกิจของประเทศจากการผลิตในอุตสาหกรรมหนักที่ใช้แรงงานและเครื่องจักรไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ความรู้และนวัตกรรมเป็นขับเคลื่อน หรือ “ประเทศไทย 4.0” พร้อมทั้งได้กำหนดขีดความสามารถพื้นฐานของประเทศไทย และความต้องการของตลาดในอุตสาหกรรมเป้าหมายไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่
1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ
2. กลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์
3. กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องมืออุปกรณ์อัฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม
4. กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อและบังคับอุปกรณ์ต่าง ๆ ปัญญาประดิษฐ์และสมองกลฝังตัว
5. กลุ่มอุตสาหกรรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง
ซึ่งการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็น New S-Curve นี้ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ผ่านการขับเคลื่อนในรูปแบบของ “ประชารัฐ” หรือ Public Private Partnership (PPP) ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่จากการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรม
อย่างไรก็ตาม การจัดงานดังกล่าวจะเป็นการเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ให้ก้าวไปข้างหน้าตามแนวคิด “ประเทศไทย 4.0” เพื่อให้ประเทศไทยเกิดความมั่นคงทางเทคโนโลยี ลดการพึ่งพิงจากต่างประเทศ ซึ่ง สวทช. ร่วมกับองค์กรพันธมิตร นำผลงานวิจัยจากทุกองค์กรวิจัย และมหาวิทยาลัย ทำ “โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์” ขึ้น
และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนให้เกิดการนำไปใช้ในการผลิต จำหน่าย หรือนำไปประกอบธุรกิจแบบไม่สงวนสิทธิ์ (Non-Exclusive) และต่อยอดด้วยการนำเสนอตามภูมิภาคต่าง ๆ ให้เป็นตลาดเทคโนโลยีที่เข้าถึงได้ง่ายในลักษณะผู้ซื้อพบผู้ขาย ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ได้อย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งแม้ว่าวันนี้การเริ่มต้นไทยแลนด์ 4.0 จะยังไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงเริ่มต้น แต่กระนั้นการเตรียมพร้อมเพื่อให้เดินด้วยตนเองได้อย่างมั่นคงก็เป็นเรื่องดี …
ส่วนขยาย * บทความนี้เรียบเรียงขึ้นเพื่อวิเคราะห์ในแง่มุมที่น่าสนใจ ไม่ได้มีวัตถุมุ่งเพื่อโจมตี หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ** Columnist : พลาย อะตอม Compose : ชลัมพ์ ศุภวาที (Editors and Reporters) Articles from : ELEADER Magazine ฉบับที่ 333 NOV 2016 *** ขอขอบคุณภาพประกอบจาก www.pexels.com
สามารถกดติดตาม ข่าวสาร และบทความทางด้านเทคโนโลยี ของเราได้ที่