การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่ต้องการความรวดเร็วและต้องการมีส่วนร่วม ทำให้การนำเสนอผ่านรูปแบบเดิม ๆ ไม่อาจเพียงพออีกต่อไป
UGC เทรนด์ช่องทางรอดธุรกิจคอนเทนต์
ภาสวร เทพเรืองชัย Managing Director Ookbee U Co.,Ltd. กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านของธุรกิจวันนี้ สิ่งต้องคำนึงคือการสร้างเรื่องราวและสร้างความมีส่วนร่วมของคนผ่านคอมมิวนิตี้ต่าง ๆ และเกิดการบอกต่อคอนเทนต์ อย่ายึดติดเพียงรูปแบบเดิม ผลกระทบนี้ไม่จำกัดเพียงแค่ว่าคอนเทนต์จะเป็นคอนเทนต์อะไรแบบไหน
แต่วิธีการนำเสนอต่างหากที่เราต้องให้ความสำคัญ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในยุคดิจิทัล โดยการเปลี่ยนเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ที่แสวงหาความสะดวกสบาย ที่จะเอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของตนเอง ที่ไม่ถูกจำกัดในเรื่องของสถานที่และเวลา ซึ่งเราเล็งเห็นว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา สิ่งที่ผู้บริโภคเชื่อถือนั้นไม่ได้มาจากสื่อหลักหรืองานวิชาการเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว
แต่ผู้บริโภคเชื่อถือข้อมูลที่มาจากสังคมออนไลน์ที่พวกเขาสนใจหรือชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน ๆ ต่างก็มีกลุ่ม มีผู้เชี่ยวชาญ มีผู้รู้จริงเป็นแกนนำ และเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมมากขึ้น หรือที่เรียกว่า UGC (User Generated Content) นั่นเอง
โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มต้นมาจากการที่ผู้บริโภคนั้นมีความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น ทำให้ไม่เชื่อในโฆษณาเพียงอย่างเดียว แต่เลือกเชื่อจากการบอกกล่าว หรือผลิตขึ้นจากคนในสังคมที่ตนเองอยู่ ซึ่งทำให้การทำ Content Marketing ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องของ การสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนต์ที่เกิดจากผู้ใช้หรือผู้ติดตามมาไว้บนพื้นที่ของแบรนด์หรือที่ใด ๆ ก็ตาม โดยเนื้อหาอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับแบรนด์หรือไม่ก็ได้
แต่โดยส่วนใหญ่ก็เพื่อประโยชน์ของแบรนด์ซึ่งเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยรูปแบบที่ใช้เป็นภาพถ่าย คลิปวิดีโอ รวมไปถึงการเขียนบล็อกที่พูดถึงแบรนด์ไปด้วย ซึ่งเรามักเรียกกันว่า User Generated Content โดยการเกิดกระแสนี้ทำให้เกิดเรื่องการสร้างสังคมของการมีส่วนร่วมของสมาชิกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดแค่คนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะเราเห็นคนรุ่นพ่อแม่ ปู่ย่าก็เริ่มใช้เทคโนโลยีมากขึ้น
พฤติกรรมยอมเสียเงิน แต่!! ไม่ยอมเสียเวลา
อีกเรื่องที่เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคม คือการที่คนไม่คอยที่จะนิยมในการเสียเวลาในการคลิกจากเพจเพื่อไปอีกที่หนึ่ง อย่างเช่นการโพตส์ข่าวจากเว็บลงเพจ เฟซบุ๊ก แต่คนอ่านแค่หัวเรื่องจริง ๆ แล้วก็ข้ามไป ซึ่งถ้าเรื่องนั้น ๆ ไม่มีผลต่อตัวคนอ่าน หรือไม่ใช่เรื่องที่คนสนใจจริง ๆ ก็ไม่อ่านเลย และก็จะไม่เกิดการแชร์ต่อ ซึ่งเป็นปัญหาที่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ กำลังจะเผชิญอยู่ ผู้บริโภคเปลี่ยนขนาดถึงเรียกว่า ขี้เกียจ เลยก็ว่าได้
ซึ่งทุกวันนี้เราก็คงได้เห็นพฤติกรรมแปลก ๆ อย่างเช่นการจ้างคนไปซื้อของ แม้จะต้องจ่ายแพงกว่าก็ยอม เช่น มีคนจ้างวินมอเตอร์ไซค์เพื่อไปนั่งรอคิวซื้อบัตรคอนเสิร์ต 4 วัน เพื่อให้ได้บัตรคนแรกหรือบัตรจำนวนจำกัด 20,000 ก็จ้าง ทั้ง ๆ ที่บัตรราคาเพียง 5,000 บาทเท่านั้น
ใช้เทคโนโลยีให้เหมาะ ธุรกิจก็อยู่รอด
การที่กล่าวไปนั่นคือสิ่งที่เราเริ่มทำ OokBee Comics ขึ้น เพราะเราต้องการเป็นศูนย์รวมของสังคมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร นิตยสารเสียง วิดีโอคอนเทนต์ ล่าสุดก็คือ การ์ตูน ที่เป็นอีกหนึ่งสังคมที่มีกลุ่มคนที่ติดตามจำนวนมากในไทย โดยตั้งแต่เริ่มต้น เราสามารถสร้างกลุ่มและสังคมที่มีคอนเทนต์ที่มีผู้เข้าร่วมและติดตามอยู่ที่ประมาณ 1.9 ล้านราย
โดยเฉลี่ยเดือนละ 1 แสนราย ซึ่งถือว่าเติบโตได้ดีในแง่ของจำนวนคนที่ให้ความสนใจ แต่หากเราเทียบกับต่างประเทศ เรายังถือว่าน้อย เพราะเหตุนี้เราจึงคิดว่าตลาดยังมีโอกาส เพราะตลาดยังเปิดกว้าง และจากที่พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปเชื่อในสังคมออนไลน์มากขึ้น หลายคนอาจมองว่าเทรนด์ของผู้บริโภควันนี้คือเรื่องของภาพเคลื่อนไหว แต่ในความจริง เทรนด์ไม่ได้เปลี่ยนไปแค่เรื่องการชมภาพเคลื่อนไหวเพียงเท่านั้น แต่มีอีกหลายส่วนที่สามารถใช้ได้
ดังนั้นเราต้องมองว่าคอนเทนต์ไม่ใช่สิ่งที่ลอยไปลอยมา แต่คอนเทนต์คือ “มูลค่า” เพียงแต่วิธีการต่างหากที่จะทำให้คอนเทนต์อยู่หรือตายไป วันนี้สิ่งที่คนทำคอนเทนต์ต้องโฟกัสการสร้าง “สตอรี่” หรือการสร้างเรื่องราว เพื่อให้เกิดความผูกพันในกลุ่มที่สนใจ และสร้างให้เกิดการบอกต่อ วิธีการที่อาจจะต้องทำคือการสร้างตัวตนให้เป็นสิ่งที่คนเชื่อถือ
รูปแบบการทำธุรกิจอาจเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำตลาดผ่านสังคมออนไลน์ ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมจัดการ และสร้างให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสมในการทำคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ เช่น การที่คนสร้างนิยายหรือการ์ตูนออกมาอาจจะทำการนำเสนอเรื่องย่อไปก่อนผ่านสังคมออนไลน์ แล้วดูการตอบรับ แล้วรับเป็นพรีออเดอร์ตามจำนวนที่มีความต้องการ
ซึ่งจะทำให้ไม่ต้องแบกรับเรื่องค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ ซึ่งในอดีตไม่สามารถทราบว่าจะขายได้หรือไม่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ามีการผลิตการ์ตูน Comics เพิ่มเป็นจำนวนมาก และส่วนมากจะเป็นของคนไทย บางส่วนก็มีการแปลเรื่องจากต่างประเทศ นั่นก็เพราะการเกิดขึ้นของ UGC (User Generated Content) ทำให้คนรุ่นใหม่หรือคนที่มีความสามารถมีช่องทางในการนำเสนอความสามารถ จนนำได้สู่เรื่องของรายได้จากคอนเทนต์
ซึ่งที่ผ่านมามีการนำผลงานที่นำไปสร้างภาพยนตร์แล้วหลายเรื่อง หรือมีการนำภาพยนตร์มาเขียนเป็นการ์ตูน เพื่อสร้างการเรียนรู้ก่อนเริ่มฉาย ซึ่งการทำเช่นนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ อะแวร์เนส (Awareness) หรือการสร้างการรับรู้ในแก่สังคม และเกิดกระแสการชี้นำให้เกิดความอยากดู และเกิดการแชร์ต่อ ๆ กันไปในสังคมโซเชียลต่าง ๆ ซึ่งเรายังสามารถต่อยอดไปในรูปแบบของกิจกรรมการประกวดหรือของที่ระลึกก็ได้
และหากพูดถึงการผลิตคอนเทนต์วันนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีทำให้คนที่ทำคอนเทนต์เป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเทคนิคการใช้โปรแกรมวาดภาพหรืการคิดแนวเรื่อง ซึ่งไม่ต้องใช้งบในการตีพิมพ์หรือวางจำหน่ายเลย แต่สามารถนำเสนอได้แบบถึงตัวของผู้ที่ติดตามได้เลย
รูปแบบการนำเสนอวันนี้คือการเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้นำเสนอที่ไม่ยึดติดการทำแบบเดิม เพราะการทำแบบเดิมไม่ใช่จะไม่ดี แต่มันไม่โดน ไม่โดนความเร่งรีบ ไม่โดนความต้องการของคน การนำการ์ตูนเข้าไปช่วยสื่อให้เกิดความสนใจ อาจฟังเป็นเรื่องดูบ้าสำหรับประเทศไทย
แต่หากเรามองจริง ๆ แล้วประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นก็ยังใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการนำเสนอ ทั้งวัฒนธรรม สังคม สถานที่ท่องเที่ยว จนกลายเป็นสิ่งที่คนทั่วโลกคิดถึงและติดตาม โดยเราเห็นสิ่งที่ญี่ปุ่นทำคือการขยายความเป็นญี่ปุ่นไปยังภูมิภาคเอเชียด้วยการใช้การ์ตูนเป็นสื่อในการนำเสนอสอดแทรกความเป็นญี่ปุ่นเข้าไป